แผนงานภายใต้การดำเนินกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคประจำปี 2567  253

คำสำคัญ : scipark  กปว.  RSP  อุทยานวิทยาศาสตร์  อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค  

“อุทยานวิทยาศาสตร์” คือเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้เพื่อการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยมีบุคลากรวิจัยและกิจกรรมวิจัยพัฒนาของหน่วยงานวิจัยของภาคเอกชน ภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาในจำนวนที่มากพอ มีพื้นที่ห้องปฏิบัติการ มีเครื่องมือวิจัยคุณภาพสูงและมีการบริหารจัดการให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมวิจัยพัฒนาของหน่วยงานดังกล่าว เพื่อให้กิจกรรมวิจัยพัฒนาเกิดการขยายผลในเชิงพาณิชย์หรืออาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนรวมทั้งมีบริการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและรองรับกิจกรรมวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมและส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีโดยผ่านกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubation) หรือกระบวนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่แยกออกจากหน่วยงานเดิม (spin-off) หรือ กระบวนการอื่น ๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจซึ่งใช้นวัตกรรมเป็นฐานเพิ่มขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่องและมีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับการดำเนินชีวิตและเพิ่มพูนผลิตภาพของบุคลากรซึ่งทำงานอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นอุทยานวิทยาศาสตร์จึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคเศรษฐกิจที่ใช้องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 เห็นชอบโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้) พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการ จำนวน 8,642 ล้านบาท โดยจัดสรรเป็นงบอุดหนุนผ่านทางสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม) ซึ่งแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ของตนเองและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มุ่งเน้นเรื่องข้าว อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งเน้นเรื่องไก่และปศุสัตว์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มุ่งเน้นเรื่องยางพาราและปาล์ม

การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและพัฒนาในภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจรในภูมิภาค ตลอดจนเป็นแหล่งพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ (Technology commercialization) รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถต่อยอดเพิ่มเติมในเชิงธุรกิจได้
  • เพื่อเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนและสร้างมวลรวมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคและเพื่อเป็นแหล่งกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในภูมิภาค
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) นำผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมจะดำเนินการในเชิงธุรกิจ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้กับสินค้าและบริการ
  • เพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภูมิภาค อาทิเช่น กลุ่ม Food, Agriculture, Bio-technology กลุ่ม Health & Wellness และ Bio-medical กลุ่ม Smart Devices, Robotics และ Mechatronics กลุ่ม Digital, Internet of Things และ Embedded Technology และกลุ่ม Culture, Creative และ High Value Servicesทั้งนี้อุทยานวิทยาศาสตร์ จะเป็นแหล่งรวมของงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนคลัสเตอร์ของภูมิภาค ทำให้มีการต่อยอดงานวิจัย เกิดความร่วมมือและการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์และช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

แนวทางการดำเนินงาน

          อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีหน้าที่ในการดำเนินงานบริหาร กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานและตัวชี้วัดความสำเร็จตามเป้าหมายที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกำหนด โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานผ่านมหาวิทยาลัยแม่ข่ายของแต่ละภูมิภาค

ขอบเขตการดำเนินงาน

          อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคดำเนินงานในปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 4 แผนงานหลัก ดังนี้

  1. แผนงานพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์

แผนงานพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ดำเนินการโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ให้มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนความเชี่ยวชาญชำนาญที่มีอยู่แล้วในระดับหนึ่งให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยแบ่งภารกิจหลักออกเป็น ๒ ด้าน คือการให้บริการ และการพัฒนาศักยภาพอุทยานวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม ดังนี้

  • การให้บริการห้องปฏิบัติการแก่ภาคอุตสาหกรรม
  • บริการออกแบบนวัตกรรม
  • การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคอุตสาหกรรม
  • สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม(Office of Industrial Liaison : OIL)

โดยในระยะแรกนั้นจะมุ่งเน้นการให้บริการแก่อุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Value chain) ของอุตสาหกรรมที่เป็น Flagship ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มในโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมไก่ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

  1. แผนงานบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

การบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubation) เป็นกิจกรรมสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และมีศักยภาพที่จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจนั้นมักมีโอกาสรอดสูง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นในหลายประเทศจึงเลือกใช้กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจในการฟูมฟัก และสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะแบ่งการสนับสนุนผู้ประกอบการเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ผู้ประกอบการขั้นพื้นฐาน และผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม

อีกกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการนี้คือ กิจกรรมเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ : Research to Market (R2M) มุ่งเน้นเพื่อสร้างความตระหนักและวัฒนธรรมการประกอบการ สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีโดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ประกอบการในอนาคตอันใกล้ คือ นักศึกษา นักวิจัยและบุคคลทั่วไป ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกทราบและเข้าใจบทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งการแข่งขันแบ่งออกเป็นระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

นอกจากนี้ กิจกรรม RSP New Release ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจฯ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ให้ได้พบเครือข่ายหรือหน่วยงานที่จะสามารถช่วยต่อยอดในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยีได้ โดยผู้ประกอบการตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกจากทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จะได้โอกาสแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อเฟ้นหา RSP First ที่มีโอกาสสูงในการเติบโตทางธุรกิจต่อไป และยังเป็นโอกาสในการทำความรู้จักกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจ

  1. แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่

เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้าไปทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจับคู่นวัตกรรมในรูปแบบของการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การฝึกอบรมการเสาะหาเทคโนโลยีจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดการค้าสากลได้อย่างเข้มแข็ง โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางเทคโนโลยีของภาคเอกชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการแก้ปัญหาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน รวมถึงการเข้าถึงการให้บริการทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้บริการครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ แผนงานนี้ยังจะเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น อันจะเป็นการสร้างฐานผู้ใช้บริการต่าง ๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ในอนาคต

4. แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน

การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative research) เป็นกลไกที่จะช่วยส่งเสริมภารกิจการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนของประเทศมีศักยภาพในการทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยที่เป็นการวิจัยตามปัญหาหรือโจทย์วิจัยของภาคเอกชนยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่การดำเนินงานวิจัยร่วมจะอยู่ในรูปแบบโครงการวิจัย ที่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการวิจัย และทำการถ่ายทอดผลงานวิจัยนั้นสู่ภาคเอกชนหลังที่ผลวิจัยประสบความสำเร็จ ซึ่งการวิจัยในรูปลักษณะนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในงานวิจัยอย่างแท้จริง ขาดความต่อเนื่อง และไม่ได้เพิ่มศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาให้แก่ภาคเอกชนมากนัก

แผนงานวิจัยร่วมระหว่างภาคเอกชนและอุทยานวิทยาศาสตร์นี้จะมุ่งเน้นงานวิจัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในระดับห้องปฏิบัติการ (lab scale) และพร้อมที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในงานวิจัยนั้นทั้งในด้านการร่วมทุนและการดำเนินงานวิจัย โดยคาดหวังว่าผลการวิจัยนั้นนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว ยังต้องสามารถส่งเสริมศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนด้วย ทั้งการตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาต่อธุรกิจ การพัฒนาหน่วยงานวิจัยและบุคลากรทางด้านวิจัยของภาคเอกชนรวมถึงเป็นการสร้างฐานลูกค้าของอุทยานวิทยาศาสตร์ในอนาคต โดยในปี 2567 นี้ จะมุ่งเน้นการร่วมวิจัยกับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดผลกระทบระดับสูงในการดำเนินงาน สร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และสร้าง Anchor tenant สำหรับอนาคต และจะมีการจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) ระหว่างผู้ปฏิบัติงานจากทุกภูมิภาคด้วย


เขียนโดย : ดร. มุทธมาศ  วงศ์วานิช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : muttamas.w@mhesi.go.th