7 เทรนด์ธุรกิจ SME  179

คำสำคัญ : sme  ธุรกิจ  อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค  

7 เทรนด์ธุรกิจ SME
1) สินค้าสำหรับผู้สูงวัย ตลาดผู้สูงวัยเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ เต็มไปด้วยกำลังซื้อ เพราะมีทั้งเงินออม เงินบำนาญ และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากเหมือนวัยหนุ่มสาว ดังนั้นสินค้าที่จะคว้าใจผู้สูงวัยได้นั้นจะเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือสินค้าที่ช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆ เช่น ข้าวต้มพร้อมรับประทาน หากนำนวัตกรรมมาช่วยให้ข้าวต้มยังคงความหอมเหมือนหุงเอง และสามารถคงคุณประโยชน์ของข้าวไว้อย่างครบถ้วน ก็จะสามารถคว้าใจของผู้บริโภคในกลุ่มสูงวัยได้

2) สินค้าเพิ่มความสะดวก พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันชอบความสะดวกสบาย ดังนั้น สินค้าจึงต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เช่น ผลไม้ที่เดิมใส่ห่อขายเป็นลูก อาจจะต้องหั่นเป็นชิ้นพร้อมไม้จิ้ม เพื่อความสะดวกในการรับประทาน หากเพิ่มพริกกะเกลือหรือเครื่องจิ้มอื่นไปในแพ็กเกจจิ้ง ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า นำมาสู่ยอดขายที่เติบโตขึ้น

3) สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพและการดูแลตัวเองอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการในกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าธัญพืช สินค้าที่มีส่วนผสมของสมุนไพร

4) สินค้าไซส์เล็ก ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ชอบทดลองสิ่งใหม่ ชอบความสะดวกสบาย และนิยมการอยู่คนเดียวหรือมีครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นหากผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค สินค้าควรบรรจุอยู่ใน Packagingที่เหมาะแก่การรับประทานในครั้งเดียว และในปริมาณที่เหมาะสำหรับการรับประทานแค่ 1-2 คน สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอุปโภคก็ควรปรับลดขนาดให้เล็กลง เช่น ครีม อาจปรับให้อยู่ในรูปแบบซอง เพื่อความสะดวกในการพกพา ในราคาที่จับต้องได้

5) สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่มักมองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงตัวสินค้าและ Packaging ต้องตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

6) สินค้าต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เทรนด์ความสนใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือ Local Lover มีแนวโน้มเติบโตอีกครั้งในช่วงหลังการคลี่คลายของสถานการณ์ COVID-19 ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าท้องถิ่นสามารถขึ้นทะเบียนขอรับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยืนยันว่าเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพและมีแหล่งที่มาจากท้องถิ่นนั้นๆ จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มฐานลูกค้าประจำของสินค้าท้องถิ่นนั้นๆ ขณะเดียวกัน หากนำมาพัฒนาต่อยอดก็จะทำให้ได้ฐานลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่เพิ่มเติม

7) สินค้าที่มีนวัตกรรม นวัตกรรมยังคงเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับคู่แข่งในตลาดแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ถึงแม้จะเป็นสินค้าพื้นบ้านก็มีโอกาสเติบโตใด้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต เช่น แหนมสุทธิลักษณ์ ที่นำเอาเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้กับการถนอมอาหารประเภทแหนม เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมู สามารถช่วยยืดอายุการจัดเก็บสินค้าให้ยาวนานถึง 2 เดือน โดยปราศจากสารกัมมันตรังสีตกค้าง สามารถรับประทานได้ทันทีไม่ต้องนำไปผ่านความร้อน ปัจจุบันมีจำหน่ายทั่วประเทศ

ดังนั้น ผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการตีตลาด 7-11 หรือตลาดภายในประเทศ สามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์กับธุรกิจของท่านใด หากท่านต้องการมีความรู้ด้านธุรกิจที่นำเทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปช่วยพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจของท่าน สามารถขอคำปรึกษาหรือเข้าร่วมแผนงานต่างๆของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคได้ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค พร้อมให้บริการทั้ง 4 ภาค ได้แก่

1) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมมหาวิทยาลัยเครือข่าย 6 แห่ง (ม.แม่โจ้ ม.พะเยา ม.แม่ฟ้าหลวง ม.นเรศวร มรภ.พิบูลสงคราม และมรภ.อุตรดิตถ์)

2) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น และ ม.มหาสารคาม

3) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.นครราชสีมา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ ม.อุบลราชธานี

4) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ จ.สงขลา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ / ม.วลัยลักษณ์ และ ม.ทักษิณ

และ โครงการนำร่องภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) และ ม.บูรพา 

ใกล้ตรงไหน เข้าไปปรึกษาหารือ ได้เลยค่ะ

อ้างอิงจาก https://www.cpall.co.th/news/organization/sme-product-2023


เขียนโดย : น.ส.พรทิพย์  เพิ่มวรัญญู สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : pronthip.p@mhesi.go.th

การได้ทราบถึงเทรนธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมของคน ณ ปัจจุบัน ที่จะเป็นลูกค้าของเราในอนาคต และจะได้นำไปใช้ในการวางแผนการต่อยอดหรือการดำเนินธุรกิจใหม่ๆได้

เขียนโดย ดร.สุมนรัตน์  ริยาพันธ์