มผช. มาตรฐานที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนต้องรู้  38

คำสำคัญ : มผช  OTOP  โอทอป  มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  
มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า มผช. เป็นข้อกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชนที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะ อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดำเนินการโดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ปัจจุบันมีจำนวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ประกาศใช้ จำนวน 1,432 ฉบับ (https://tcps.tisi.go.th/public/StandardList.aspxซึ่งมาตรฐานดังกล่าวไม่ใช่มาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์โอทอป เพียงแต่สินค้าของผู้ประกอบการชุมชนรายใดที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของเราได้ว่าสินค้าเราได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย และยังมีประโยชน์ต่อการนำสินค้าเารับการคัดสรรระดับดาวของสินค้าโอทอป (OTOP Prodect Champion) อีกด้วย
 
คุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นคำขอรับรองมาตรฐาน คือ เป็นผู้ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่เป็นผู้แอบอ้าง หรือทำการผลิตแอบแผง และมีคุณสมบัติในข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. บุคคลทั่วไป
2. กลุ่มผู้ผลิตชุมชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานราชการหรือกลุ่มตามกฏหมายวิสาหกิจชุมชน
3. นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
 
 
กระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน https://www.tisi.go.th/data/divisions/cps/pdf/1TCPS_110-3006_2021.pdf
1. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ควรตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้น มีมาตรฐาน มผช. ที่รับรองอยู่หรือไม่ และมาตรฐานนั้นมีรายละเอียดของเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร
2. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ยื่นคำขอต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) พร้อมหลักฐานและเอกสารต่างๆ ตามแบบที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 30 มิถุนายน ของทุกปี
3. เมื่อได้รับคำขอ หน่วยรับรองจะดำเนินการนัดหมายเพื่อตรวจประเมินศักยภาพของสถานที่ทำ ความพร้อมของผลิตภัณฑ์เบื้องต้นเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มีศักยภาพในการดำเนินการและมีความพร้อมในการทำผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีการควบคุมคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอที่เหมาะสม และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด
4. เมื่อผลการตรวจประเมินสถานที่ทำพบว่ามีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นไปตามที่กำหนด และผลการตรวจสอบหรือทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐาน มผช.ที่ขอรับการรับรอง หน่วยรับรองจะนำเสนอคณะพิจารณาตัดสินให้การรับรอง มผช.
5. เมื่อคณะพิจารณาตัดสินให้การรับรอง มีมติให้การรับรอง หน่วยรับรองจะจัดทำใบรับรองให้แสดงเครื่องหมาย มผช. ตามแบบที่กำหนด โดยใบรับรองมีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่มีมติให้การรับรอง พร้อมจัดทำรายชื่อผู้ได้รับการรับรองเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป
เมื่อได้รับการรับรองแล้ว ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนก็สามารถใช้สัญลักษณ์มาตรฐาน "มผช." บนฉลากของสินค้าได้ โดยให้ระบุหมายเลขของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนไว้ใกล้เคียงกับเครื่องหมายด้วย ทั้งนี้ หน่วยรับรองจะตรวจติดตามผลเพื่อติดตามคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนภายหลังการรับรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ได้รับการรับรองยังคงรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าผู้ได้รับการรับรองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จะถูกพักใช้ใบรับรองไม่น้อยกว่า 60 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน และต้องปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร้อมให้เรียบร้อยและแจ้งให้หน่วยรับรองทราบเพื่อดำเนินการตรวจติดตามผลการแก้ไขนั้นต่อไป
 
ฉะนั้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ควรหมั่นตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าของตนเองให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสอบอายุของใบรับรองด้วย โดยการต่ออายุใบรับรอง สามารถยื่นขอต่ออายุได้ล่วงหน้า 120 วันก่อนที่ใบรับรองจะสิ้นอายุ โดยหน่วยรับรองจะดำเนินการตามกระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามที่ได้กล่าวมา

เขียนโดย : สุชานุช  ชนะชาญมงคล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : suchanuch.c@most.go.th

มผช. เป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายประเภท ซึ่งพบเจอได้บ่อยในผลิตภัณฑ์โอทอปเช่นกัน ข้อมูลนี้จึงน่าศึกษาและเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างมากค่ะ 

เขียนโดย น.ส.ชัชฎาพร  มีศรี