Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
อว. ขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดตัวโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย 198
อว. ขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร
ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เปิดตัวโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย”
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ได้กล่าวถึงบทบาทของ อว. ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มีการมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อันจะเกิดจากการพัฒนาด้านองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา การศึกษา การวิจัย และการเชื่อมโยงภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เข้ากับการพัฒนาเชิงธุรกิจ โดยกระทรวง อว. ได้มีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำงานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่มาผนวกเข้ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงด้านอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าเป็น การท่องเที่ยว กีฬา ภาพยนตร์ และเทศกาล จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ อว. จะได้นำองคาพยพ สรรพกำลัง ร่วมกันนำศักยภาพของอาหารไทยให้เป็นอุตสาหกรรมชูโรงหลักและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้แก่ประเทศไทย เพื่อพาอาหารไทย สู่ครัวโลก
ทั้งนี้ นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ที่จะมุ่งสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรมอาหาร ในระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) ให้ได้กว่า 75,086 คน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศไทย โดยในระยะแรกในปี พ.ศ. 2567 นั้น มุ่งหวังที่จะผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพจำนวน 10,000 คน โดยมีสถาบันอุดมศึกษา (อว.) ร่วมกับ สถาบันอาชีวะศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ) ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ตามหลักสูตรที่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยผู้ที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับการรับรองด้านต่างๆ อาทิ ใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบการอาหารไทยระดับ 4 ใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 ใบรับรองผ่านการอบรมและทดสอบผู้สัมผัสอาหาร หรือผู้ประกอบกิจการอาหารจากกรมอนามัย เป็นต้น
นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวชี้แจงในด้านความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ทั้งในด้านของบุคลากรผู้สอน ผู้ช่วยสอน อุปกรณ์ และอาคารสถานที่ ที่ได้มีการสำรวจในเบื้องต้น โดยมีจำนวนสถาบันที่มีความพร้อมทั้งสิ้นกว่า 81 สถาบัน ครอบคลุมพื้นที่ 72 จังหวัดทั่วประเทศ บุคลากรผู้สอนรวมกว่า 436 คน พร้อมรองรับผู้เรียนมากถึง 14,814 คนต่อรุ่น ในด้านของแผนการดำเนินงานในระยะถัดไป จะเป็นการการประสานงานร่วมกับเครือข่ายศูนย์การอบรม หรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการและเตรียมความพร้อมในการการฝึกอบรมวิทยากร/ครูผู้สอน (Train the Trainer) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับมาตรฐานการสอนในระดับเดียวกันทั่วประเทศ รวมถึงได้ชี้แจงการวางแผนติดตามและสรุปผลการดำเนินโครงการหลังสิ้นสุดโครงการ
ในช่วงสุดท้ายของการประชุม ได้มีการเปิดรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอแนะหรือข้อคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุม เช่น ในการสอนสามารถนำบุคลากรที่ไม่ใช่อาจารย์ผู้สอนโดยตรงของสถาบันการศึกษา แต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการประกอบอาหารภายในท้องถิ่นมาร่วมเป็นผู้ฝึกสอนในโครงการได้หรือไม่ โดยนายชุมพล แจ้งไพร ชี้แจงว่า ถือว่าเป็นทางอออกที่ดีและสมควรยิ่งที่จะนำเอาเครือข่ายผู้ที่ชำนาญด้านการประกอบอาหารเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเชฟอาหารไทย ซึ่งมองว่าคล้ายกับรูปแบบการเรียนการสอนของประเทศสวิสเซอร์แลนหรือฝรั่งเศส ที่นำเอาผู้ที่ประกอบอาชีพโดยตรงและมีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ มาร่วมเป็นอาจารย์พิเศษ
โครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่จะเป็นโมเดลให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ (Synergy) เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถปักหมุดการเป็นประเทศที่มีความโดนเด่นของซอฟต์พาวเวอร์แก่สายตาชาวโลก