ลงพื้นที่และรับโจทย์การพัฒนาเรือช้อนตักวัชพืชสำหรับคลอง บริเวณชุมชนริมน้ำ ณ อบต.บางคนที จ.สมุทรสงคราม  48

คำสำคัญ : เครื่องจักร    

        วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 คณะผู้แทนกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) พร้อมผู้แทนทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะคณะทำงานภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ลงพื้นที่หารือและรับโจทย์การพัฒนาเรือช้อนตักวัชพืชสำหรับคลองซอยบริเวณชุมชนริมน้ำ เพื่อบำรุงรักษาความสะอาดในคลองซอย รวมทั้งร่องน้ำเพื่อการสัญจรสำหรับชุมชนบ้านสวน และผู้อาศัยในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ตามที่ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ได้ประสานมายังหน่วยงานว่ามีความสนใจและต้องการเรือช้อนตักขยะซึ่งพัฒนาภายใต้โครงการฯ มาช่วยในกิจกรรมจิตอาสา 

           จากการสำรวจพื้นที่คลองระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร พบว่าร่องน้ำมีความลึกไม่เกิน 1.5 เมตร ความกว้างลำน้ำประมาณ 2 - 4 เมตร คุณภาพน้ำโดยรวมมีความใสสะอาด พบปลาหลายชนิด และพบการแพร่กระจายตัวของพืชน้ำ เช่น ดีปลีน้ำและเทปน้ำ โดยมีความหนาแน่นในระดับมาก เป็นปัญหาปิดกั้นช่องทางสัญจรทางน้ำ ทำให้เรือเคลื่อนผ่านได้ยากและอาจส่งผลให้เกิดการสะสมทำให้น้ำเน่าเสียได้ ที่ผ่านมาการบำรุงรักษาความสะอาดลำคลองดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลฯ โดยประสานผ่านผู้นำชุมชน ใช้แรงงานจิตอาสาประมาณ 60-70 คน ในการเก็บกวาดวัชพืชน้ำเดือนละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง จำเป็นต้องทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนตลอดทั้งปี ในระยะยาวการพึ่งแรงงานจิตอาสาอาจไม่สม่ำเสมอ เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ จึงมีแนวคิดในการพิจารณาเครื่องมือเพื่อช่วยทุ่นแรง หรือเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงาน ดังกล่าว 

           ในการลงพื้นที่ของคณะทำงานในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบฯ ครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับและถ่ายทอดข้อมูลจากนางสาวเรณู เล็กนิมิตร นายกบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที และคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ร่วมถ่ายทอดข้อมูลและหารือรายละเอียดของการดูแลสายน้ำ การใช้ชีวิตในชุมชนตำบลบางคนที และประโยชน์ที่เกิดจากการรักษาแหล่งน้ำภายในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ นอกจากเป็นการรักษาวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง บ้านสวนและการสัญจรทางน้ำแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการรักษาระบบนิเวศน์เพื่อให้สิ่งมีชีวิตในสายน้ำได้อยู่อาศัย เติบโต และเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้ชุมชุนภายในตำบล ซึ่งเป็นคุณค่าที่จะเกิดต่อเนื่องในระยะยาว


เขียนโดย : น.ส.สัณหพร   ฝาชัยภูมิ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sanhaporn.ph@ku.th