“พฤกษเคมีเปรียบเทียบและฤทธิ์ทางชีวภาพของรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชและพืชปลูกบางชนิด”  158

คำสำคัญ : งานวิจัย  รางจืด  พืชสมุนไพร    

สวัสดีชาว กปว. ที่น่ารักทุกท่านครับ

     วันนี้ผมจะมาแชร์องค์ความรู้และประสบการณ์การเรียนในภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านงานวิจัยอันยากลำบากตั้งเเต่ป.ตรียันป.โทนะครับ โดยบล็อคนี้จะเริ่มจากปัญหาพิเศษตอนป.ตรี ที่มีชื่อเรื่องว่า “พฤกษเคมีเปรียบเทียบและฤทธิ์ทางชีวภาพของรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชและพืชปลูกบางชนิด” โดยมีเยื้อหาสาระสำคัญดังนี้

     วัชพืชเป็นปัญหาสำคัญต่อพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากวัชพืชแก่งแย่งน้ำและอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตของพืชเพาะปลูกลดน้อยลง ด้วยสาเหตุนี้จึงมีการใช้สารกำจัดวัชพืชที่ใช้เป็นสารเคมีสังเคราะห์มาควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนและการตกค้างของสารพิษในผลผลิตทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเช่น แหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน เป็นต้น ในปัจจุบันมีการนำพืชหลายชนิดมาสกัดเพื่อใช้ในการควบคุมทางชีวภาพ เนื่องจากเป็นสารที่ไม่มีพิษต่อผู้ใช้ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (ศานิตและสุวิทย์, 2551) เพื่อการนำมาซึ่งพัฒนาเป็นสารต้นแบบในการกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีรายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดจากพืชหลายชนิดมีผลต่อการยับต่อการงอกและการเจริญเติบโตของพืชบางชนิด

     รางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ในปัจจุบันจัดเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมใช้กันมากและยังเป็นสมุนไพรดั้งเดิมที่ใช้ในประเทศไทยมานานหลายศตวรรษ โดยมีรายงานการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ฤทธิ์ต้านยาฆ่าแมลงและสารเคมี ลดการติดสารเสพติด แก้พิษเบื่อเมา แก้พิษไข้ จึงได้นำใช้ในการแก้พิษหลายชนิดในรูปยาชงและแคปซูล รวมกระทั่งฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสารต้านอนุมูลอิสระ (รัชฎาพร, 2555) และยังมีรายงานได้กล่าวไว้ว่ารางจืดสามารถถอนพิษที่เกิดจากปลาปักเป้าและแมงดาทะเล และมีรายงานข่าวว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ tetrodotoxin  ซึ่งเชื่อกันว่าสารพิษนี้สัตว์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตขึ้นมาเองหากเป็นแบคทีเรีย เช่น Psuedoalteromonas spp. บางชนิด และ Vibrio spp. ที่อยู่ในสัตว์เป็นผู้สร้าง (สุวรรณาและคณะ, 2554)

     การวิจัยพฤกษศาสตร์และผลของสารสกัดจากรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชและพืชปลูกบางชนิด มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบทางพฤกษเคมีของรางจืด เพื่อจัดทำเอกลักษณ์ของพืชชนิดนี้และศึกษาความน่าจะเป็นไปได้ที่จะใช้สารกสัดจากรางจืดเพื่อกำจัดวัชพืช โดยแบ่งการวิจัยเป็นสองส่วนคือ หนึ่งเพื่อวิเคราะห์ทางพฤกษศาสตร์เคมีเปรียบเทียบด้วยเครื่องไฮเปอร์ฟอร์แมนซ์ลิควิดโคมาโทกราฟีและทินเยเลอร์โคมาโทกราฟี สองเพื่อศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัด โดยนำสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบและเปลือกต้นรางจืดที่ 5 ระดับความเข้มข้น ได้แก่ 0, 2.5, 5.0, 7.5 และ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทดสอบจำนวน 4 ซ้ำต่อทรีทเม้นต์ โดยทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตกับวัชพืช 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าบุ้งและไมยราบยักษ์ เปรียบเทียบกับพืชปลูก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาวปทุมธานี 1 และถั่วเขียว วิเคราะห์ฤทธิ์ยับยั้งการงอกทั้ง 7 วันหลังการเพาะเมล็ดและวิเคราะห์ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตทางรากและยอดในวันที่ 7 โดยผลการวิเคราะห์ทางพฤกษเคมีพบว่าสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคของใบรางจืดประกอบไปด้วยสารประกอบอินทรีย์ ไตเทอร์ปินอยด์ สเตียร์รอยด์ สารประกอบกลุ่มฟีนอลิคและน้ำมันหอมระเหย ส่วนสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคของเปลือกต้นรางจืดประกอบไปด้วยสารประกอบกลุ่มคูมาริน สารประกอบอินทรีย์ ไตเทอร์ปินอยด์ สเตียร์รอยด์ สารประกอบกลุ่มฟีนอลิคและน้ำมันหอมระเหย การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบรางจืดสามารถยับยั้งการงอกของเมล็ดหญ้าบุ้งได้ในทุกความเข้มข้นทั้งในสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบและลำต้นรางจืด ยับยั้งการงอกของเมล็ดไมยราบยักษ์ในส่วนสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากเปลือกต้นรางจืด (10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)ยับยั้งการงอกของเมล็ดข้าวใน สารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบรางจืด (10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)สารสกัดสารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากเปลือกต้นรางจืด (7.5 และ 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร แต่ไม่ยับยั้งการงอกของถั่วเขียว และยังมีฤทธิ์ยับยั้งความยาวยอดและความยาวรากของหญ้าบุ้ง ไมยราบยักษ์และข้าวได้ในทุกความเข้มข้น ยกเว้นในถั่วเขียว สารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบและลำต้นรางจืดกระตุ้นให้ความยาวรากเพิ่มขึ้นในทุกความเข้มข้น ส่วนความยาวยอด สารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากใบรางจืดไม่แตกต่างกัน แต่สารสกัดส่วนลิโปฟิลิคจากเปลือกต้นรางจืดยับยั้งความยาวยอดได้ (7.5 และ 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

 

     หวังว่าจะอ่านกันเพลินๆ และได้ความรู้เล็กๆน้อยๆไปพร้อมๆกันนะครับ เรื่องอาจจะไม่น่าสนมากสำหรับบางท่าน เอาจริงๆ ตอนนี้ผมก็ยังคิดอยู่เลยว่าทำไปทำไมวะ *หัวเราะ* หรือทำแค่นี้เองหรอน่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้อีกเยอะเลย แต่อย่างก็ตามมันก็ช่วงที่เราเป็นเด็กน้อยอยู่ ความคิดตอนนั้นก็อาจจะไม่ได้เปิดกว้างเหมือนตอนนี้  ปล. ฝากไว้นิดนึง ถึงจะจบพฤกศาสตร์แต่ก็ไม่ได้รู้จักต้นไม้ทุกต้นนะครับ ฮ่าๆๆ ขอบคุณครับ


เขียนโดย : นายณัฐวุฒิ  ศรีสมบัติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : nattawut.s@mhesi.go.th