อาหารกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  49

คำสำคัญ : อาหาร  อากาศ  
อาหารกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายคนอาจจะเคยได้ยินสำนวนภาษาอังกฤษว่า “You are what you eat” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารที่เราเลือกรับประทานไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาวะของโลกเราด้วย ทุกวันนี้เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เรากินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดเจนขึ้นเนื่องจากอาหารที่เราเลือกกินจะทิ้งรอยเท้านิเวศ (Ecological footprint) ไว้เสมอ ซึ่งก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหารในจานของเรานั้น อาหารเหล่านี้อก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า หรือต้องใช้น้ำปริมาณมากในการผลิต บทความนี้จะสื่อบทบาทของอาหารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตอาหาร 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากการผลิตอาหารและการเกษตร  ระบบการผลิตอาหารไม่ได้มีเพียงการผลิตอาหารในพื้นที่เกษตรกรรมหรือฟาร์มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการแปรรูป การจัดจำหน่าย และการขนส่งด้วย ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ การเลี้ยงปศุสัตว์และการประมงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งระบบการผลิตอาหาร รองลงมาคือการปลูกพืช คิดเป็นร้อยละ 27 และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน คิดเป็นร้อยละ 24 ตามลำดับ
 
2. อาหารที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากการเลี้ยงปศุสัตว์มีปริมาณใกล้เคียงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ เรือ และเครื่องบินรวมกัน โดยผลิตภัณฑ์จากวัว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัวหรือนมวัว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง อันได้แก่ วัว ควาย แกะ แพะ นอกจากนั้น  การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อให้มีที่ดินสำหรับใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และสำหรับเพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ป่าไม้กักเก็บไว้ อีกทั้งมูลสัตว์และปุ๋ยยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกด้วย นอกจากนี้ การผลิตเนื้อสัตว์และนมยังต้องใช้ทรัพยากรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำและที่ดินเนื้อวัวก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยเนื้อวัว 1 กิโลกรัมก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาประมาณ 70.6 กิโลกรัม โดยอาหารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากรองลงมา ได้แก่ เนื้อแกะ สัตว์ทะเลมีเปลือก (เช่น กุ้ง หอย ปู) ชีส ปลา หมู ไก่ ตามลำดับ ส่วนอาหารที่ทำจากพืช ซึ่งได้แก่ ผลไม้ ผัก และถั่ว ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ทั้งนี้ สาเหตุที่อาหารทะเลโดยเฉพาะสัตว์ทะเลมีเปลือก มีรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ปริมาณมาก เนื่องจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทะเลมีเปลือก โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงกุ้ง มักใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก เมื่อป่าชายเลนถูกทำลายเพื่อสร้างบ่อหรือฟาร์มกุ้ง คาร์บอนที่ป่าชายเลนเก็บกักไว้จึงถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น อาหารจากพืชจึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า เพราะการผลิตผลไม้ ผัก ธัญพืช และพืชตระกูลถั่วจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า และต้องใช้ที่ดินและน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์และนม การเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลักจึงสามารถลดรอยเท้าคาร์บอนของเราลงได้อย่างมาก
 
3. ขยะจากอาหาร รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลกถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จากข้อมูลของกรมการเกษตร แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) พบว่า ประเภทอาหารที่ชาวอเมริกันทิ้งเป็นขยะอาหารมากที่สุดคือ ปลาและอาหารทะเล โดยปริมาณที่ทิ้งเป็นขยะคิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณปลาและอาหารทะเลทั้งหมด รองลงมาคือ ผลไม้สด ผักสด ไข่ เนื้อสัตว์ ตามลำดับ เมื่อเราทิ้งอาหาร หมายความว่าเราได้สูญเสียทรัพยากรทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตอาหาร การขนส่ง และเก็บรักษาอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อขยะอาหารย่อยสลายจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ การลดขยะอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะลดการสร้างเหตุและปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
 
บทสรุป
อาหารที่เรากินมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูง ดังนั้น การเลือกบริโภคอาหารอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเริ่มจากการรับประทานอาหารอย่างสมดุล เลือกรับประทานอาหารในท้องถิ่นซึ่งไม่ต้องใช้การขนส่งระยะไกล เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ เพราะอาหารที่รับประทานไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาวะของโลกใบนี้ด้วย
 
เอกสารอ้างอิง
FAO. “Livestock 
Systems.” Online. Retrieve
from https://www.fao.org/livestock-systems/production-systems/ruminant/en/
Moskin, J., Plumer, B., Lieberman R., and Weingart E. (2022.) “Your Questions About Food and      Climate Change, Answered.” Published online at Nytimes.com. Retrieve from https://www.nytimes.com/interactive/2022/dining/climate-change-food-eating-habits.html
Ritchie, H. (2019). “Food production is responsible for one-quarter of the world’s greenhouse gas   emissions.” Online. Retrieve from https://ourworldindata.org/food-ghg-emissions
United Nations. “Food and Climate Change: Healthy diets for a healthier planet.” Online. Retrieve   from https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/food
 
#อว #กระทรวงอว #MHESI #MHESITHAILAND #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงแห่งปัญญาโอกาสอนาคต

เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th