Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
การสร้าง Growth Mindset ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของชาว กปว. 97
การสร้าง Growth Mindset ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของชาว กปว. (ข้อคิดเห็นในการพัฒนางานของบุคลากร กปว.)
การเป็นคนเก่งในที่ทำงาน อาจไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลเดียวหรือเป็นเหตุผลที่องค์กรนั้นๆ จะมองหาคนมาร่วมงานด้วย แต่จำเป็นต้องมี Growth Mindset ติดตัวมาด้วย สามารถอ่านรายละเอียดตอนที่ 1 ได้จากบทความเรื่อง องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ให้ทันต่อยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ความจำเป็นในการที่องค์กรต้องมี Growth Mindset เพราะโลกตอนนี้ถือเป็นโลกที่ไม่หยุดนิ่ง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ต้องอาศัยทักษะในการปรับตัวและความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พอสมควรเพราะถ้าเก่งอย่างเดียว แต่ไม่พร้อมที่จะปรับตัวหรือรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็อาจมีส่วนนำพาให้องค์กรไปไม่ถึงจุดหมายได้ ดังนั้นเรื่องราวของ Growth Mindset จึงถือเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะมีส่วนช่วยให้องค์กรก้าวหน้าได้ต่อไปในระยะยาว
Growth Mindset คือ หลักแนวคิดที่เชื่อกันว่า คุณสมบัติต่างๆ ขั้นพื้นฐาน ความรู้ ความสามารถ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ จากการพยายามฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งการปลูกฝังความเชื่อในตัวเองที่ว่า คุณสามารถเรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผสานการฝึกฝนทักษะที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยชินให้กลายเป็นความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวคุณหรือพฤติกรรมของตัวเองได้ หากมีการพยายามอย่างต่อเนื่อง
5 วิธีสร้าง Growth Mindset
1. ความคิดที่ต้องเริ่มต้นจากผู้นำ
จุดเริ่มต้นหลักในการปลูกฝังความคิดแบบ Growth Mindset ก็คือควรเริ่มต้นจากหัวหน้าทีมก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหัวหน้าทีมควรรับบทบาทผู้นำที่มีความคิดที่เปิดกว้าง สามารถชี้นำและสนับสนุนให้คนในทีมหรือคนในองค์กรเสริมสร้าง Growth Mindset ไปพร้อมกัน ยุคนี้ที่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ขึ้นตลอดเวลา หากหัวหน้าทีมไม่ปรับตัวยอมรับตรงนี้ หรือไม่กล้าออกนอกกรอบ ก็อาจทำให้ทีมล้าหลังหรือมีปัญหาได้ ดังนั้นหัวหน้าทีมจึงควรนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์หรือเป็นตัวช่วยในการทำงาน
2. เริ่มต้น Step by Step
การทำงานแบบ Routine หรือเป็นการทำงานที่ตายตัว ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น ซึ่งคนในทีมก็มักจะเคยชินกับกิจวัตรการทำงานแบบเดิมๆ ที่เคยทำในทุกวัน ดังนั้นการเริ่มสร้าง Growth Mindset จึงต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ลองจัดประชุมทีมสัก 1 ครั้ง แล้วให้ทุกคนในทีมลองแชร์สไตล์หรือวิธีการทำงานของแต่ละคนให้เพื่อนฟัง พร้อมทั้งแชร์ถึงปัญหาที่แต่ละคนต้องเจอ ซึ่งแม้งานที่ทำจะเป็นแบบเดิมๆ ทุกวัน แต่อย่างไรเสียก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งคนที่เผชิญกับปัญหานั้นจะเป็นคนเดียวที่รู้และสามารถแก้ไขมันได้ ดังนั้นการร่วมกันแชร์ประสบการณ์การทำงานและสไตล์การทำงานของแต่ละคน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลูกฝัง Growth Mindset ให้แก่ทีม และนั่นก็จะมีเวลาให้พวกเขาได้ปรับตัวและปรับความคิดของพวกเขาได้แบบ Step by Step
3. ผลงานสำคัญกว่าเวลาการทำงาน
ในสมัยนี้หลายองค์กรมีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาการเข้า-งาน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดให้แก่พนักงาน แล้วหันมามุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ของชิ้นงานแทน เพราะคนที่มีชั่วโมงทำงานที่มากกว่า ไม่ได้แปลว่าเป็นคนที่มีความขยันกว่าคนอื่นเสมอไป ดังนั้นจึงควรที่เปลี่ยนการวัดประสิทธิภาพมาเป็นการประเมินที่ตัวผลงานน่าจะดีกว่า โดยสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณงาน เป้าหมายของทีม และวันกำหนดส่งงาน อย่างชัดเจน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกในทีมที่จะเอาปัจจัยเหล่านี้ไปบริหารเวลาของตัวเอง โดยที่หัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องในระดับหนึ่ง ไม่ต้องเข้าไปก้าวก่าย และให้อิสระพวกเขาในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและมีอิสระในการทำงานมากขึ้น สามารถช่วยลดความกดดันได้ดี และหากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น พวกเขาก็จะสามารถตั้งสติได้ง่ายขึ้นในการรับมือกับมัน และเมื่อพวกเขาผ่อนคลายในการทำงาน จนสามารถส่งงานได้ก่อนเวลาที่กำหนด พวกเขาก็สามารถนำเวลาที่เหลือไปเพิ่มพูนทักษะหรือพัฒนา skill ใหม่ๆ ให้แก่ตัวเองได้เช่นกัน ช่วยทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของตัวเองเพิ่มมากขึ้น
4. สร้างการทำงานที่โปร่งใสและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
สำหรับวิธีนี้ก็คืออาจเป็นการลองปรับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ที่หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจและรับรู้ข้อมูลทั้งหมดของทีมเพียงคนเดียว ให้กลายเป็นทุกคนสามารถเห็นงานของคนอื่นในทีมได้ด้วย รวมไปถึงการย้ายข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานมาไว้ที่ไฟล์ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอนยิบย่อยที่ไม่จำเป็นลงได้ เช่น การขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล การขอรายละเอียดงานต่างๆ จากเพื่อนร่วมทีม ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการเสียเวลาไม่น้อย ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ก็ช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น เพราะเราสามารถรู้ได้ทันทีว่าคนไหนรับผิดชอบงานส่วนใด และเราต้องไปประสานงานกับใครโดยตรง ส่งผลไปยังเรื่องการสื่อสารในทีมที่จะช่วยให้ดีขึ้น และทำให้ทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น
5. สร้างนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่
เมื่อปรับขั้นตอนและลักษณะการทำงานที่เคยทำกันอยู่แล้ว ก็ถึงเวลาในการพัฒนาตัวเองแล้ว ลองฝึกให้คนในทีมได้พัฒนาตนเองหรือริเริ่มไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น การลองให้พวกเขารับผิดชอบงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยทำให้พวกเขากล้าที่จะก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ของตัวเอง นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมให้ลูกทีมได้ไปเสริมทักษะเพิ่มเติมจากการเทคคอร์สพิเศษต่างๆ จากนั้นก็ลองให้เขาทำผลงานส่งสักหนึ่งชิ้น หลังจากที่เรียนคอร์สพิเศษเสร็จแล้ว ปิดท้ายด้วยการยอมรับไอเดียใหม่ๆ จากพวกเขา รวมไปถึงการชื่นชมยินดี หากผลงานของพวกเขาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ จากการพัฒนาทีมด้วยตัวคุณเอง
การสร้าง Growth Mindset นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอแค่มีความกล้าในเปิดใจและกล้าก้าวออกจากกรอบเดิมๆ พร้อมเผชิญกับปัญหา ยอมรับความผิดหวัง และพร้อมลุกขึ้นใหม่ทุกครั้ง รวมไปถึงการสนับสนุนทุกความคิดของคนในทีม เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาตัวเองและทีมเวิร์ค แม้บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับบ้าง แต่เชื่อว่าหากชาว กปว. มีความคิดแบบ Growth Mindset แล้ว ทั้งทีมเวิร์คและองค์กรจะต้องได้รับพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมาได้แน่นอน
ชอบแนวคิดนี้มากเลยค่ะพี่ฟ้า เพราะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดเชิงบวกว่าเราสามารถเรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ร่วมกับการฝึกฝนทักษะที่เราไม่เคยทำหรือไม่เคยชินให้กลายเป็นความเชี่ยวชาญ และพยายาม อย่งต่อเนื่อง เชื่อว่าจะทำให้เราพร้อมรับการความเปลี่ยนแปลง และใช้ความยืดหยุ่นในเชิงบวก ให้เป็นประโยชน์ ถ้าหากคนทำงานกล้าเปิดใจและให้การสนับสนุนแนวคิดเชิงบวกต่างๆ คงทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดีเลยนะคะ ขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่สร้างทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน มาให้ได้อ่านกันนะคะพี่ฟ้า