กปว. - สกสว. : แฝดคนละฝา เพื่อการพัฒนางานร่วมกัน  106

คำสำคัญ : สกสว.  อว.ส่วนหน้า  อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค  แผนววน.  กองทุนววน.      

 

 

 

               จากการที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงาน สกสว. บล็อกนี้เราจะมาเสนอไอเดียการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน กปว.-สกสว. และเชื่อมโยงลงไปถึงระดับพื้นที่ที่มี อว.ส่วนหน้า เพื่อการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องการพัฒนางานภายใน กปว. และการพัฒนาบุคลากร กปว. ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำงานด้าน อววน. ลงสู่พื้นที่

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก กปว. กันก่อน...

               กปว. หรือ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง อว.  เราเป็นหน่วยงานบูรณาการงานด้าน อววน. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

นอกจากนี้ เรายังมีจุดแข็ง คือ มี “เครือข่าย” การทำงานในพื้นที่ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค คลินิกเทคโนโลยี หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence: CoE) รวมถึง อว.ส่วนหน้า ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ  เปรียบเสมือน Nerve Center เชื่อมโยงระบบประสาทสั่งการจากสมองไปทั่วร่างกาย 

 

ภารกิจของ กปว. จะมี 3 เรื่องหลักๆ ในการนำงานด้าน ววน. ไปใช้ประโยชน์ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Platform) พัฒนาเชิงสังคม (Social Development Platform) และพัฒนาระบบนิเวศด้าน ววน.

 

กปว. จึงเป็นเสมือน “ช่างเชื่อม” เชื่อมโยงการดำเนินงานจากนโยบายลงสู่พื้นที่ รวมทั้งรับโจทย์ความต้องการจากพื้นที่ขึ้นมาสู่ส่วนกลาง 

 

ทีนี้เรามาดูฝั่ง สกสว. กันบ้าง...

 

                 สกสว. หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว.  เป็นผู้ดูแลโครงสร้างภาพรวมระบบ ววน. และการบริหารจัดการงบประมาณ กองทุนส่งเสริม ววน.

 

โดยประเภทงบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. มี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

1. งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Fund; RI) แบ่งเป็น

          1.1 งบประมาณสำหรับการวิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย

                    (1) ทุนสนับสนุนงบมูลฐาน (Fundamental Fund; FF)

                    (2) ทุนสนับสนุนงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fund; SF)

          1.2 งบประมาณสำหรับการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization; RU)

2. งบประมาณด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Fund; ST)

 

 

ซึ่ง กปว. เราก็มีการพัฒนาโครงการตามภารกิจจากกลุ่มงานต่าง ๆ ภายในกอง และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ทั้ง FF, SF, ST, RU

 

                 อย่างไรก็ตาม!!!  นอกจากการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. นั้น  สกสว. ยังมี Flagship Project ที่สำคัญอีก 3 โครงการ  ซึ่ง เป็นโอกาสให้ กปว. นำ จุดแข็ง เข้าไปเติมเต็มกับ สกสว. เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ดังภาพที่เราฉายขึ้นมาตอนต้น

 

1. การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

          กปว. เรามี กลุ่มกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ (กอ.) ที่มีเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อน โดยได้มีการ Kick-off การพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (NEC, NeEC, CWEC และ SEC) ไปเมื่อวันที่ 1-2สิงหาคม 2567

 

โดยผู้เขียนคิดว่าสามารถเชื่อมโยงกลไกการดำเนินงานลงไปถึงระดับจังหวัดผ่าน อว.ส่วนหน้า ได้ดังแผนภาพ

 

2. การบูรณาการงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

กปว. เรามี กลุ่มประสานเครือข่าย อว. ในภูมิภาค (ปค.) อยู่ในพื้นที่ทั้ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้  โดยเฉพาะหน่วย ปค.ภาคใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ อว.ส่วนหน้า ได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นข้อต่อสำคัญในพื้นที่พหุวัฒนธรรมของภาคใต้ชายแดน

3. การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ด้วย ววน. ในพื้นที่นำร่อง

 

กปว. เรามี กลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ธท.) ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกลไกความร่วมมือ 4 ภาคส่วน (ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน) นำไปสู่การใช้ประโยชน์งานวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และภาคเอกชน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ

                    จะเห็นได้ว่า การไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาความร่วมมือ สามารถช่วยพัฒนาองค์กรควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรภายในได้อย่างแนบเนียน โดยใช้จุดแข็งที่เรามี ศึกษาธรรมชาติ จุดเด่นและความถนัดของบุคลากร เพื่อที่จะ Put the right man on the right job เลือกคนให้เหมาะกับงาน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ “การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ” ให้ทีมเข้าใจตรงกัน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน  องค์กรก็จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาเติบโตต่อไปได้

 

Put the right man on the right job เลือกคนอย่างไรให้เหมาะกับงาน

 

วิธีเลือกคนให้ตรงกับงาน? นับเป็นอีกหนึ่งคำถามที่สุดแสนจะคลาสสิกที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ เรียกได้ว่าถามง่ายตอบยาก เพราะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว อย่างไรก็ดีความสำคัญของการเลือกคนให้ตรงกับงาน หรือ Put the right man on the right job เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เพราะถ้าคุณเลือกคนทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลให้ทีมแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพให้ทีมในระยะยาว ส่งผลดีกับองค์กรอย่างแน่นอน

 

5 วิธีเลือกคนอย่างไรให้เหมาะกับงาน

ถ้าได้ “คนที่ใช่” เหมาะสมกับงาน ตรงใจคนในทีม ก็ยิ่งช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น ไม่ต้องมีใครมาแบกใคร

1. วิเคราะห์ลักษณะงานและความรับผิดชอบตำแหน่งงานนั้น

หนึ่งในวิธีเลือกคนทำงานให้ตรงใจที่หลาย ๆ องค์กรมักมองข้าม คือความเข้าใจในลักษณะงานของตำแหน่งงานนั้น รวมถึงความรับผิดชอบ ภาระงานต่าง ๆ ที่ตำแหน่งงานนี้ต้องแบกรับ ทั้งงานในส่วนความรับผิดชอบหลักและงานส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจาก Role งานจริง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นจิ๊กซอว์เล็ก ๆ ที่นำมาต่อกันแล้วเราจะเข้าใจถึงภาพใหญ่ได้ง่าย

ความเข้าใจดังกล่าว จะช่วยให้วิธีเลือกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทราบถึงความต้องการที่แน่ชัด ว่าต้องการคนที่มีทักษะและความรู้ที่จำเป็นสไตล์ไหน นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงลักษณะบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตำแหน่งงานนั้นอีกด้วย

2. ประเมินทักษะ ความรู้และบุคลิกภาพ

จะเห็นได้ว่าวิธีการเลือกคนทำงานในปัจจุบัน มักมีให้ทำเทสต์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีตัวเลือก Candidate จำนวนมาก ทั้งความรู้เฉพาะในสายงาน เทสต์ที่วัดระดับความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางด้านสติปัญญา ไปจนถึงคำถามทางจิตวิทยาเพื่อดูบุคลิกลักษณะว่าเป็นไปในทางเดียวกับทีมไหม ถ้าดูแล้วคนละสไตล์กับคนในทีม ต่อให้เก่งแค่ไหนแต่เข้ากับทีมไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์

นอกจากนี้ การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเลือกคนที่น่าสนใจ ดูว่าจุดแข็งที่เขามีตรงกับสิ่งที่คุณกำลังตามหาไหม หรือจุดอ่อนนั้นสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ หรือจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นจุดอ่อนที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นจุดอ่อนที่ดูแล้วไม่สามารถแก้ไขและมีผลต่องาน ต่อให้โปรไฟล์จะว้าวแค่ไหน จุดแข็งแบบใด การคัดออกย่อมน่าจะเป็นผลดีกว่าการรักษาไว้

3.ตรวจสอบประสบการณ์และการศึกษา

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ย่อมพอจะบอกถึง Framework ความสนใจและความเชี่ยวชาญในสายอาชีพของ Candidate ได้ ว่างานที่เขาทำพอจะตรง หรือมีทักษะไหนที่ตอบโจทย์ ดูแล้วพอจะสู้ไหวไหมกับคนที่คุณต้องการ หรือถ้าเรียนมาไม่ตรงสาย อะไรคือ Passion ที่ทำให้เขาเปลี่ยนมาทำงานสายนี้ ซึ่งถ้าเหตุผลเป็นอะไรที่ชวนว้าว ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ทั้งนี้ ประสบการณ์และการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเลือกคนที่สำคัญ ช่วยในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของบุคคลได้เป็นอย่างดี

4.เลือกคนที่เข้าใจและมี Passion กับงาน

วิธีเลือกคนที่สำคัญ คือ พยายามหาคนที่มีความเข้าใจและแพชชันในการทำงาน ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายใหญ่โต ขอแค่มีใจที่พร้อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และลุยให้สุดกับงานในตำแหน่งนี้ เพราะการที่องค์กรได้คนที่เข้าใจและมี Passion เข้ามาทำงาน คนกลุ่มนี้จะมีมุมมองเชิงลึกที่ประโยชน์ต่อองค์กรกว่าคนอื่น และยิ่งถ้าเป็นคนที่สามารถคิดวิเคราะห์ ตีโจทย์แตก ก็จะสามารถสร้างประสิทธิภาพให้กับทีมงานและองค์กรในระดับสูงเลยทีเดียว

5. ดูลักษณะนิสัยประกอบการตัดสินใจ

นิสัย ความชอบส่วนตัว ความคิด ทัศนคติ มุมมองต่าง ๆ ก็พอจะคาดคะเนบุคลิกคนได้ว่า เป็นแบบไหน มีความคิดเป็นอย่างไร อยู่ร่วมกับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่

 

วิธีเลือกคนให้เหมาะสมกับงานสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เข้าใจในความต้องการที่ชัดเจน คนแบบไหน Say Yes คนแบบไหน Say No ก็จะทำให้คุณได้คนทำงานที่ตรงใจและเหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กรดีขึ้น คนทำงานแฮปปี้

-----

ขอขอบคุณ

- ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

- บทความจาก  https://th.employer.seek.com/th/market-insights/article/put-the-right-man-on-the-right-job


เขียนโดย : มัชฌิมา  นันทรัตน์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : -