TRL คืออะไร แยกแยะอย่างไร  29

คำสำคัญ : trl  เทคโนโลยี  scipark  

ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ นักยุทธศาสตร์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งของประเทศ (บพข.) ฉายภาพให้เห็นว่า TRL คือระดับความพร้อมของเทคโนโลยี ประยุกต์มาจากเครื่องมือในการบริหารการวิจัยของโครงการพัฒนาอวกาศของนาซ่า (NASA) สหรัฐอเมริกา ซึ่งนาซ่าใช้เครื่องมือนี้ประเมินความพร้อมของเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศ แบ่งเป็น 9 ระดับ คือ TRL 1- TRL9 สาเหตุที่นาซ่าคิดค้นเครื่องมือนี้ขึ้นมา เนื่องจากการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีอวกาศมีมากมาย และหลายเทคโนโลยีล้ำสมัยมาก ตั้งแต่วัสดุสำหรับทำยานอวกาศ เชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในอวกาศ สถานีเติมเชื้อเพลิง รวมถึงอาหารการกินหรืออะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักบินที่ต้องนำไปดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศ ฯลฯ
.
ประเด็นคือผู้ควบคุมโครงการพัฒนาอวกาศของนาซ่าในยุคนั้น ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมา มีความพร้อมจริงหรือเปล่า หรือ มีความพร้อมระดับไหน เพราะนาซ่ายังไม่เคยทำยานอวกาศมาก่อน จะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการที่นักพัฒนาสร้างสรรค์มานั้น เหมาะสำหรับโครงการในอวกาศจริงๆ เช่น อาหารนักบิน กินแล้วจะอิ่มไหม มีคุณค่าต่อร่างกายครบไหม อยู่ได้นานในสภาพที่แตกต่างจากโลกนานเท่าไหร่ เขาจึงคิดเครื่องมือที่เรียกว่า TRL เพื่อใช้ประเมินว่าเทคโนโลยีชนิดนั้น มีความพร้อมระดับไหน เหมาะสำหรับการนำไปทำยานอวกาศหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการในอวกาศหรือยัง
.
“เราต้องเข้าใจว่าสภาวการณ์ในห้องปฏิบัติการกับโลกภายนอกมีความแตกต่างกัน ในห้องแลปนักวิจัยสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความดัน แสงสว่าง แต่ในสภาพจริง เมื่อนำผลงานหรือเทคโนโลยีนั้นไปใช้ เราอาจจะควบคุมอะไรไม่ได้มากนัก TRL จึงเป็นตัวกำหนดว่าเทคโนโลยีนั้นอยู่ในระดับไหนแล้ว พร้อมหรือยังที่จะนำไปใช้งานจริงนอกห้องแลป” ผศ.ดร.อัครวิทย์ กล่าว
.
ผศ.ดร.อัครวิทย์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของ TRL ชัดขึ้นว่า สมมุตินักวิจัยจะพัฒนาสารชนิดหนึ่งที่ใช้ไล่แมลงศัตรูพืช แทนยาฆ่าแมลงที่มีอันตรายต่อมนุษย์ โดยระบุว่าเป็นสารสกัดจากต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคนและสัตว์ แต่สามารถไล่แมลงได้ดี โดยได้ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยการเลี้ยงแมลงศัตรูพืชในตู้สี่เหลี่ยมใส นำสารสกัดตัวนี้ไปวางไว้ในตู้ ดูปฏิกิริยาของแมลงจะบินเข้าหาสารสกัดหรือเปล่า ปรากฏว่าแมลงบินหนี แสดงว่าไล่แมลงได้ดี แต่การทดลองนี้อยู่ในสภาวะที่นักวิจัยสามารถควบคุมตู้ได้ คือ ไม่มีลม ไม่มีฝน ไม่มีแดด เมื่อนำสารตัวนี้ไปพ่นกับพืชก็ได้ผลจริง แต่ในสภาพความเป็นจริง ถ้าพ่นตอนเช้า ตอนบ่ายฝนตก สารตัวนี้ยังอยู่ไหม ไม่รู้ เมื่อเจอแดดเข้าไปจะสลายตัวหรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการแบ่งระดับเทคโนโลยีเป็น TRL 1-9
.
“ระดับ 1-3 เป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมขั้นต้น เช่น ระดับ 1 อาจจะบอกแค่ว่านักวิจัยมีไอเดียจะลดการใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตราย ด้วยการใช้สารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพราะเห็นว่าพืชชนิดนี้ไม่มีแมลงกัดกินเลย น่าจะนำใบมาสกัดทำเป็นสารกำจัดศัตรูพืชได้ ระดับ 2 อาจจะลองนำใบพืชนั้นมาสกัด ทดสอบการไล่แมลงในห้องแลป ปรากฏว่าไล่ได้ ระดับ 3 ลองทำออกมาเป็นสารผสม ฉีดพ่นดู แต่ว่ายังอยู่ในห้องแลป เมื่อทดลองในห้องแลปจนได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ก็จะเข้าสู่ TRL ระดับ 4 คือผลิตเป็น Prototype หรือต้นแบบของผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชนิดนี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีศักยภาพในการนำไปไล่แมลงในแปลงปลูกจริงได้
.
โดยอาจเริ่มจากการทดลองในแปลงเล็กๆ ปลูกพริก มะเขือ ผักบุ้ง ผักคะน้า แล้วลองนำสารสกัดตัวนี้ไปพ่นดูว่าผลเป็นอย่างไร ซึ่งอาจใช้กับผักบุ้งได้ผลดี แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อใช้กับพริกหรือมะเขือ เนื่องจากพืชแต่ละชนิดอาจจะมีศัตรูพืชคนละตัว ก็ต้องกลับไปปรับสูตรให้ครอบคลุมมากขึ้น คือกลับไปในระดับ 1-3 อีกครั้ง ซึ่งถ้าผ่านการทดสอบในแปลงปลูกได้ TRL ก็จะขยับจากระดับ 4 ไประดับ 5 เกิดความมั่นใจว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองผลิตมากขึ้น ขยายการทดสอบในแปลงที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มชนิดของพืชมากขึ้น จนขยับขึ้นไปใน ระดับ 6-7 หมายถึงว่าผ่านการทดทอบในสภาวการณ์ใช้งานจริงจนได้ผลตามต้องการ
.
จึงก้าวสู่ TRL ระดับ 8 กับ 9 คือนำไปทดสอบในตลาด มีผลิตภัณฑ์ตัวอย่างออกมาให้เกษตรกรทดลองใช้ เปรียบเทียบกับยาฆ่าแมลงที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งเกษตรกรผู้ใช้อาจมีข้อคิดเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดีจริง แต่ต้องฉีดวันเว้นวัน ในขณะที่ย่าฆ่าแมลง ฉีดครั้งเดียวอีก 30-40 วันถึงฉีดอีกที เท่ากับว่าเทคโนโลยีพร้อม แต่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจใช้วิธีขายในราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด หรืออาจจะต้องนำกลับไปปรับปรุงจุดอ่อนใน TRL ระดับกลางอีกครั้ง ทำให้เป็นสูตรที่สามารถอยู่ได้คงทนนานขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค แต่ถ้า TRL ระดับ 8-9 พัฒนาแล้วเหมาะก็อาจจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เลย”
.


“ในเว็บไซต์ของ บพข. (www.pmuc.or.th) มีรายละเอียดของ TRL สามารถดาวน์โหลดเอกสารไปอ่านได้ ซึ่งเราแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุน อธิบายชัดเจนในแต่ละสาขา ตั้งแต่ TRL 1 หมายถึงอะไร ตัวอย่างคืออะไร TRL 2 คืออะไร ไปจนถึง TRL 9 มีตัวอย่างให้สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเอง”
......................................................................................
ติดตามต่อ https://www.salika.co/2024/04/11/pmuc-technology-readiness-level/
.
Knowledge Sharing Space | www.salika.co
.
#PMUC #TechnologyReadinessLevel #TRL #ทุนวิจัยและพัฒนา #บพข #อุตสาหกรรมไทย #salikaco 


เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th