จัดซื้อจัดจ้าง...ทำอย่างไรให้ถูก ?  67

คำสำคัญ : จัดซื้อจัดจ้าง  พัสดุ  ระเบียบ  กฎหมาย  
การจัดซื้อจัดจ้าง คือ “การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ”
พัสดุ หมายถึง สินค้า (วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง) งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษา งานจ้างออกแบบและควบคุมงาน
 
กว่า 60 % ของเรื่องที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นออกเป็น 3 เรื่อง ดังนี้
 
1. กฏหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
     เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการสิ่งใดได้ ต้องมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น ดังนั้น ประการแรก จึงต้องศึกษากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้ คือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติมี 15 หมวด 132 มาตรา โดยมีหลักการคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ทำให้ต้องมีกรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เปิดเผย โปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
โดย พรบ. 15 หมวด ได้แก่
     1) บททั่วไป
     2) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการ ป้องกันการทุจริต
     3) คณะกรรมการ
     4) องค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ
     5) การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
     6) การจัดซื้อจัดจ้าง
     7) งานจ้างที่ปรึกษา
     8) งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
     9) การทำสัญญา
     10) การบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ
     11) การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ
     12) การทิ้งงาน
     13) การบริหารพัสดุ
     14) การอุทธรณ์
     15) บทกาหนดโทษ
 
2. ระเบียบ วิธีการงบประมาณ
     “เงินงบประมาณ” หมายความว่า เงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ เงินซึ่งหน่วยงานของรัฐได้รับไว้โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ไม่ต้องนาส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เงินซึ่งหน่วยงานของรัฐได้รับไว้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมาย และเงิน ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ตกเป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายหรือที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเรียกเก็บตามกฎหมาย และให้หมายความรวมถึงเงินกู้ เงินช่วยเหลือ และเงินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
     งบประมาณ เป็นต้นทางของการได้มาซึ่งพัสดุ ดังนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องศึกษาระเบียบวิธีการทางงบประมาณด้วย เพื่อให้ใช้งบประมาณได้ถูกต้องตามระเบียบ
ในส่วนของประเภทรายจ่ายของส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ งบดำเนินงาน และงบลงทุน
     "งบดำเนินงาน" หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานประจำ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว ใช้ในการจัดซื้อ/จ้าง วัสดุ ซ่อมแซม จ้างเหมาบริการ ค่าเช่า ค่าตอบแทนกรรมการ
   "งบลงทุน" หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการลงทุน ใช้ในการจัดซื้อ/จ้าง ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
     วัสดุ/ครุภัณฑ์ ใช้ประเภทงบประมาณต่างกัน แยกอย่างไร?
     "วัสดุ" มีอายุการใช้งานไม่ยืนนาน ใช้แล้วสิ้นเปลืองหมดไป เปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น หรือเป็นลักษณะวัสดุอุปกรณ์ประกอบและอะไหล่ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์สิน
     "ครุภัณฑ์" สิ่งของที่มีลักษณะคงทนถาวร อายุการใช้งานยืนนาน เมื่อชำรุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้
นอกจากนี้ มักมีความสับสน เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเภทงบประมาณในการซ่อมแซม ปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง
     "การซ่อมแซม" คือ การซ่อม การดำเนินการ และหรือการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบอันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้คงสภาพและหรือใช้งานได้ตามปกติดังเดิม ซึ่งต้องใช้ งบดำเนินงาน ในการดำเนินการ
     "การปรับปรุง" คือ การแก้ไข การกระทำ และหรือการดาเนินการอื่นใดเพื่อให้สิ่งก่อสร้างซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วคงสภาพเดิมหรือให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้นมีอายุการใช้งานเพิ่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้ งบลงทุน ในการดำเนินการ
    
3. ความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารสัญญา
     สำหรับการบริหารสัญญา รายละเอียดทั้งหมดจะถูกตราไว้ใน พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง หมวดที่ 10 (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งกระบวนการบริหารสัญญาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุงานซื้อ/งานจ้าง/งานก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่พัสดุในการทำงานร่วมกัน ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องศึกษาระเบียบ ต้องรู้หน้าที่ของตนเองในแต่ละกระบวนการ ซึ่งมีกรอบระยเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง
     ความเสี่ยงในกระบวนการบริหารสัญญาเกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง? 
     1) การกำหนดความต้องการที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาการออกแบบหรือการกำหนดคุณลักษณะ 
     2) การวางแผนการจัดหา ไม่เหมาะสม ทำให้ได้พัสดุไม่ทันตามกำหนดเวลาที่ต้องการใช้
     3) การกำหนดขอบเขตงาน (Term of Referent : TOR) เกี่ยวกับคุณภาพหรือคุณสมบัติทางด้านเทคนิคไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน
     4) การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ หรือขอบเขตงานเกี่ยวกับคุณภาพหรือคุณสมบัติทางด้านเทคนิคไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น
     การบริหารสัญญามีผลเสียอย่างไร?
     ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพัสดุที่จัดหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลเสียหายต่อโครงการที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพัสดุที่จัดหา หรืออาจทำให้ต้องใช้เวลาและต้นทุนเกินความจำเป็น
     จะลดความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างไร? ผู้ปฏิบัติงานสามารถยึดหลักการดังนี้
     - โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม สามารถชี้แจงได้ มีการแข่งขันอย่างแท้จริง
     - กำหนดคุณลักษณะเฉพาะ รูปแบบรายการที่ชัดเจน เป็นกลาง สอดคล้องและตรงกับความต้องการใช้งานและนโยบาย
     - ได้พัสดุที่ดีทั้งคุณภาพราคาระยะเวลาที่ต้องการเพื่อการใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มค่าของเงิน
 
 
กล่าวโดยสรุป คือ การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินนั้น 
* ต้องเป็นไปตามกฎหมาย/ ระเบียบ ฯ/ มติ ครม. 
* ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ตามเป้าหมาย ประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าเงิน 
* เป็นไปโดยรัดกุม เหมาะสม บริสุทธิ์ สุจริตและเป็นธรรม
* และ...คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญ...
 
ทั้งนี้
หากผู้บังคับบัญชา สั่งการให้ดำเนินการสิ่งใดก็ตาม แต่ผู้ปฏิบัติงานทราบว่าผิดระเบียบ ต้องทำการโต้แย้ง ทักท้วง ชี้แจง เสนอแนวทางที่ถูกต้อง ให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่ง โดยสามารถทำบันทึกโต้แย้งเป็นทางการ หากไม่เป็นผลหรือไม่สามารถทำได้ ให้แจ้งข้อเท็จจริงไปยังคณะกรรมการ ปปช. โดยจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หากมีผู้กล่าวหาในเรื่องดังกล่าว และต้องมีการสอบสวน เอาผิด ผู้แจ้งจะไม่ต้องรับโทษ 
ไม่ต้องกลัวเดือดร้อนในการแจ้งข้อเท็จจริง เนื่องจาก สำนักงาน ปปช. มีกระบวนการปกปิดข้อมูล มีกฎหมายกำกับ เพื่อคุ้มครองอยู่
 
 
สรุปข้อมูลจากการเข้าร่วมรับฟังการบรรยายเชิงปฏิบัติการ เรื่องกฎหมาย/ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
โดย นายมงคล วุฒินิมิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จันทร์คง อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 8.30 - 16.00 น. ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting)
ทั้งนี้ ผู้เขียนสรุปข้อมูลจากความเข้าใจของตนเอง ผู้อ่านโปรดศึกษาระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่กล่าวในบทความเพิ่มเติม
หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ค่ะ

เขียนโดย : น.ส.กมลวรรณ  สุนทรเกตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : kamonwan.s@mhesi.go.th

ยอดเยี่ยมครับ...

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ