ทักษะสำคัญที่ต้องใช้พัฒนาตัวเองในยุค AI (ข้อคิดเห็นในการพัฒนางานของบุคลากร กปว. )  73

คำสำคัญ : การพัฒนาตนเอง  AI  

ทักษะสำคัญที่ต้องใช้พัฒนาตัวเองในยุค AI

เรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก AI

อันดับแรกเลยเราต้องเรียนรู้ในตัวเจ้า AI ให้ดีเสียก่อน ว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจุดประสงค์หลักของการสร้าง AI ก็คือให้มันสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ ดังเช่นงานที่มนุษย์เคยทำซ้ำๆ เป็นประจำ ทำกันแบบเป็นแพทเทิร์น ก็จะมีเจ้า AI นี่แหละที่เข้ามาทำงานแทน รวมไปถึงงานที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบมหาศาล ที่ไม่ควรให้เกิดข้อผิดพลาด ก็ต้องใช้ AI ด้วยเช่นกัน โดยมนุษย์ต้องเรียนรู้ว่าความสามารถของ AI คืออะไร สามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ทำหน้าที่สั่งงานเจ้าตัว AI อีกทอดหนึ่ง

ฝึกการเจรจาต่อรองและประสานงาน

ในวันหนึ่งถ้าหุ่นยนต์ถูกเข้ามาใช้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่า AI นั่นก็คือเรื่องของการเจรจาต่อรองและประสานงานกับมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ เพราะในแง่การพูดคุยกันในออฟฟิศ มนุษย์ยังคงสามารถทำมันได้ดีกว่า AI อยู่แล้ว รวมไปถึงการคุยงานกับลูกค้าด้วยเช่นกัน

อีกทั้งการทำงานร่วมกันของมนุษย์นั้นยังคงเป็นจุดที่เราทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ เพราะต้องมีเรื่องของการพูดคุย ความสัมพันธ์ภายในทีม และความรู้สึก โดยหุ่นยนต์นั้นอย่างไรเสียก็มีดำเนินการไปตามโปรแกรม แต่มนุษย์ยังสามารถพลิกแพลงและจัดการปัญหาเฉพาะหน้าด้านต่างๆ ผ่านการเจรจาและประสานงานได้ดีกว่าหุ่นยนต์นั่นเอง

แก้ปัญหาโดยใช้ Critical Thinking

เรื่องราวของ Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ ยังถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่มนุษย์ก็ยังทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ และต้องมีการตัดสินใจจากมนุษย์เท่านั้น เพราะการตัดสินใจของ AI จะประกอบไปด้วยพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับตามโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ ดังนั้นการตัดสินใจแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากๆ เจ้า AI จึงไม่สามารถทำมันได้ดีเท่ามนุษย์ นี่จึงเป็นถือเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์เราต้องมีติดตัวไว้ตลอด และห้ามทิ้งมันเด็ดขาด ผสานการฝึกฝนที่จะทำมันออกให้ดียิ่งกว่าเดิม

สำหรับ Critical Thinking นั้นคือการคิดที่ประเมินจากหลักฐาน ข้อมูล และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใตอนนั้น เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ลงตัว มีความเป็นกลาง และถูกต้องมากที่สุด เพื่อเป็นการใช้แก้ปัญาสุดซับซ้อนที่ยากเกิดหุ่นยนต์จะหยั่งถึง เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจมีเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเรามีการใช้ AI แก้ปัญหา หุ่นยนต์ก็ไม่สามารถเข้าใจและสนใจในสภาวะจิตใจของมนุษย์ไปได้ดีกว่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองแน่ๆ

แต่ถ้าหากจุดนี้เรามีการใช้มนุษย์ในการแก้ปัญหา โดยมีการอาศัยข้อมูลจาก AI เข้ามาประกอบด้วย และยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นใจเพื่อนมนุษย์อยู่ด้วย ก็จะช่วยให้การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อได้รับการตัดสินใจจากมนุษย์ด้วยกันเอง

หัดตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้น

เมื่อมีข้อมูลต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เรื่องราวของการตัดสินใจถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดทิศทางงานของทีมหรือของบริษัทเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้มนุษย์นี่แหละที่จะเป็นผู้วางกลยุทธ์ และช่วยกำหนดหน้าที่ในการทำงานของ AI ในยุคที่ข้อมูลต่างๆ มีมากเหลือเกิน โดยมนุษย์สามารถเป็นคนป้อนให้ AI เป็นฝ่ายประมวลผล ซึ่งนั่นจะกลายเป็นข้อดีที่ช่วยให้เราประหยัดเวลาจากการคัดแยกข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมีการตัดสินใจของมนุษย์เจ้ามาเสริมทัพให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ต้องมีจัดการด้านอารมณ์ที่ดี

ว่าด้วยเรื่องของอารมณ์ มนุษย์ยังคงมีความสามารถที่ดีกว่า AI อยู่แล้ว และก็ยังปัจจัยหลักที่บริษัทต่างๆ จะคัดเลือกพนักงานเข้าไปร่วมงานด้วยอยู่เสมอ ซึ่งคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ และสามารถจัดการเรื่องราวได้ต่างๆ ได้ดี เข้าใจความแตกต่างของเพื่อนร่วมงาน และสามารถจัดการทุกอย่างให้เป็นไปได้อย่างสมูธ โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าหรือฝ่ายที่ต้องดีลกับบุคคลต่างๆ โดยตรง ก็ต้องอาศัยทักษะตรงนี้นี่แหละมาใช้ทำงาน เพราะอย่างไรเสีย AI ก็ยังไม่สามารถทำงานในส่วนนี้ได้ดีเท่ากับมนุษย์อยู่แล้ว

มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ

ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ส่วนที่มนุษย์ยังได้เปรียบ AI อยู่มากก็คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นนี่จึงเป็นทักษะสุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะหุ่นยนต์นั้นจะทำงานไปอย่างเป็นแบบแผนตามที่ได้ตั้งโปรแกรมไว้ ผ่านการฝังชุดข้อมูล ที่ใช้ลดความผิดพลาดเป็นหลัก แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการเข้ามาพัฒนาตรงนี้ ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาอีกสักพัก ดังนั้นตอนนี้นี่แหละที่จะเป็นช่วงเวลาของมนุษย์ในการแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ออกมา

โดยทักษะที่จำเป็นในการทำงานเหล่านี้ก็คือ การคิดงานในแบบที่ต้องใช้ความคิดริเริ่ม การพยายามคิดแบบนอกกรอบ รวมไปถึงเรื่องของการดีไซน์ชิ้นงานต่างๆ ในออกมาโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าให้หุ่นยนต์มาออกแบบบ้านแข่งกับมนุษย์ แน่นอนว่าหุ่นยนต์อาจจะทำได้ดีในเรื่องของโครงสร้างที่ดำเนินไปได้อย่างเป๊ะๆ และเป็นมาตรฐาน แต่เรื่องของความสวยงามและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ อย่างไรเสียก็ต้องเป็นฝีมือของมนุษย์นี่แหละ ที่จะเป็นผู้รังสรรค์มันออกมาให้โดดเด่นและแตกต่างจากบ้านของคนอื่นๆ

เพราะเราสามารถตั้งโปรแกรมความคิดที่เป็นเหตุและผลให้แก่หุ่นยนต์ได้เท่านั้น แต่เราไม่ใส่โปรแกรมด้านจินตนาการให้แก่หุ่นยนต์ได้ ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นหัวใจหลักในด้านทักษะที่มนุษย์ต้องมี

มีภาวะความเป็นผู้นำ

ปิดท้ายด้วยเรื่องทักษะของคนที่เป็นหัวหน้ากันบ้าง เพราะถือเป็นทักษะที่ผู้นำหลายคนจำเป็นต้องมี และหุ่นยนต์ก็ยังไม่สามารถทำมันได้ โดยคุณต้องสามารถถ่ายทอด สร้างวิสัยทัศน์ และสื่อสารทุกอย่างภายในทีมให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเจรจางานกับลูกค้าด้วยเช่นกัน หากภายในทีมของคุณ ต้องพบเจออุปสรรคและปัญหาใดๆ คุณก็ต้องเป็นคนที่สามารถแก้ไขปัญหา โน้มน้าว และสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องมีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรื่องของการบริหารคน ยังไงหุ่นยนต์ก็ทำไม่ได้แน่นอน

ที่มา : https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/ai-new-era

สรุปแนวทางการพัฒนาตัวเองในยุค AIและข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงงาน

1. แม้ในทุกวันนี้ AI จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นกว่าแต่ก่อนพอสมควร แต่มนุษย์ทำงานอย่างเราก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไปนัก เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีวันที่หุ่นยนต์จะสามารถทำทุกอย่างได้เทียบเท่ามนุษย์แน่นอน แต่มนุษย์เราก็ต้องไม่ลืมที่จะฝึกฝนหรือพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพื่อรองรับโลกดิจิทัลที่ไม่วันหยุดนิ่งนั่นเอง

2. การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น การนำเสนองาน การตกแต่งรูปภาพ การจัดทำรายงานการประชุม เพื่อลดระยะเวลาการปฏิบัติงาน สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเองต้องมีการตรวจทานข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน

3. ควรจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ฝึกทักษะด้าน AI แก่บุคลากร เพื่อการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Digital Transformationของบุคลากรภาครัฐ มีการปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จาก AI ในหน่วยงาน


เขียนโดย : น.ส.วิลาวรรณ  งอยผาลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : wilawan.n@most.go.th

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และจะพยายามที่จะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้ยิ่งขึ้นด้วยค่ะ พี่มัน ขอบคุณนะคะ

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล