Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การเตรียมการเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย 298
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
การเตรียมการเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
บริษัท NTP Semiconductor, NTP เป็นกิจการที่ ดร.ภาคภูมิ ศรีธิมากุล ประธานกรรมการบริษัท แพคกอน จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)จัดตั้งขึ้นโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center: TMEC) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกอบกิจการด้านการเป็นศูนย์กลางการผลิตชิป (Chip) ของเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากรัฐบาลไทยต้องการยกระดับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(Gross Domestic Product: GDP)แต่เป็นเรื่องที่ยากหากต้องพัฒนาบนฐานอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศนั้นเน้นที่การผลิต และมิได้มีการดำเนินงานของการวิจัยและการพัฒนามากพอสมควร ซึ่งการที่จะทำให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นนั้น ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมุ่งเน้นในส่วนของการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น จึงต้องมีการผลิตบุคลากรที่จะช่วยในการลดช่องว่างระหว่างการพัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนางานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้
ตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับตัวเปลี่ยนเกมทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีพื้นฐานสำคัญคือ เซมิคอนดักเตอร์ อันประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- Central Processing Unit (CPU)& Memory หรือที่เรียกรวมกันว่า Application Specific Integrated Circuit (ASIC)
- Sensor แบบ motion และ non-motion
- Power Device
ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการทั้งไต้หวันและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าปัจจุบันประเทศเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของภูมิภาค ดังนั้น หากประเทศไทยพึ่งพาการผลิตของประเทศเวียดนามแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้อุตสาหกรรมทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศจะสร้างฐานการผลิตของตนเอง เพื่อเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและรักษาความมั่นคงของประเทศ
บริษัท NTP Semiconductor จึงศึกษารูปแบบการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายหลักของโลก ซึ่งในตอนนี้มีความต้องการที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากไต้หวันเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติมในประเทศมีอย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้ บริษัท NTP Semiconductor จึงวางเป้าหมายในการดึงดูดผู้ประกอบการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศไต้หวันมาลงทุนในประเทศไทยให้ได้ถึง 5,000 ราย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ช่วงที่ 1 คือ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศไต้หวันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยบริษัท NTP Semiconductor ได้รับเชิญให้หารือร่วมกับ Taipei Computer Association ซึ่งได้รับการตอบรับในทางที่ดี และช่วงที่ 2 คือ การสร้างพันธมิตร Semiconductor Ecosystem ซึ่งเป็นสร้างความร่วมมือกับบริษัทไต้หวันที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เช่น การศึกษาด้านเซมิคอนดักเตอร์ การวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) การออกแบบชิป (Fabless) ฯลฯ ซึ่งในตอนนี้ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกันแล้ว และวางแผนที่จะจัดทำการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกันในอนาคตโดย NTP ได้รับข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการว่ามีปัจจัย 3 ประการที่ประเทศไทย จะต้องดำเนินการเพื่อเตรียมรองรับฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่
1. การพัฒนาบุคลากร (capacity building)
2.การวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D)
3. การผลิต(production)
การดึงดูดผู้ประกอบการจากประเทศไต้หวันให้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศด้วยการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และยังทำให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นการดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการจากทั่วโลก พร้อมทั้งทำให้คนรุ่นใหม่ทั่วประเทศมีโอกาสที่จะเข้าถึงระบบนิเวศดังกล่าว
ระบบนิเวศที่บริษัท NTP Semiconductor ได้เตรียมรองรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นมี 3 ประเภท คือ
1. การศึกษาด้วยกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจและเตรียมหลักสูตรการเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่
2. การทำให้บุคลากรการวิจัยเข้าถึงกระบวนวิจัยและพัฒนา รวมถึงสามารถสร้างชิปต้นแบบและผลิตแบบ small volume ได้
3. การผลิต ที่เป็นการใช้ต้นทุนต่ำ ผลิตได้เร็ว และคุณภาพสูง
โดยบริษัท NTP Semiconductor ต้องการที่จะพัฒนาบุคลากรและการวิจัยฯ ให้อยู่ภายใต้องค์ความรู้ของการทำอุตสาหกรรมตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการออกแบบไปจนถึงการสร้าง box build หรืออุปกรณ์ และซอฟแวร์ของอุปกรณ์โดยอุปกรณ์หรือเครื่องจักรใดๆ ที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงใช้ในการพัฒนาบุคลากร นั้น บริษัท NTP Semiconductor จะยกให้หน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาทำงานวิจัย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เข้าถึงและใช้บริการได้
ในส่วนของแผนการพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์นั้น บริษัท NTP Semiconductor ได้จัดตั้งคณะทำงานจากประเทศไทยเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากพันธมิตรทั่วโลก ผ่านหลักสูตรทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่
- Semiconductor Development
- Box Build Development
- Software Development
- Intelligent Electronics Business
และคณะทำงานที่เข้าไปเรียนรู้ในส่วนนี้จะช่วยส่งต่อความรู้ให้แก่อาจารย์ในสถาบันการศึกษา เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดและบันดาลใจแก่นักเรียนและนักศึกษาและนำไปสู่การสร้างบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่มีคุณภาพต่อไป
โดยสรุป การเตรียมความพร้อมในการรองรับฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัท NTP Semiconductor มีการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การดำเนินงานด้านอุปทาน (supply side)และการดำเนินงานด้านอุปสงค์ (demand side)ในส่วนการดำเนินงานด้านอุปทานนั้นจะเป็นการเชื่อมกับพันธมิตรทั่วโลก โดยเฉพาะกับไต้หวันผู้เป็นฐานการผลิตหลัก และส่วนการดำเนินงานด้านอุปสงค์จะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธมิตร โรงงานในประเทศ หน่วยงานภาครัฐ startup SME และกลุ่มผู้ค้าส่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินงานด้านอุปทานคือ พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน จัดหาเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และสิ่งทีต้องดำเนินงานด้านอุปสงค์คือ จัดตั้งทีมการตลาดและกลุ่มเป้าหมาย สร้างเครื่องมีการตลาดสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และเชื่อมเครือข่ายสนับสนุนการขาย โดยบริษัทฯ ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้วยการร่วมจัดทำหลักสูตร และส่งต่อให้คณะทำงานพัฒนาบุคลากรเพื่อเผยแพร่แก่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับนักวิจัยในการหารือกับกลุ่มลูกค้าของบริษัทเพื่อสร้างต้นแบบชิปก่อนเริ่มดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์