Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
สรุปองค์ความรู้ ความเชื่อมโยง "บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย" 182
สรุปองค์ความรู้ ความเชื่อมโยง "บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย"
ข้อมูลจากการสัมมนา เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย
โดย คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
วันพุธที่ 21กุมภาพันธ์ 2567
ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ความสำคัญของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ มีหน้าที่และอำนาจ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562ข้อ 78วรรคสอง (16) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา เรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา ความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา การบริหาร การส่งเสริม การสนับสนุน และการพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมาธิการคณะนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการ จำนวน 19 คน โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ
ความเชื่อมโยงของ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี”และ “แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13”กับ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”
ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลและใช้เป็นขอบเขตในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องและบูรณาการแบบมีทิศทางเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวยุทธศาสตร์ชาติเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2561มีระยะเวลาที่กําหนดไว้ 20ปี (พ.ศ. 2561-2580) หรือที่เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และมีหลักการขับเคลื่อนโดยการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 2การสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 9เขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้หากกล่าวถึงในประเด็นเร่งด่วน 5ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 15ประเด็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถูกกล่าวถึงเป็นประเด็นที่ 12โดยมีเป้าหมาย 1การเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดเพิ่มขึ้น และเป้าหมาย 2การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
สําหรับประเด็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13(ปี 2566– 2570) ฉบับที่ 13หมุดหมายที่ 8ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ในเป้าหมายการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกําลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งพาตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพและยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย และความเชื่อมโยงการยกระดับคุณภาพของระบบอุดมศึกษา
เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย แบ่งออกได้3 กลุ่ม ได้แก่
(1) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561โดยมีกลไกของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการกําหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนา
(2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ (3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564โดยมีกลไกของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) และสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการกําหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้กำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกสำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
👉ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC)ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เน้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
👉ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC)ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
👉ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC)ประกอบ ด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรบุรี และกาญจนบุรี เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
👉ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการขยายกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จากเดิม 72 ประเภทกิจการ ขยายเป็น 89 ประเภทกิจการ
ส่วนแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 - 2570เป็นกรอบการยกระดับคุณภาพของระบบอุดมศึกษาให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ที่เป็นปัจจัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของสังคมไทย กําหนดวิสัยทัศน์ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา ปลูกฝังคุณธรรม เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 3ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1พัฒนาศักยภาพคน
ยุทธศาสตร์ที่ 2ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 3จัดระบบอุดมศึกษาใหม่
ดังนั้น บทบาทของอุดมศึกษาจึงมีความสําคัญยิ่งในฐานะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ให้บรรลุเป้าหมาย ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี พ.ศ. 2580ดังนั้น จึงจําเป็นต้องยกระดับศักยภาพ เพิ่มความเข้มแข็งในกับอุดมศึกษาให้มีความพร้อม เป็นอุดมศึกษาที่พัฒนาแล้ว สามารถนําผลผลิตกําลังคนคุณภาพและองค์ความรู้ชั้นเลิศ มาขับเคลื่อนในฐานะหัวรถจักรที่จะนําพาประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กําหนดไว้ข้างต้น
จากผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ ได้เสนอแนะประเด็นหลักในการดําเนินการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย ที่สําคัญ จํานวน 3ประเด็น ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของกระทรวง อว. ณ ปัจจุบัน ดังนี้
1. การพัฒนาแรงงานและการสนับสนุนผู้ประกอบการ
ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับกิจการเป้าหมายในพื้นที่ ครอบคลุมการพัฒนาความรู้และทักษะแรงงานตามความต้องการของกิจการที่มุ่งเน้นในพื้นที่ การพัฒนาฝีมือแรงงาน (Upskill /Reskill /New Skill) ตามศักยภาพและบทบาทของพื้นที่และรองรับการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาแรงงานที่มีศักยภาพให้ยกระดับเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เช่น การพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน การสนับสนุนผู้ประกอบการในการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ ในการประกอบธุรกิจ/ลงทุนในกิจการเป้าหมายของพื้นที่และสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่สอดคล้อง กับจุดเด่น/โอกาสของพื้นที่ โดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น การพัฒนาผู้ให้บริการ (Service Provider) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจ
2. การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี
การยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิตบริการ โดยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างภาคีการพัฒนา ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศึกษา ชุมชน และเอกชนในพื้นที่ ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูล/องค์ความรู้ระหว่างภาคีการพัฒนา โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ SMEs หรือ Micro SMEs วิสาหกิจชุมชน และสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ภาคเอกชนที่กําลังเติบโตและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้สามารถเชื่อมโยงและไต้รับประโยชน์จากการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน
3. การปรับปรุงหลักสูตรของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
การผลิตและพัฒนากําลังคนรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย มีสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบัน อาทิ การผลิตกําลังคนที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การขาดแคลนกําลังคนในสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ การเรียนที่ไม่ตรงความต้องการของตลาดหรือการประกอบอาชีพ ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเฉลี่ย 7,050ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องมีการเติบโตร้อยละ 4ต่อปี จึงทําให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ต้องมีการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและดําเนินนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่รวมทั้ง การวางแผนด้านกําลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สําหรับ“การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสําคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแต่ละภาคส่วนควรมีการร่วมมือและบูรณาการภายใต้บทบาทและภารกิจของตนโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษา ได้ผลักดันการพัฒนากําลังคนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรระดับปริญญาตรี โท เอก โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โครงการสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทํางาน (Cooperative and Work Integrated Education (CWIE)) และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (Thailand Massive Open Online Courses (Thai MOOC)) ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
==
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ
1. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรมีบทบาทในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ
: โดยมอบอํานาจหน้าที่ให้สถาบันอุดมศึกษา เข้าเป็นหน่วยขับเคลื่อนให้กับจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาต้องกําหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในพื้นที่ อีกทั้งระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภาค ต้องมีการประเมินผลการดําเนินงานว่าเป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายมากน้อยเพียงใด และสิ่งสําคัญคือ ต้องดําเนินงานให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
2. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจต้องคํานึงความต้องการของพื้นที่ รวมถึงการพัฒนากําลังคน
: ต้องเริ่มจากการเรียนรู้หลักสูตรระยะสั้นที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ
3. ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 กําหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน: ดังนั้นจังหวัดในพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจต้องดําเนินงานให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้
4. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ สถาบันอุดมศึกษาต้องทํางานร่วมกับกระทรวงแรงงาน
: โดยนําหลักสูตรที่กระทรวงแรงงาน คิดค้นเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพมาใช้ในการพัฒนากําลังคน
5. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จะต้องดําเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13และระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษพ.ศ. 2564
: ซึ่งมีการกําหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของระเบียงเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีการสํารวจความต้องการของพื้นที่ ซึ่งแนวทางที่สําคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ คือ การพัฒนากําลังคนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา ให้มีความรู้และทักษะที่เป็นความต้องการของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกันของภาคส่วนราชการและเอกชน
6. ควรเชื่อมโยงการศึกษาระดับอาชีวศึกษาไปสู่ระดับอุดมศึกษาให้สามารถสร้างเส้นทางอาชีพให้ชัดเจนและตอบสนองความต้องการ
: ซึ่งในปัจจุบันได้มีการรับรองหลักสูตรระดับอาชีวศึกษากว่า 42หลักสูตร แต่ในระดับอุดมศึกษายังไม่มีการรับรองหลักสูตรที่กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งเห็นควรให้มีการเร่งผลักดันการสร้างระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ขึ้นมารองรับและเชื่อมโยงการศึกษาในทุกระบบ และควรพัฒนาการศึกษาทุกระดับ ให้สอดรับกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้พร้อมเป็นการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้
7. สถาบันอุดมศึกษาควรนําแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) มาใช้จัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาและสามารถตอบสนองความต้องการกําลังคนได้มากขึ้น
8. ควรมีการพิจารณาปรับโครงสร้างของกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนผู้แทนของภาคอุตสาหกรรมหรือผู้แทนนักธุรกิจด้วย เพื่อจะช่วยสะท้อนในประเด็นเรื่องความต้องการและการผลิตกําลังคน ตลอดจนสามารถช่วยผลักดันให้มีการนําผลงานวิชาการหรืองานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง
References :
เอกสารประกอบการสัมนาฯ https://drive.google.com/drive/folders/1dYaa2-_8fpuL8Gl8Up7j7rvl1461ZMFd
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13552&filename=esdps