“หอยนางรม” ถือว่าเป็นอาหารเจหรือไม่ !?   178

คำสำคัญ : food    
เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจมาถึง คนที่กินเจทั้งหลายนอกจากจะคร่ำเคร่งไปกับการสร้างบุญสร้างกุศลแล้ว ยังคงฝักใฝ่อยู่กับการละเว้นกินเนื้อสัตว์และอาหารต้องห้ามในเทศกาลกินเจกันอย่างเคร่งครัดเป็นที่ทราบกันดีว่าการกินเจนั้นกินเพื่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายสมดุล ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตร่วมโลก และกินด้วยจิตเมตตา ไม่เพิ่มกรรมในการฆ่าสัตว์สิ่งมีชีวิต และด้วยเหตุนี้อาจทำให้ใครหลายคนสงสัยว่าทำไม “หอยนางรม” จึงถูกยกเว้น สามารถกินได้ในช่วงเทศกาลอาหารเจ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้ว่า “หอยนางรม” เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง และแท้จริงแล้ว “หอยนางรม” สามารถกินได้จริงหรือไม่ ? 
หอยนางรม เป็นหอยที่มีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยงกันอยู่โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ด้วยกันคือ หอยนางรมพันธุ์เล็กหรือหอยนางรมปากจีบ เลี้ยงมากทางภาคตะวันออก ส่วนหอยรมอีกสองพันธุ์ที่เหลือเป็นหอยนางรมที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่เรียกว่า หอยตะโกรม และหอยตะโกรมกรามดำ แม้ว่าจะมีการเลี้ยงกันบ้างในภาคตะวันออก แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตจังหวัดในภาคใต้
 
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “หอยนางรม” สามารถกินในช่วงเทศกาลเจได้จากตำนาน โดยมีเรื่องเล่าขานกันถึง 2 เรื่องคือ
 
1.ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน
 
เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน หรือต่อมาคือเจ้าแม่กวนอิม ได้พาประชาชนที่นับถือในพระพุทธศาสนาหนีจากการเข่นฆ่าของพระเจ้าเมี่ยวจวง แล้วลงเรือออกทะเลทั้งหมดใช้ชีวิตอยู่บนเรือเป็นเวลานานจนเสบียงเริ่มหมด ทำให้เกิดความหิวโหยด้วยความที่กินอาหารเจเลยไม่สามารถจับสัตว์ทะเลกินได้ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านจึงอธิษฐานว่า “ถ้าจุ่มไม้เท้าลงไปในทะเล สัตว์ใดถึงฆาตก็ขอให้ติดไม้เท้าขึ้นมาให้กินด้วยเถิด” หลังจากจุ่มไม้ลงไปก็มีหอยนางรมติดขึ้นมาจึงทำให้เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านกิน “หอยนางรม” เกิดเป็นเรื่องเล่าตกทอดรุ่นสู่รุ่นเกิดเป็นตำนานที่ยึดปฏิบัตต่อ ๆ กันมา
 
2.ตำนานพระถังซัมจั๋ง
 
เมื่อครั้งพระถังซัมจั๋ง และลูกศิษย์เดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) ก็ได้ลงเรือข้ามมหาสมุทร นานวันเข้าเสบียงที่นำมานั้นหมด พระถังซัมจั๋งจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากเอาไม้เท้าจุ่มลงไปในทะเล สัตว์ชนิดไหนติดขึ้นมาก็ขอให้รับการยกเว้นสามารถกินได้ ขอจงปรากฏขึ้นมาเป็นภัตตาหารด้วยเถิด” ปรากฏว่าหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดินเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าหอยนางรมเป็นของเจ ผู้ที่กินเจจึงสามารถรับประทานหอยนางรมได้
 
แต่ทั้ง 2 ตำนานมีความคล้ายคลึงกันตรงที่การเดินทางออกทะเลด้วยหนทางที่ยาวไกลและใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลมาเป็นเวลานาน จนเสบียงต่าง ๆ บนเรือนั้นเริ่มหมดไป ก็ทำให้เกิดความหิวโหย แต่ครั้นจะหาจับสัตว์หรือปลาในท้องทะเลกินนั้นก็จะเป็นการทำบาปต่อสัตว์โลก ไม่ตรงจุดประสงค์ในการมาแสวงบุญ ทุกคนจึงอธิฐานว่า จะลองเอาไม้พายจุ่มลงไปในทะเล ถ้าหากมีสิ่งใดติดขึ้นมาก็จะกินสิ่งนั้นเป็นอาหาร ปรากฎว่ามีหอยนางรมติดไม้พายขึ้นมา ก็เลยนำหอยนางรมขึ้นมากินเป็นอาหาร จากเรื่องเล่านี้เองที่ทำให้หอยนางรมเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ในช่วงกินเจ บางตำนานก็กล่าวว่า หอยนางรมเป็นสัตว์ที่ไม่มีเลือดสามารถกินได้ในช่วงเทศกาลกินเจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคนว่า สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะนี่ก็เป็นเพียงตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้นเอง
 
อย่างไรก็ตามในลัทธิมหายานที่เคร่งครัดในการปฏิบัติ จะไม่รับประทานหอยนางรมเด็ดขาด และที่เป็นที่สังเกตคือในแต่ละตำนานมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ตกอยู่ในภาวะขับขัน ทำให้เกิดความหิวโหย จึงจำเป็นต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคนว่า สมเหตุสมผลหรือไม่ ? เพราะนี่ก็เป็นเพียงตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้น อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่ต้องการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อย่างแท้จริงก็จะถือว่าหอยนางรมเป็นสิ่งมีชีวิต และเลือกที่จะไม่กินหอยนางรมในช่วงเทศกาลกินเจ

ประโยชน์จากการกินหอยนางรม

หลายคนคงทราบว่าหอยนางรมสดช่วยในเรื่องสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย  สาเหตุที่ทำให้หอยนางรมนั้นเป็นที่หมายปองสำหรับหนุ่มๆ ที่อยากเพิ่มความปึ๋งปั๋งให้กับตัวเอง นั่นก็เพราะในหอยนางรมสดนั้นมีปริมาณ แร่ธาตุสังกะสี สูงกว่าอาหารประเภทอื่น ซึ่งเจ้าสังกะสีนี้เองที่ช่วยทำให้สเปิร์มของท่านชายทั้งหลายคึกคักและสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังมีสารคล้ายฮอร์โมนชื่อ พลอสตาแกลนดิน ที่ทำให้ร่างกายมีความตื่นตัวและตอบสนองทางเพศได้ดีอีกด้วย แถมยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดต่อมลูกหมากบวมอักเสบได้อีกต่างหาก

อันตรายจากการกินหอยนางรมสด

หอยนางรม มีคุณค่าทางโภชนาการสูงก็จริง  แต่การกินหอยนางรมสด ๆ นั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่ง  องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ได้เตือนว่าการกินหอยนางรมสดนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มความคึกคักทางเพศแล้ว ยังทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ "วิบริโอ พาราเฮโมไลติคัส" ซึ่งเป็นแบคทีเรียขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปตามน้ำทะเลบริเวณปากอ่าวแม่น้ำ และบริเวณชายฝั่งทะเลปิด ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในสัตว์น้ำเกือบทุกชนิด แต่มีโอกาสพบมากในสัตว์ประเภทหอย และหากร่างกายได้รับเชื้อดังกล่าว จะทำให้เกิดอาการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ทำให้เกิดอาการท้องเสียและมีไข้สูง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนๆ แบบนี้ ยิ่งจะยิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มไปอีก

นอกจากนี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย เอง ก็เคยเตือนเรื่องกินหอยนางรมเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง จึงทำให้การกินหอยนางรมนั้นไม่ใช่แค่การเพิ่มแร่ธาตุสังกะสีเพื่อเสริมความปึ๋งปั๋งเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายสะสมคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ดังนั้นหากจะรับประทานหอยนางรมสด ก็ควรหันมาทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเอาจริงๆ แค่หอย 2-3 ตัวก็ได้แร่ธาตุสังกะสีและคอเลสเตอรอลเกินพอแล้วสำหรับร่างกาย หรือถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นก็เอาหอยนางรมมาผ่านความร้อนสักนิดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และไม่ต้องกลัวว่าวิธีนี้จะทำให้แร่ธาตุต่างๆ หายไป

ที่มา

http://food.spokedark.tv/2013/03/25/oyster/#.VhSHyuyqqko

http://cooking.kapook.com/view97461.html

https://th.wikipedia.org/wiki/หอยนางรม

https://www.wongnai.com/food-tips/are-oyster-j-food

 


เขียนโดย : น.ส.ศิริเบญจารัตน์   ฮาวต่อมแก้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : siribenjarut.h@mhesi.go.th