กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ "การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ"  36

คำสำคัญ : การจัดซื้อจัดจ้าง  กฎหมาย  พัสดุ    

การจัดซื้อจัดจ้าง  หมายถึง การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ได้แก่ การซื้อ การจ้าง การเช่า และการแลกเปลี่ยน

ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

โดยการจัดซื้อจัดจ้างนั้น มีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยึดหลักการ “คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” เช่น มีการกำหนดราคากลาง เพื่อเป็นฐานในการเปรียบเทียบราคาของผู้ยื่นข้อเสนอ มีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ซึ่งต้องไม่กำหนดให้ลักษณะของพัสดุมีลักษณะใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่ง ยกเว้นพัสดุนั้นมีอยู่ยี่ห้อเดียว หรือต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น ไม่เปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นข้อมูลทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือการดำเนินการตามกฎหมาย และบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอราคา หรือคู่สัญญานั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันของผู้เสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นต้น โดยต้องคำนึงถึงกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใส และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เน้นการวางแผนและประเมินผลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตรวจสอบป้องกันการทุจริตเป็นสำคัญ

คำถามที่พบบ่อยในการจัดซื้อจัดจ้าง ??

การพิจารณาใช้งบประมาณเพื่อการซ่อมแซม และ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง

หลักการจำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณ จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. รายจ่ายของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประกอบด้วย งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น
2. รายจ่ายงบกลาง

โดยที่
>>> การซ่อมแซม : การซ่อมการดำเนินการและหรือการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบอันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้คงสภาพหรือใช้งานได้ตามปกติดังเดิม ----- (งบดำเนินงาน)
>>> การปรับปรุง : การแก้ไขการกระทำและหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้สิ่งก่อสร้างซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วคงสภาพเดิมหรือให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้นมีอายุการใช้งานเพิ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ----- (งบลงทุน)
 

วัสดุแตกต่างจากครุภัณฑ์อย่างไร

วัสดุ มี 3 ประเภท ประกอบด้วย
>>> วัสดุคงทน ได้แก่ สิ่งของที่มีลักษณะคงทนแต่มีอายุการใช้งานไม่ยืนนาน เกิดความชำรุดเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ หรือซ่อมแซมแล้วไม่คุ้มค่า
>>> วัสดุสิ้นเปลือง ได้แก่ สิ่งของที่โดยสภาพมีลักษณะเมื่อใช้แล้วย่อมสิ้นเปลือง หมดไป แปรสภาพหรือเปลี่ยนสภาพไปในระยะเวลาอันสั้น หรือไม่คงสภาพเดิม
>>> วัสดุอุปกรณ์ ประกอบและอะไหล่ ได้แก่ สิ่งของที่ใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบหรืออะไหล่ สำหรับการซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์สินให้กลับคืนสภาพดังเดิมที่มีลักษณะเป็นการซ่อมบำรุงปกติหรือค่าซ่อมกลาง

ครุภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของที่โดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานยืนนาน เมื่อชำรุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดังเดิม
 

การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ??

และหากมีการลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวนั้นออกเป็นหลายครั้ง โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นและมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง เพื่อที่ต้องการแบ่งวงเงินให้ลดลง เพื่อเปลี่ยนวิธีจัดหาพัสดุ หรือประสงค์ให้ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ สั่งจ้าง เปลี่ยนไป อาจถือได้ว่ามีเจตนา “แบ่งซื้อแบ่งจ้าง


สรุปข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพ การปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน ววน. ระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1
ในหัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ ห้องอบรม 320  ชั้น 3 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ

ทั้งนี้ ผู้อ่านโปรดศึกษากฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่กล่าวในบทความเพิ่มเติม
หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ค่ะ


เขียนโดย : น.ส.จิณห์นิภา  พลีทอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jinnipa.p@mhesi.go.th