Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
รายงานสรุปโครงการติดตามและประเมินผล การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ 86
รายงานสรุปโครงการติดตามและประเมินผล
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖
โดย ดร.สรรณพ นาควานิช นวค.ชพ. หัวหน้าโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินงานติดตามและประเมินผลการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่มีสถาบันการศึกษาและสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้จัดงานทั้งหมด ๖๒ แห่ง และได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานจริงร่วมกับคณะทำงานจัดงานและติดตามประเมินผลโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของหน่วยจัดงานที่เลือก ๒๒ แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนใน ๑๖ กลุ่มจังหวัด ใน ๒๑ จังหวัด
ผลการดำเนินงานพบว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด ๑,๕๕๑,๓๐๐ คน นับจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งสองแบบคือแบบ On site และ Onlineจำนวนที่มาร่วมงานแบบ On site จำนวน ๖๑๓,๒๕๘ คน (ร้อยละ ๓๙.๕) และที่มาร่วมงานแบบ Online จำนวน ๙๓๘,๐๕๐ คน (ร้อยละ ๖๐.๕) ผู้มาร่วมงานมีความพึงพอใจเฉลี่ย ร้อยละ ๘๘.๐ ผ่านเกณฑ์ตามค่าเป้าหมายที่ร้อยละ ๘๐
จำนวนหน่วยงานที่จัดแบบ On site เพียงอย่างเดียว มี ๒๑ แห่ง มหาวิทยาลัยที่มีผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นต้น ส่วนที่มาจำนวนผู้มาร่วมงานน้อยกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นต้น สำหรับวิทยาลัยชุมชนที่จัดแบบนี้มี ๕ แห่ง มีจำนวนผู้ร่วมงานระหว่าง ๕๐๐ - ๘๙๘ คน
จำนวนหน่วยงานที่จัดทั้งสองแบบ คือแบบ On site และ Online มี ๔๑ แห่ง สำหรับมหาวิทยาลัยศูนย์ภูมิภาคที่จัดทั้งสองแบบ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดระหว่าง ๖,๕๕๓ - ๔๔๕,๘๙๗ คน สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานในสถาบันสูงสุด จำนวน ๑๐๐,๖๗๐ คน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วม Onlineสูงสุดมากกว่า ๓๑๐,๐๐๐ คน รองลงมาเป็นมหาวิทยาลัยพะเยามากกว่า ๒๔๐,๐๐๐ คน
ร้อยละความพึงพอใจของผู้มาร่วมงานที่มีอายุส่วนใหญ่ ไม่เกิน ๒๐ ปี (มากกว่าร้อยละ ๗๐) เป็นเพศหญิง (มากกว่าร้อยละ ๖๐) มีความพึงพอใจสูงสุด ร้อยละ ๙๘ ที่จัดงานโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ เทพสตรี และมีความพึงพอใจต่ำสุด ร้อยละ ๘๐ มี ๓ หน่วยงาน ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี วิทยาลัยชุมชนพังงา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พบผลการสำรวจความพึงพอใจร้อยละ ๙๐ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมแบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๒๖- ๔๐ ปี เข้ามาเรียนรู้มากที่สุดร้อยละ ๓๘
การประเมินผลโครงการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาคเชิงนโยบายแบบ CIPP (Context-Input-Process-Product)จำนวน ๒๒ แห่ง มีผลการประเมินในภาพรวม ดังนี้
๑. ศูนย์ภูมิภาค ๒ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผลการประเมินสูงกว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร้อยละ ๙๖ และ ๘๙ ตามลำดับ
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมีผลการประเมินสูงสุดร้อยละ ๙๖ รองลงมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร้อยละ ๙๕, ๙๓ และ ๙๓ ตามลำดับ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มีผลการประเมินต่ำสุด ร้อยละ ๗๑
๓. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี มีผลการประเมินสูงสุดร้อยละ ๙๓ รองลงมาเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงได้ผลการประเมินร้อยละ ๘๒ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี มีผลประเมินต่ำร้อยละ ๖๖ และ ๗๑ ตามลำดับ
๔. วิทยาลัยชุมชน สังกัดสถาบันชุมชนที่ได้รับการประเมินทั้งหมด ๕ แห่ง วิทยาลัยชุมชนน่านและวิทยาลัยชุมชนยโสธรได้ผลประเมินสูงสุดร้อยละ ๖๘ รองลงมาเป็นวิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ วิทยาลัยชุมชนพังงาและวิทยาลัยชุมชนยะลา ร้อยละ ๖๗, ๖๔ และ ๖๐ ตามลำดับ
ปัญหาอุปสรรคที่พบเหมือนกันส่วนใหญ่ ได้แก่
(๑) จำนวนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเช้ามากในทุกวันงาน ทำให้แออัดและเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้เพราะเวลาหมด จึงเข้าเรียนรู้ได้ไม่ครบฐานกิจกรรม ส่วนในเวลาบ่ายจำนวนนักเรียนจะมีน้อยหลังเวลา ๑๕.๐๐ น.
(๒) จำนวนนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันแบบออนไลน์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งน้อย เพราะหลายมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
(๓) สถานที่จัดกิจกรรมบางกิจกรรมไม่เหมาะสม เช่น มีเสียงดังรบกวน อากาศร้อน สถานที่คับแคบ และมีอุปกรณ์รองรับไม่เหมาะสม
ข้อเสนอแนะที่ควรทำในปีต่อไป ได้แก่
(๑) มหาวิทยาลัยควรทำความตกลงกับโรงเรียนเพื่อคาดการณ์กลุ่มเป้าหมายในปริมาณที่เหมาะสมและได้กลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมเตรียมวางแผนการบริหารกิจกรรม
(๒) เพิ่มกิจกรรมที่น่าสนใจและเพิ่มความหลากหลาย โดยเน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรม นักเรียนได้ทดลอง ได้เล่น จึงมีความสนุกชื่นชอบวิชาวิทยาศาสตร์
(๓) จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ในแต่ละอำเภอในจังหวัดเพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่ห่างไกลมีส่วนเข้าร่วมกิจกรรม
(๔) ควรกำหนดงบประมาณสนับสนุนและการประเมินผลของวิทยาลัยชุมชนเป็นการเฉพาะเนื่องจากมีความพร้อมไม่เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิทยาศาสตร์โดยตรง
(๕) มหาวิทยาลัยที่จัดงานต้องเตรียมทีมนักศึกษาพี่เลี้ยงให้มีศักยภาพเพียงพอในการบริหารนักเรียน-กิจกรรมและอำนวยการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
(๖) ควรมีหลักสูตรพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
(๗) ควรกำหนดสัดส่วนให้จัดกิจกรรมแบบ On site มากกว่าแบบ Online ไม่น้อยกว่า ๘๐ : ๒๐ เพื่อเพิ่มทักษะ เพิ่มจินตนาการและการเรียน - เล่น - คิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมกัน
http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Final%20report_2566_Sci_wk_CIPP.pdf