เครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge - Based OTOP : KBO) เพื่อขับเคลื่อน OTOP สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน  244

คำสำคัญ : OTOP  กรมการพัฒนาชุมชน  เครือข่าย  
การขับเคลื่อน OTOP รัฐบาลได้ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ให้มีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข๋งภาคประชาชน และการส่งเสริมบทบาทของสถาบันการศึกษาในชุมชนให้มีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อผนึกกำลังของทุกภาคส่วนในชุมชนขับเคลื่อน OTOP สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในรูปแบบของเครือข่ายองค์ความรู่ หรือ Knowledge - Based OTOP : KBO โดยกรมการพัฒนาชุมชนเริ่มดำเนินโครงการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO เมื่อปี พ.ศ. 2549 ดำเนิการในพื้นที่นำร่อง 4 ภาค ๆ ละ 1 จังหวัด ได้แก่
1. ภาคเหนือ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
3. ภาคกลาง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี
4. ภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา
 
โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนให้มีเครือข่ายองค์ความรู้ KBO กระจายไปยังทุกจังหวัดในประเทศ จัดทำทะเบียนเครือข่ายองค์ความรู้ KBO สนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตชุมชนมีการเรียนรู้จากเครือข่าย KBO จังหวัดพร้อมทั้งหาความต้องการกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP (Training Needs : TN) เชื่อมโยงแหล่งความรู้ในท้องถิ่นและชุมชนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านเทคนิคการผลิตที่เกี่ยวข้อง มีการเสริมสร้างความรู้ ทักษะและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความโดดเด่น มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อม่ี่จะจำหน่ายทั้งในตลาดภายในและตลาดต่างประเทศได้ และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ยังต้องรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างชัดเจน
 
นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีนโยบายจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO แต่ละจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตชุมชนในการประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีภาคีองค์ความรู้จากภายนอกเข้ามาสนับสนุนงานของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านรูปแบบ ด้านบรรจุภัณฑ์ ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อการเพิ่มมูลค่าให้มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น องค์ประกอบคณะกรรมการฯ ในระดับจังหวัด ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัด เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
 
กรมการพัฒนาชุมชน ได้ใช้กลไก KBO เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการรวมกลุ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการจัดประกวดการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดดีเด่น เป็นประจำในทุก ๆ ปี โดยมีหัวข้อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ หมายถึง กระบวนการในการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่การเริ่มจากการนำเอาวัสดุที่มีคุณภาพเข้ามาใช้ การคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ เพื่อการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานนั้น ๆ
2. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หมายถึง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการห่อผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ และดึงดูดผู้บริโภค ตามความเหมาะสมของแต่ละผลิตภัณฑ์
3. การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง การปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่เหมาะสม เหมาะแก่การใช้งาน มีรูปแบบสวยงาม มีมาตรฐาน และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
4. การพัฒนาลักษณะของผลิตภัณฑ์ หมายถึง การพัฒนาที่ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น ทั้งในส่วนของสี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส เป็นต้น
5. การพัฒนาด้านภูมิปัญญา หมายถึง การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยนำเอาองค์ความรู้ทางภูมิปัญญามาใช้ในการพัฒนา อาจเป็นขั้นตอน เทคนิค วิธีการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น การใช้สีธรรมชาติ การออกแบบเครื่องมือ เครื่องใช้ การออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น
6. การพัฒนาเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ (Story of Product) หมายถึง การเพิ่มเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เข้าไปเพื่อให้สินค้าและบริการมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใต เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์
 
สำหรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น จะยึดหลักการสำคัญ คือ
1.ขีดความสามารถของเครือข่าย KBO ได้แก่ การมีส่วนร่วมในหลายองค์กร เพื่อการพัฒนาในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ มีแผนระดมสมอง/เรียนรู้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ มีกระบวนการแก้ไขปัญหา และมีการแสดงศักยภาพในการพัฒนาและเครื่องมืออุปกรณ์กระบวนการในส่วนที่ยังไม่มี
2.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มีการนำความรู้หรือข้อมูลใหม่มาประกอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างทันเหตุการณ์ มีการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ชุมชนอย่างคุ่มค่าและมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน
3.นวัตกรรม ได้แก่ มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากที่มีใช้อยู่ทั่วไป เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มิใช่การซื้อ
4.ความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สามารถนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้จนเกิดการส่งเสริมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ มีการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาที่เหมาะในแต่ละตลาด
5.การส่งเสริมช่องทางการตลาด ได้แก่ มีการเตรียมการ ศึกษาข้อมูล และนำมาปฏิบัติจริง มีกระบวนการสอบถามความต้องการ และการสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเปิดช่องทางการตลาดไว้หลายรูปแบบ
 
กิจกรรมในการจัดประกวด KBO จังหวัดดีเด่น ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่
(1) กิจกรรมที่ 1 พัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) หรือระดับ 1 – 3 ดาว จังหวัดละ 20 กลุ่ม
(2) กิจกรรมที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เป้าหมาย คือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดละ 20 กลุ่ม ๆ ละ 1 ผลิตภัณฑ์ จำนวน 76 จังหวัด รวมทั้งหมด 1,520 ผลิตภัณฑ์
(3) กิจกรรมที่ 3 ประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เป้าหมาย ผลิตภัณฑ์ที่มีความเด่น มีนวัตกรรม จังหวัดละ 1 ผลิตภัณฑ์
แบ่งการประกวดเป็น 2 รอบ
          รอบแรก คัดให้เหลือ 8 จังหวัด จาก 76 จังหวัด
          รอบสอง คัดเลือกผู้ชนะ
 
โดยเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เครือข่ายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ เครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดยะลา ผลิตภัณฑ์ คือ ของเล่นแมวจากใยบวบ 
คุณสาธิตา วงศ์ชนะ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปใยบวบ “Tata Scrub” เผยว่า “บวบ” เป็นผักพื้นบ้านซึ่งคนสมัยก่อนมักปลูกไว้ตามบ้าน ผลบวบที่เหลือจากการนำมากินจะแห้งและถูกทิ้งไว้คาต้น ด้วยภูมิปัญญาของคนโบราณจึงนำผลแห้งมาทำความสะอาดผิวและล้างจาน ตนเองก็ได้ภูมิปัญญานี้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ใยบวบขัดผิวแบบแผ่น ไม้แปรงขัดเท้าจากใยบวบ และความที่เป็นชาวปักษ์ใต้ ก็ได้นำเอา “ผ้าปาเต๊ะ” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาผสมผสาน ออกมาเป็นรองเท้าใยบวบผ้าปาเต๊ะ และล่าสุด เรานำนวัตกรรมมาใส่ใยบวบกลายเป็น “ของเล่นแมว” ปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงนั้นถือว่าเป็นเทรนด์ที่น่าจับตา เพราะรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่จะเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายต่อสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงนั้นเพิ่มขึ้น เราจึงได้นำเอาใยบวบหอมพันธุ์พิเศษ ที่มีเส้นใยละเอียดอ่อนนุ่ม มาพัฒนาเป็นของเล่นสำหรับแมว และผสานนวัตกรรมด้วยการผสมตำแยแมว ซึ่งมีสาร Nepetalactone ช่วยทำให้แมวเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ช่วยถอนพิษไข้โรคแมวได้ และที่สำคัญคือเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัยแน่นอน การทำของเล่นเป็นรูปปลา “อีแกกือเลาะห์” หรือ “พลวงชมพู” ปลาประจำจังหวัดยะลา ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติดี เนื้อนุ่มอร่อย กินได้ทั้งเกล็ด ถือเป็นปลาเศรษฐกิจที่มาแรงมาก นอกจากนี้ ยังมีของเล่นรูป “นก” เนื่องจากจังหวัดยะลาเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจนก มีการจัดมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างยาวนาน... การพัฒนาพัฒนาของเล่นรูปปลาพลวงชมพู และนก จึงเป็นการสะะท้อนถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของจังหวัดยะลา

เขียนโดย : สุชานุช  ชนะชาญมงคล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : suchanuch.c@most.go.th