บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4ภาค  58

คำสำคัญ : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  อุทยานวิทยาศาสตร์  อุตสาหกรรม  ภูมิภาค  scipark  

บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4ภาค

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park: RSP) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับระบบการวิจัยผ่านการเชื่อมโยงด้านความรู้ เทคโนโลยีบุคลากร ผู้ชำนาญ หรือนักวิจัย เครื่องมือ เครื่องทดสอบ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินการที่มีส่วนร่วมระหว่าง 4 ภาคส่วน (Quadruple Helix) ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงผลักดันให้เกิดการยกระดับงานวิจัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง (R&D Utilization) เกิดการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อมโยงองค์ความรู้ทุกภาคส่วนสู่ธุรกิจนวัตกรรม

ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นสังคมคุณภาพ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และเป็นแกนนำหลักในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคต

การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภูมิภาค (Regional Economic Corridor) ประกอบด้วย ภาคเหนือ (NEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และภาคใต้ (SEC) โดยในแต่ละภูมิภาคมีความโดดเด่นและมุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยีเป้าหมายที่แตกต่างกันตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีความสอดคล้องกับศักยภาพด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่น (Supply Side) ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถผลักดันให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมและตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต

       โดยมีกลไกการขับเคลื่อนเทคโนโลยีมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่

(1) การกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภูมิภาค เพื่อวางเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคตด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี ทั้งในมิติโครงสร้างพื้นฐานหรือเครื่องมือ และมิติการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ผ่านการกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับกลไกการเชื่อมโยงระหว่างด้านอุปสงค์และอุปทานผ่านตัวกลางการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค สู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) สู่อุตสาหกรรมอนาคต (Future Industry)

(2) การเชื่อมห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ระหว่างบุคลากรกลุ่มเป้าหมายจากเทคโนโลยีเป้าหมายซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกลไกระบบนิเวศผ่านห่วงโซ่การผลิตและบริการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรสร้างศักยภาพผู้เชี่ยวชาญ โดยบุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ นักเทคโนโลยี (Technologists) ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) สู่การผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) นักอุตสาหกรรม (Industrialists) ผู้มีทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Existing Infrastructure) ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และนักพัฒนานวัตกรรม (Innovation builders) ตัวกลางผู้เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยง ผลักดัน สร้างคุณค่า และขยายผลงานนวัตกรรมให้มุ่งสู่อุตสาหกรรมอนาคต (Future Industry) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในด้านอุปสงค์ นำไปสู่การยกระดับ ผลักดันและพัฒนาระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม (Industrial Scale)

(3) การยกระดับหรือสร้างเครื่องมือหรือโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development and Utilization) ผ่านการส่งเสริมกลไก/มาตรการให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์เครื่องมือหรือโครงสร้างพื้นฐาน (Regulation Incentive) เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม และมุ่งสู่การเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภูมิภาค

โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันให้เกิด New s-curve โดยใช้เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมเป็นตัวเร่ง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ GDP ประเทศ โดยการเชื่อมห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ระหว่าง นักเทคโนโลยี (Technologists) นักอุตสาหกรรม (Industrialists) และนักพัฒนานวัตกรรม (Innovation builders) ให้เกิดการพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมอนาคต สู่การพัฒนา หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริการ การนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ เกิดการจ้างงานเพิ่ม และลดการนําเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศนวัตกรรม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเสริมพลัง ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่ และผลักดันไปสู่นโยบายที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นําไปสู่ความยั่งยืน


เขียนโดย : นางสาวทิพวัลย์  เวชชการัณย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tipawan@mhesi.go.th