Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
มาตรฐานอาหาร Clean Food Good Taste กับ OTOP ประเภทอาหาร 231
มาตรฐานอาหาร “Clean Food Good Taste” กับ OTOP ประเภทอาหาร
==============================
สินค้าโอทอป “OTOP” ที่ย่อมาจาก “One Tambon One Product” หรือ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ในประเทศไทยนั้น เมื่อแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ตามที่กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็จะแบ่งได้ 5 ประเภท คือ อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ซึ่งการจะผลิต OTOP คุณภาพดีได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองได้รับการยอมรับ โดยการควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเมื่อพูดถึง OTOP ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ อันดับแรกผู้บริโภคก็จะมองหาสัญลักษณ์ “อย.” หรือ เลขสารบบอาหาร บนสินค้าเป็นอันดับแรก แต่ในหลายๆ ครั้ง สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น OTOP ไม่ใช่ลักษณะสินค้าอยู่ในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท หากแต่เป็น “OTOP ชวนชิม” อาหารและเครื่องดื่มที่ทำการปรุงสำเร็จและจำหน่ายผ่านหน้าร้าน เช่น กาแฟบ้านดอยช้าง ขนมลาเมืองนคร ไก่บ้านต้มน้ำปลาเจ๊ง้อ โรตีสายไหม เป็นต้นซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มีมาตรฐานอีกตัว ในการควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารประเภทนี้ โดย Blog นี้ จะพาไปแนะนำให้รู้จักมาตรฐานอาหารที่สำคัญอีก 1 ตัว นั่นคือ “Clean Food Good Taste”
มาตรฐาน Clean Food Good Taste
หมายถึง เกณฑ์การรับรองมาตรฐานสถานที่จำหน่ายอาหาร ระดับพื้นฐาน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร “สถานที่จำหน่ายอาหาร” อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) ระดับพื้นฐานจำนวน 5 หมวด (สุขลักษณะ 4 หมวด และชีวภาพ 1 หมวด) ได้แก่
- หมวด 1 สถานที่จำหน่ายอาหาร (จำนวน 35 ข้อ)
- หมวด 2 อาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบ หรือปรุง การเก็บรักษา และการจำหน่ายอาหาร (จำนวน 22 ข้อ)
- หมวด 3 สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่น ๆ (จำนวน 11 ข้อ)
- หมวด 4 สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร (จำนวน 6 ข้อ)
- หมวด 5 ตรวจการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร ภาชนะ อุปกรณ์มือผู้สัมผัสอาหาร (จำนวน 10 ตัวอย่าง)
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 มาตรฐานนี้ได้มีการ “อัพเกรด” เพื่อควบคุมคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคไปอีกขั้น ด้วยเกณฑ์มาตรฐาน “Clean Food Good Taste Plus” เพื่อรองรับตามกฏกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561เพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหาร มีสุขลักษณะที่ดี สามารถจัดบริการอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ให้แก่ผู้บริโภค
“Clean Food Good Taste Plus”เพิ่ม 9ข้อ Plus ประกอบด้วย
(1) ผู้สัมผัสอาหารทุกคนติดบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารในขณะปฏิบัติงาน
(2) จัดบริการช้อนกลางให้แก่ผู้บริโภคทันที
(3) จัดบริการอ่างล้างมือพร้อมสบู่สำหรับผู้บริโภคบริเวณสถานที่รับประทานอาหาร
(4) ใช้ผักและผลไม้ปลอดภัย
(5) จัดบริการเมนูชูสุขภาพ
(6) ใช้เกลือหรือผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนตามมาตรฐาน
(7) จัดบริการส้วมผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS
(8) ใช้ภาชนะปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : No Foam และ
(9) การสื่อสารความรอบรู้ด้านสุขภาพ
ปัจจุบัน ร้านอาหารทั่วประเทศที่ยกระดับให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อยระดับ“ดีมาก” หรือ “Clean Food Good Taste Plus” ทั้งหมด จำนวน 446 ร้านซึ่งผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารในทุกสาขาผ่านการอบรมตามหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร พร้อมลงทะเบียนและประเมินตนเองตามเกณฑ์มาตรฐาน ในระบบ Foodhandler ครบถ้วน
จะเห็นได้ว่าแม้แต่อาหาร OTOP ประเภทปรุงสำเร็จ ก็จำเป็นจะต้องได้รับการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย ความสะอาดและความเหมาะสมของรสชาติ การดำเนินงานของภาครัฐเหล่านี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภค ได้รับผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุด
และเช่นกันที่ แนวทาง “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” ของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ที่ กปว. ดำเนินการอยู่ก็มีโปรแกรมในการพัฒนามาตรฐานเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการ OTOP ได้รับบริการอย่างครบถ้วน เพื่อส่งต่อสินค้า OTOP ที่มีคุณภาพให้ถือมือทุกคนนั่นเอง
==
References :
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข : https://foodsan.anamai.moph.go.th/th/handbook/2360#wow-book/
กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย : https://cep.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/แบบฟอร์มการลงทะเบียนผู้ประกอบการ-OTOP-ชวนชิม.pdf
https://www.hfocus.org/content/2023/02/27084