บันทึกข้อตกลง - บันทึกความเข้าใจ MOA - MOU ใช้อย่างไร?  877

คำสำคัญ : กฎหมาย  บันทึกข้อตกลง  บันทึกความเข้าใจ  MOA  MOU  ความร่วมมือ  

ในการดำเนินงานของหน่วยงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์นั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือหรือมีการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ

และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานควรมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการลงนามเพื่อแสดงถึงความยินยอมและเห็นชอบในความร่วมมือนั้น ๆ

ซึ่งเอกสารที่ถูกนำมาใช้มีหลายระดับ เช่น MOA MOU MOI ซึ่งต้องมีการนำมาใช้อย่างเหมาะสมกับขอบเขตของความร่วมมือ เนื่องจากมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

ระดับความเข้มข้นของเจตนาในการทำความร่วมมือ หรือผลการผูกมัด หรือผลการบังคับทางกฎหมายในการบังคับใช้ เรียงลำดับความเข้มข้นจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้ดังนี้

มากที่สุด MOA > MOU > MOI/LOI น้อยที่สุด

หลายท่านมักคุ้นเคยกับคำว่า MOU แต่มักเรียกว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นเอกสารต่างประเภทกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. MOA : MEMORANDUM OF AGREEMENT

MOA : Memorandum of Agreement หมายถึง “บันทึกข้อตกลง” หรือ "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ" เป็นหนังสือสัญญาซึ่งมีข้อตกลงที่มีรายละเอียดลักษณะกิจกรรมที่ชัดเจน มีการระบุหลักเกณฑ์ข้อบังคับหรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ให้สัญญาไว้ กล่าวคือ MOA มีสภาพบังคับตามกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย (legally binding agreement) ดังนั้น หากฝ่ายใด ประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว MOA มักจะเป็นการลงนามในเรื่องสำคัญและมีการกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย
ขอยกตัวอย่าง การอุดหนุนงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาเครื่องจักรฯ ของ กปว. กองกฎหมาย สป.อว. ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นบันทึกข้อตกลง ที่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เนื่องจากมีเรื่องของการให้เงินอุดหนุนงบประมาณ (บันทึกข้อความที่ อว 0201.3/1296 ลงวันที่ 9 พ.ย.65)

2. MOU : MEMORANDUM OF UNDERSTANDING

MOU : Memorandum of Understanding หมายถึง “บันทึกความเข้าใจ” หรือ "บันทึกข้ความเข้าใจความร่วมมือ" เป็นรูปแบบการจัดทำหนังสือที่แสดงความประสงค์ของบุคคลหรือนิติบุคคลสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น ที่จะทำความร่วมมือกัน โดยเต็มใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุมีการวางแผน ทำกิจกรรมร่วมกันในภาพกว้าง โดยไม่ถือว่าเป็นสัญญาผูกมัดใดๆ (non-legally binding agreement) เนื่องจากไม่มีสภาพบังคับหากไม่ปฏิบัติตาม เป็นเพียงการแสดงเจตนาที่แน่วแน่ของผู้ลงนาม ว่าจะปฏิบัติตามเนื้อหาที่ระบุไว้ใน MOU ซึ่งปกติใช้สำหรับความตกลงที่มีขอบเขตจำกัด หรือ มิได้มีลักษณะเป็นการถาวร เป็นหลักฐานยืนยันถึงการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากร ระหว่างหน่วยงาน

ตัวอย่างเช่น บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง การส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ AIS, DTAC, TRUE MOVE H, CAT และ TOT เป็นต้น บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “ความร่วมมือการดำเนินงานด้านการบินร่วม ระหว่างกองทัพบกกับ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งกองทัพบกให้การสนับสนุนบุคลากรนักบินและสถานที่จอดอากาศยานแก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้สนับสนุน ทรัพยากรดำเนินการและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบินให้แก่กองทัพบก

3. LOI : LETTER OF INTENT หรือ MOI : MEMORANDUM OF INTENT

LOI : Letter of Intent หรือ MOI : Memorandum of Intent หมายถึง "บันทึกเจตจำนง" เป็นขั้นเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ที่ทั้งสองฝายสนใจจะทำความร่วมมือกัน ในเรื่องทั่วๆไป ไม่มีขอบังคับทางกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตาม LOI หรือ MOI มักใช้ในธุรกรรมทางธุรกิจ โดยการเสนอจดหมายแสดงเจตจำนง ระบุข้อกำหนดของข้อตกลงและทำหน้าที่เป็น "ข้อตกลงที่จะยอมรับ" ระหว่างสองฝ่าย ความสำคัญของ LOI หรือ MOI คือการจัดทำข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับหัวข้อก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรอง เพื่อสรุปความสามารถและไม่สามารถพูดถึงเรื่องภายนอกได้ ของการเจรจาต่อรองดังกล่าวและเป็นแผนงานที่อธิบายว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ใน กรณีอื่น ๆ ดังนี้
1) หนังสือแสดงเจตจำนงแสดงความปรารถนาและความต้องการของพ่อแม่ที่มีต่อบุตรหลานของตนในกรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตซึ่งไม่เหมือนพินัยกรรม ซึ่งไม่ใช่เอกสารทางกฎหมาย ศาลจะยังคงใช้เกณฑ์นี้พิจารณาร่วมกับเอกสารอื่น ๆ ด้วย
2) จดหมายเจตนาของผู้ที่มองหาทุนของรัฐบาล สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานได้รับค่าประมาณเท่าใดของงานหรือโครงการโดยเฉพาะ
3) บันทึกเจตจำนงทางวิชาการ

จะเห็นได้ว่า เอกสารทั้ง 3 ประเภท มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ ทั้งนี้ในเรื่องของรููปแบบและองค์ประกอบของเอกสารแต่ละประเภท จำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่รวบรวมมานี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน และขออภัยเป็นอย่างยิ่งหากมีข้อความใดผิดพลาด เนื่องจากบางส่วนผู้เขียนสรุปจากความเข้าใจของตนเอง

ที่มา :
- คูู่มือมาตรฐานการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กับ หน่วยงานภายในประเทศและหน่วยงานต่างประเทศ (เข้าถึงได้จาก https://zoothailand.org/download/article/article_20210612122755.pdf)
- ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำ MOU และ MOA (http://law.disaster.go.th/site5/download-src.php?did=42003)
- MOU และ MOA 2 คำที่ใช้สับสน (https://science.mahidol.ac.th/IC/info/MOU-MOA.pdf) 


เขียนโดย : น.ส.กมลวรรณ  สุนทรเกตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : kamonwan.s@mhesi.go.th