กิจกรรม RSP New Release ภายใต้โครงการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ภูมิภาค)  190

คำสำคัญ : scipark  อุทยานวิทยาศาสตร์  แผนงานบ่มเพาะ  RSP_New_Release  การพัฒนาผู้ประกอบการ  ผู้ประกอบการใหม่  SMEs  S  

สาระสำคัญ

กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากแหล่งความรู้ที่มีอยู่ในสถานการศึกษาขั้นสูงในท้องถิ่นหรือในพื้นที่ใกล้เคียงไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการทำแผนการตลาดเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน (Wongwanich, 2021) ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มวางแนวคิดในการทำธุรกิจหรืออยู่ในช่วงเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแนวคิดทางธุรกิจที่มีอยู่นั้น นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต และการทำแผนการตลาดแล้ว การตระหนักถึงความสำคัญและการเล็งเห็นความสำเร็จจากการนำการวิจัยและพัฒนามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจรายอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือสนับสนุนซึ่งกันและกันนั้น นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมั่นคง

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ครอบคลุมในทุกด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้จัดให้มีการจัดกิจกรรม RSP New Release ขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) แผนงานบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) (Science Technology and Innovation Business Incubation) เพื่อส่งเสริมศักยภาพความพร้อมในด้านแผนธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจ และเพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจ และขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่จากอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

แนวความคิด

การสร้างเครือข่าย ตามคำนิยามของ กุลทัต หงส์ชยางกูร และปรัชญานันท์ เที่ยงจรรยา (ม.ป.ป.)หมายถึง “กิจกรรมในการก่อให้เกิดกลุ่มองค์กรหรือกลุ่มบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยน การจัดกิจกรรม หรือการผลิตระหว่างองค์กรสมาชิก ซึ่งต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันมาก่อนที่จะทำความตกลงเป็นองค์กรเครือข่าย” ดังนั้น การกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มผู้ประกอบการนั้น อุทยานฯ จึงควรจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มารวมตัวกัน พร้อมสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการทำธุรกิจ

กิจกรรม RSP New Release ได้ถูกจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ โดยเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ให้ได้พบเครือข่ายหรือหน่วยงานที่จะสามารถช่วยต่อยอดในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยีได้ โดยผู้ประกอบการตัวแทนจากทุกมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานฯ จะได้โอกาสนำเสนอแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อเฟ้นหา RSP Firsts ที่มีโอกาสสูงในการเติบโตทางธุรกิจต่อไป และยังเป็นโอกาสในการทำความรู้จักกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยกลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรม ได้แก่ ผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ในเครือข่ายอุทยานฯ ๑๖ มหาวิทยาลัย[1]และเป็นผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ ในธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญ ๑๐ กลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ[2]วัตถุประสงค์ของโครงการมีดังนี้

  1. เพื่อส่งเสริมศักยภาพความพร้อมในด้านแผนธุรกิจและการบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่
  2. เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจ และขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่
  3. เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจอย่างสร้างสรร
  4. เพื่อสร้างความตระหนักในการพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานของการใช้ วทน. มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ
  5. เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม

เป้าหมายของโครงการ

กิจกรรม RSP New Release นอกจากจะเป็นช่องทางส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจและขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมศักยภาพความพร้อมในด้านแผนธุรกิจและการบริหารจัดการธุรกิจ โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจอย่างสร้างสรร และสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ ภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. โดยจะมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันในระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ และสามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖

แผนการดำเนินกิจกรรม

  1. ประชุมชี้แจงและกำหนดขอบเขตกิจกรรมร่วมกับ 16 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ม.ค.)
  2. คัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน (ม.ค. - ก.พ.)
  3. ส่งรายชื่อผู้เข้าแข่งขันตามกำหนดเวลา
  4. เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ (พ.ค. - มิ.ย.)
  5. จัดการแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ก.ค.) โดยในงานนอกจากจะจัดการแข่งขันแล้ว ยังจัดให้มีการออกบูธนำเสนอผลงาน/ผลิตภัณฑ์ของผู้เข้าแข่งขัน และ/หรือผู้สำเร็จจากการบ่มเพาะฯ และการนำเสนอความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละอุทยานฯ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากรุ่นพี่ในแผนงานบ่มเพาะฯ และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย
  6. สรุปผลการดำเนินกิจกรรม (ส.ค.)

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมการแข่งขัน

  1. เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ (16 แห่ง ณ เดือน ก.พ. 2567)
  2. มีแนวคิดในการทำธุรกิจที่ชัดเจน มีความเป็นไปได้
  3. เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยที่จดทะเบียนไม่เกิน 3 ปี ที่ขาดความเข้มแข็งด้านการประกอบธุรกิจเทคโนโลยี
  4. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ณ วันยื่นใบสมัคร

ผลสำเร็จของงาน (เชิงปริมาณ/คุณภาพ)

  1. ได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๑๖ ราย
  2. ได้ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกในการแข่งขันระดับประเทศ จำนวน ๑ ราย
  3. ได้เครือข่ายธุรกิจในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่

การนำไปใช้ประโยชน์/ผลกระทบ

  1. ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมได้รับโอกาสในการพบปะผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพจากทั่วประเทศ เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายที่อาจพัฒนาไปเป็นการแบ่งปันความรู้หรือการร่วมลงทุนทางธุรกิจได้
  2. ผู้ประกอบการได้ทำความรู้จักกับโครงการบ่มเพาะฯ ของอุทยานฯ อื่น ๆ ที่จะมาร่วมงาน ซึ่งอาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการ หรือมีงานวิจัยที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้
  3. การจัดกิจกรรม RSP New Release สามารถเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะฯ ได้
  4. เกิดแรงบันดาลใจ การต่อยอดแนวความคิด และการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม ที่นำไปสู่การนำเสนอสินค้า/บริการออกสู่ตลาด และสามารถทำกำไรได้สำเร็จ


[1]
มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 แห่ง ณ ปี 2566 มีดังนี้vi

มหาวิทยาลัยภายใต้อุทยานฯ ภาคเหนือ ๗ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

มหาวิทยาลัยภายใต้อุทยานฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยภายใต้อุทยานฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๒ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยภายใต้อุทยานฯ ภาคใต้ ๓ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

โครงการนำร่องมหาวิทยาลัยบูรพา และโครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

[2]กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาประเทศviiแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้

๑) กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)และ ๒) กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)


เขียนโดย : ดร. มุทธมาศ  วงศ์วานิช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : muttamas.w@mhesi.go.th