Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
รู้จัก อุตสาหกรรม MICE
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 175
รู้จัก อุตสาหกรรม MICE…อีกหนึ่งอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประชุม กิจกรรมองค์กร และงานแสดงสินค้า มาจากการรวบรวมความหมายของ 4 คำประกอบเข้าด้วยกัน คือ Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions
M = Meetings การประชุม สัมมนา หรือการศึกษาดูงานภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กร โดยจะเป็นการประชุมเฉพาะกิจหรือมีการวางแผนล่วงหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หรือเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกันระหว่างองค์กร
I = Incentives การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลให้กับพนักงานหรือบุคลากรที่ทำงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร ทั้งเป็นการเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับพนักงานภายในองค์กรในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
C = Conventions การประชุมวิชาชีพที่รวมบุคคลในสายอาชีพเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยมักจะเป็นการจัดประชุมระดับประเทศ ภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ และส่วนใหญ่จัดโดยองค์กรสมาคมระดับชาติหรือรัฐบาล
E = Exhibitions การจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการโดยเป็นการแสดงผลงาน, สินค้า, ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม ซึ่งอาจเป็นระหว่างคนทำธุรกิจด้วยกัน (Business to Business) หรือเปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้ (Business to Consumer) ตามจุดประสงค์ของการจัดงาน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเภทธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดงาน, ออแกไนเซอร์, ท่องเที่ยวและการนำเที่ยว, ที่พัก, อาหารและเครื่องดื่ม, บริการสำหรับผู้จัดงาน, ธุรกิจบริการอื่น ๆ, วิทยากร, การแสดงโชว์, ร้านค้าและสินค้า, โลจิสติกส์ เป็นต้น
อุตสาหกรรม MICE ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในหัวข้อสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว : การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน: กลยุทธ์ที่ 1 การส่งเสริมการพัฒนากิจกรรม สินค้าและบริการ การท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มสูง แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรม MICE มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน รายได้ และอาชีพให้ท้องถิ่น โดยรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายการขับเคลื่อน MICE ไทยให้เป็นจุดหมายสำคัญของการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และยกระดับให้เป็นจุดหมายปลายทางของ MICE โลก โดยใช้กลยุทธ์การผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ในการสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นให้กับไทยในฐานะพื้นที่เป้าหมายของนักเดินทาง MICE จากทั่วโลก
สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในประเทศไทย คือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) (Thailand Convention & Exhibition Bureau (Public Organization) : TCEB)โดย TCEB ได้มีการจัดงาน MICE DAY 2024 ภายใต้แนวคิด “Connecting the World, Elevating the Economy: เชื่อมต่อโลกด้วย MICE ยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก” ในวันที่ 26 เมษายน 2567ณ BEAT Active Bitec บางนา เนื่องในวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ หรือ National MICE Day จัดขึ้นในวันที่ 26 เมษายนของทุกปี เพื่อเป็นเวทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ภายในงาน MICE DAY 2024 ประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการมองอนาคตอุตสาหกรรมไมซ์ในแง่มุมต่าง ๆ ตลอดจนการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ โดยมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรและผู้บริหารระดับสูงจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ TCEB ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลกในอนาคต
Mr. Danny Levy, Senior Vice Presidentผู้จัดงาน Money20/20 Asiaแบ่งปันประสบการการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำระดับโลกเมื่อวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้จัดงานได้เลือกกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประจำทวีปเอเซีย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี (67-69) เป็นเมืองที่ 3 ต่อจาก Las Vegas (ตุลาคม) และอัมสเตอร์ดัม (มิถุนายน) เนื่องจากเอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกในเรื่องฟินเทคและการบริการทางการเงินแม้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยนอกเหนือจากศักยภาพในการจัดมหกรรมระดับโลก ไทยยังมีองค์ประกอบสำคัญ นั่นก็คือ การเติบโตของภาคธุรกิจ กำลังคน และการสนับสนุนด้านนโยบาย มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของผู้ประกอบการ มีความโดดเด่นของธุรกิจที่กำลังเติบโตสูง การเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานกำกับดูแล และ
นวัตกรด้านธุรกรรมการเงิน
Urban QOL & Mobility: พัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์ ขับเคลื่อนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดย ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC จุดเด่นของประเทศไทยที่ดึงดูดชาวต่างชาติ คือ ความปลอดภัย การเปิดรับวัฒนธรรมและความหลากหลาย การเชื่อมต่อการเดินทาง ถ้าเรามี Smart city ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาบูรณาการจะทำให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ระบบเตือนภัย การคาดการณ์ภัยพิบัติ Cashless payment Fintech IoT เป็นต้น ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องควรลงไปทดลองใช้บริการต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะทำให้ทราบถึงปัญหาและสามารถนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยพัฒนา
Food Security : พัฒนานวัตกรรม สร้างความมั่นคงทางอาหาร กับเส้นทางผลักดันไทยสู่ครัวโลก โดย นายรัชกฤต สงวนชีวิน Business Value Creation Division Manager บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและโลกร้อน ทำให้ปริมาณการผลิตอาจไม่เพียงพอกับการบริโภคในอนาคต ส่งผลกับความมั่นคงด้านอาหาร จำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน Smart farming เทคโนโลยีในการปลูกพืชลดโลกร้อน การให้น้ำใต้ดิน การเพาะปลูกพืชสมัยใหม่ที่ใช้น้ำน้อย/ใช้พื้นที่น้อย Application ต่าง ๆ Solution ในการเพาะปลูก รวมถึง Future food และที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของข้อมูล โดยจำเป็นต้องมีการจดบันทึกเพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงการผลิตในรอบต่อไป
Creative Soft Power : ศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์ไทย กับการผลักดัน Soft Power สู่เวทีโลก โดย นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง Entertainment & Creative สามารถใช้ส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE ได้ ผู้ประกอบการไทยมีการผลิตสื่อระดับโลกมากมายทั้งโฆษณา ภาพยนต์ เกมส์ เป็นต้น เราสามารถใช้ดิจิทัลคอนเทนท์ในการสื่อสาร Soft Power ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบมากมายที่เรามีอยู่แล้ว โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ไปสู่สายตาชาวโลกได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพ เช่น Ai สามารถช่วยสร้างคอนเทนท์ได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว
Health-Tech Innovation: ปักหมุดไทยสู่ Wellness Hub ยกระดับธุรกิจสุขภาพด้วยนวัตกรรม โดย นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท ในเรื่องของสุขภาพ นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพสมองและสุขภาพใจก็มีสำคัญเช่นกัน ไทยมีศักยภาพสูงด้านการแพทย์และธุรกิจสุขภาพ เช่น โรงแรม สปา นวดแผนไทย ร้านอาหาร เรามีสมุนไพร อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเราต้องเพิ่มศักยภาพด้วยการเพิ่มมูลค่า และต้องผลักดันให้ต่างชาติที่เข้ามาในประเทศต้องการอยู่ยาว อยู่แล้วสุขภาพดี อายุยืนยาวด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “ไมซ์ คือ แพลตฟอร์มในการพัฒนาประเทศ” แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. ย้อนรอยรากฐาน สร้างไมซ์ไทย แสดงประวัติ “ไมซ์” ในประวัติศาสตร์ชาติไทย 2. ส่งมอบประสบการณ์ ผ่านเส้นทางสายไมซ์ โดยมีแคมเปญ “ยกทีมประชุม รุมรักเมืองไทย” ชวนผู้จัดงานและองค์กรหน่วยงานทุกภาคส่วน จัดงานและร่วมประชุมสัมมนาทั่วประเทศ ผ่านเส้นทางสายไมซ์ 7 Themes (Soft Power Series) ที่มีอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค 3. มองไมซ์ไทย ผ่านวิสัยทัศน์แห่งอนาคต จัดแสดงตัวอย่างงานไฮไลท์ระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยและยังมีการแนะนำสินค้าบริการที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมตลาดไมซ์ อาทิเช่น Zero Carbon Platform เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของการจัดงาน เพื่อส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืน BizConnect แอปพลิเคชันที่รวบรวม Event การจัดการ Event MICE Lane บริการตรวจคนเข้าเมืองในช่องทางพิเศษ
เส้นทางสายไมซ์ 7 Themes (Soft Power Series)
เป็นอุตสาหรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ