ทำความรู้จัก Brand Corporate Identity   165

คำสำคัญ : Brand_CI    Corporate_Identity    Brand_Identity  Innovation_Marketing  

ทำความรู้จัก Brand Corporate Identity

 

Brand ระดับโลก ทำตลาดอย่างไร

ทำไมคุณถึงสามารถจดจำภาพลักษณ์ของแบรนด์ดัง รวมไปถึงสีและโลโก้ของพวกเขาได้ แม้ว่าจะมีแบรนด์เกิดขึ้นมากมายในตลาด  นั่นคือสิ่งที่เป็นจุดขายสำคัญของแต่ละแบรนด์ ซึ่งหลักการนี้จะเรียกว่า BrandCorporate Identity หรือที่รู้จักกันในชื่อ BrandCI เป็นสิ่งที่จะช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่น  Target Segment สามารถจดจำได้อย่างมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและตัวตนของแบรนด์ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้แบรนด์ของคุณแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

Brand CI หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Corporate Identity หรือ Brand Identityคือ อัตลักษณ์ขององค์กรหรือแบรนด์ ที่กำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดและเพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภค

Corporate Identity (CI) คือวิธีที่แบรนด์นำเสนอตัวเองต่อสาธารณะ เป็นการออกแบบอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ เพื่อช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่น ดูน่าเชื่อถือ เป็นที่จดจำของผู้บริโภค และแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด

โดย CI มีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. Concept คือแนวคิดของแบรนด์ เรื่องราวความเป็นมา เป้าหมาย วิสัยทัศน์ และจุดเด่นต่าง ๆ ของแบรนด์ที่นำมาใช้ในการสื่อสารแบรนด์ รวมถึงการกำหนด Mood & Tone คือการวางคอนเซปต์และจุดเด่นต่าง ๆ ของธุรกิจให้สามารถสื่อความรู้สึกและสร้างอารมณ์ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาสัมผัสแบรนด์ การกำหนด Mood & Tone ที่ชัดเจนทำให้ธุรกิจสามารถออกแบบ Brand CI ได้สะดวกยิ่งขึ้น

2. Design การออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นการออกแบบอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของแบรนด์ ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค  เปรียบเสมือนกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติ ที่ช่วยกำหนดทิศทางสำหรับทุกบริบทในการออกแบบ และการนำเสนอแบรนด์ โดยประกอบไปด้วย

  • โลโก้ หรือสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
  • สี เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ และช่วยสื่อความหมายของแบรนด์ได้มากขึ้น รวมถึงสีบางสียังทำให้คนเราสามารถเชื่อมโยงกับบางสิ่งหรือบางเรื่องได้ ยกตัวอย่างเช่น

 

·        สีแดง ให้ความรู้สึกและแสดงออกถึง ความร้อนแรง พลังงาน ความก้าวหน้า ความทะเยอะทะยาน บางครั้งสีแดงหมายถึงอันตราย

·        สีน้ำเงิน แสดงถึง ความมั่นคง ความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ ความทันสมัย เทคโนโลยี ถ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มก็จะให้ความรู้สึกเงิน สงบ แต่ถ้าน้ำเงินเข้มจนเกือบดำก็จะแสดงถึงความลึกลับ

·        สีเขียว สื่อถึงความสบายปลอดโปร่ง ธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สดใส 

·        สีส้ม สื่อถึง พลังงานด้านบวก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเริ่มต้นใหม่ สติปัญญา เป็นต้น

  • รูปแบบตัวอักษร หรือ ฟอนต์ (Font) คือรูปแบบตัวอักษรให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป 

·        ลายกราฟิกประจำแบรนด์เป็นเหมือนสัญลักษณ์บางอย่างที่ช่วยสร้างการจดจำให้กับลูกค้าของเราได้ สาเหตุที่ต้องมีลายกราฟิกประจำแบรนด์ส่วนหนึ่งก็เพราะในบางครั้งคู่สีหรือฟ้อนต์ที่เราเลือกมานั้นอาจจะยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้มากนัก ยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นธุรกิจรับทำความสะอาดที่คนส่วนใหญ่กว่า 90% เลือกใช้สีฟ้า สีเขียว ทีนี้พอทุกแบรนด์ใช้สีเดียวกัน ฟ้อนต์ก็ดูคล้ายๆ กัน เราก็จำเป็นต้องนำเสนออย่างอื่นให้ลูกค้าได้จดจำ ก็ได้แก่สัญลักษณ์บางอย่าง ลายกราฟิกต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามา ช่วยให้จดจำเพิ่มมากขึ้น

3. Apply การประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร Brand CI ด้วยสร้างภาพจำให้กับลูกค้าเนื่องจากสินค้าหรือบริการที่คุณคิดจะขาย มีโอกาสที่จะซ้ำกับสินค้าของแบรนด์อื่น ๆ ที่วนเวียนอยู่ในตลาดได้ ทำให้การสร้าง CI Brand จะช่วยสร้างความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาดให้กับแบรนด์ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ของเราได้มากขึ้น  พร้อมทั้งมีการกำหนดทิศทางในการสื่อสารของแบรนด์โดยเมื่อธุรกิจของเรามีการเติบโต และมีการขยายช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้น Brand CI จะเป็นองค์ประกอบที่เข้ามากำหนดบทบาทในการสื่อสาร และส่งต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีระเบียบแบบแผน และมีส่วนช่วยในการส่งเสริมแบรนด์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากแบรนด์มีการออกแบบ BrandCI ที่เหมาะสม มีเอกลักษณ์ชัดเจน และมีการสื่อสารออกไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลูกค้านั้นสามารถจดจำแบรนด์ได้อย่างง่ายดายมากไปกว่านั้น BrandCI ยังมีประโยชน์ต่อคนายในองค์กร ทำให้ส่วนอื่น ๆ ของแบรนด์มีความชัดเจน สอดคล้อง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การทำงานภายในองค์กรจะสะดวก รวดเร็ว และมีความเข้าใจที่ตรงกันมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด ช่วยลดโอกาสที่ชิ้นงานต่าง ๆ จะผิดพลาดได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์และสื่อสารออกไปได้หลากหลายประเภทอีกด้วย

                ดังนั้น เพื่อรักษายอดขายให้มั่นคงในระยะยาว ตลอดจนสร้างความแตกต่างจากธุรกิจคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด นอกจากคุณภาพของสินค้า บริการ ตลอดจนการตั้งราคาและทำการตลาดแล้ว การทำ Brand CI ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างแบรนด์ของตัวเองที่สำคัญ 

 


เขียนโดย : นายทินกร  รสรื่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tinnakorn.r@mhesi.go.th