Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
ความเป็นกลางทางคาร์บอนกับเกษตรในประเทศไทย 112
ความเป็นกลางทางคาร์บอนกับการเกษตรในประเทศไทย
วราจิต พยอม1,*, ณัฏฐานุช เมฆรา2
1วิศวกรรมพลังงาน คณะเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 41000, ประเทศไทย
2นิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 41000, ประเทศไทย
*Email: warachit.ph@udru.ac.th
บทคัดย่อ
บทความนี้ได้แสดงถึงการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวลในภาคการเกษตรของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประโยชน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากการนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในภาคการเกษตร
1. บทนำ
การเกษตรในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำเกษตรนั้นต้องใช้ทั้งพลังงานและปุ๋ย รวมถึงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนวิถีการดำเนินการทางด้านการเกษตรเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนจึงเป็นทั้งความท้าทายและความจำเป็นอย่างยิ่ง
2. บทบาทของการเกษตรต่อคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของประเทศไทย
จากการรายงานสถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2021 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรขนาดใหญ่มาก คิดเป็น 46.7% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ หรือประมาณ 24 ล้านแฮกแตร์ สำหรับ paddyland, upland field crop, fruit trees and perennial trees, vegetable, cut flowers and ornamental plant, and others จึงส่งผลอย่างมากต่อการปล่อยมลพิษของประเทศ ทั้งนี้เนื่องมาจากการทำการเกษตรจำเป็นต้องใช้พลังงานสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถแทรคเตอร์ ปั๊มน้ำ ฯลฯ ซึ่งพลังงานที่ใช้ในภาคการเกษตร ปี 2564 มีปริมาณมากถึง 2234 ktoe นอกจากนี้ยังพบว่ามีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร4.1 ล้านตัน (103,205 ล้านบาท) สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นท์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ยังส่งผลต่อทั้งปริมาณฝุ่น PM2.5 และก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน
3. ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวลในการเกษตรของประเทศไทย
3.1 พลังงานแสงอาทิตย์: ตามรายงาน "Thailand Alternative EnergySituation 2021" ของ The Department of Alternative Energy Development and Efficiency(DEDE), Ministry of Energy พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่สูงมาก ซึ่งเอื้อต่อระบบโฟโตโวลตาอิก ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 3,060 เมกะวัตต์ และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งศักยภาพทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่สำคัญนี้จะส่งผลถึงการนำระบบโฟโตโวลตาอิกไปใช้ในการตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรต่างๆ ทั้ง การขับเคลื่อนปั๊มน้ำและระบบชลประทาน ไปจนถึงการจ่ายไฟในการดำเนินการเกษตรห่างไกล
3.2 พลังงานชีวมวลและการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร: การผสานรวมเทคโนโลยีชีวภาพเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคการเกษตรของประเทศไทยในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมูลสัตว์และเศษพืช มีปริมาณที่สูงมาก การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้จะเป็นการช่วยได้ทั้งทางด้านการผลิตพลังงานและปุ๋ยชีวภาพ และการลดขยะ กระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ (anaerobic digestion) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานและปุ๋ยชีวภาพ การแปลงวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรซึ่งเป็นวัสดุอินทรีย์เหล่านี้ให้เป็นมีเทน ซึ่งสามารถใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนได้ นอกจากนี้ผลพลอยได้จากกระบวนการนี้คือตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอาหารซึ่งสามารถใช้เป็นปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการกำจัดขยะจากภาคการเกษตรและส่งเสริมระบบการเกษตรที่ยั่งยืนมาก
การสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยนวัตกรรมทั้งสองข้างต้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ของประเทศไทย นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีชีวภาพไม่เพียงแต่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของชาติเท่านั้น แต่ยังเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนการเกษตรของไทยด้วยการสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากภาคการเกษตรได้ด้วย
4. ความท้าทายในการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของภาครัฐ
แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการเกษตรในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีความท้าทายด้านการเงินและเทคโนโลยีอยู่ เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงของระบบโฟโตโวลตาอิกและความต้องการความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการออกแบบและติดตั้งระบบเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งต้องพึ่งพาการสนับสนุนของภาครัฐ
ในปี 2564 การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายและการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับเศรษฐกิจของเกษตรกร พร้อมกับตระหนักถึงความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ การสนับสนุนด้านนโยบายดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านของภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่ภาคการเกษตรสีเขียวที่ยั่งยืนด้วยการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยจึงกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy : LT-LEDS)ซึ่งในยุทธศาสตร์นี้ได้บรรจุด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนและการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ภาคการเกษตรไว้ด้วย เพื่อมุ่งการนำประเทศไทยไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมีการปล่อยมลพิษต่ำในปี 2050 นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพันของไทยภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสถานการณ์ปกติอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบการทำงานของแผนพลังงานแห่งชาติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังเน้นย้ำถึงการส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2065-2070 กรอบนี้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล ซึ่งสามารถนำไปใช้กับการดำเนินงานทางการเกษตรได้โดยตรง
5. สรุป
การเกษตรในประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมากต่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ เพื่อให้บรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การปรับการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เข้ากับนโยบายพลังงานของชาติและการดำเนินการตามLT-LEDS โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาร่วมใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น