รายงานผลการเรียนรู้ การฝึกอบรมหลักสูตร Public Sector Leadership Programme ณ Nanyang Technological University สาธารณรัฐสิงคโปร์ ทุนรัฐบาลฝึกอบรมในต่างประเทศ (ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐสมรรถนะสูง) ประจำ  285

คำสำคัญ : SmartNation    Geopolitics    US-ChinaTradeWar  

ย้อนไปเมื่อราวกว่า 50 ปีที่แล้ว ในวันที่ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 สาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเพียงเกาะขนาดเล็กที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและเต็มไปด้วยผู้คนยากไร้ ประชากรบนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ ไม่มีแม้กระทั่งน้ำจืดสำหรับบริโภคอุปโภคอย่างเพียงพอ จากประเทศที่แทบจะเริ่มต้นจากติดลบ จนผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) เพียงหนึ่งเดียวในอาเซียน (ASEAN) ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ต่อสู้ดิ้นรนและพัฒนามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่นายลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้เล็งเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศนี้ คือ “มนุษย์” และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ “การศึกษา” ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญต่อนโยบายการศึกษาอย่างสูงสุด โดยได้มีการปฏิรูปคุณภาพของระบบและมาตรฐานการเรียนการสอนของประเทศอย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นที่สำคัญของการศึกษาของสาธารณรัฐสิงคโปร์ มี 3 ประการ ได้แก่

(1) บุคลากรครูคุณภาพสูง หลังจบการศึกษา บุคลากรครูต้องเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) เป็นเวลา 1 ปี เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครูแล้วต้องได้รับการประเมินและพัฒนาในทุก ๆ ปี

(2) การเรียนการสอนสองภาษาและโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์เริ่มต้นจากการหลอมรวมของประชากรหลายเชื้อชาติ โดยมีสัดส่วนเชื้อสายจีน 77%มาเลย์ 15%อินเดีย 7%และเชื้อสายอื่น ๆ อีก 1% ซึ่งแต่ละเชื้อชาติต่างก็มีการใช้ภาษาเป็นของตัวเองแตกต่างกันไป ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงถูกนำมาสู่ระบบการเรียนการสอน และหลอมรวมให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ จนทำให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้และกลายมาเป็นเป็นหลัก ส่วนภาษาที่สองก็เป็นภาษาของแต่ละเชื้อชาติ

(3) ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีการพัฒนาแผนการเรียนและหลักสูตรใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อประชาชนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีงบประมาณสนับสนุนให้ประชาชนทุกคน สามารถศึกษาเพิ่มเติมในทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

จากการที่สาธารณรัฐสิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ดี และประชากรสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations: MNCs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทฝั่งตะวันตกที่มีความต้องการแรงงานที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ

ภายหลังการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ พบว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น “ความโปร่งใส” จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาดังนั้น ในช่วงหลังการแยกตัวเป็นเอกราช รัฐบาลภายใต้การนำของนายก ลี กวน ยู จึงได้ย้ายสำนักสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (CPIB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1952 มาอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และทำการปฏิรูปกฎหมายป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน ให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตัดสินลงโทษผู้ต้องหาที่มีพฤติกรรมโน้มเอียงไปในทางไม่ซื่อสัตย์ได้อย่างรวดเร็วและฉับไว ซึ่งหากผู้ต้องหาถูกตัดสินว่าทุจริตจริง ก็จะได้รับโทษอย่างรุนแรง นอกจากโทษทางกฎหมายแล้ว ผู้ต้องหายังต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่ทำการทุจริตด้วย

ต่อมาในปี 1989 รัฐบาลสิงคโปร์ ได้มีการเพิ่มผลตอบแทนให้กับข้าราชการ เพื่อจูงใจให้คนเก่งเข้ารับราชการ และลดการรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ใช้เวลาต่อสู้กับการคอร์รัปชันมาเป็นเวลากว่า 50 ปี จนกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ในอันดับต้น ๆ ของโลกในปัจจุบัน

การมีระบบบริหารที่มีความโปร่งใส ทำให้สาธารณสิงคโปร์สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ ถนนหนทาง และระบบขนส่งมวลชน ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเริ่มดำเนินนโยบายการเป็นเมืองท่าปลอดภาษี (Free Port) มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970การมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีสาธารณูปโภคครบครัน มีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ และมีแรงงานที่มีทักษะสูง ทำให้สาธารณรัฐสิงคโปร์กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่ง รวมถึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลระดับโลก โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (Refined Oil) รายใหญ่ของโลก ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ และไม่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบในประเทศเลยก็ตามและการมีบุคลากรที่มีทักษะสูงและสามารถสื่อสารได้หลายภาษา ทำให้สาธารณรัฐสิงคโปร์สามารถพัฒนาทักษะด้านการให้บริการในระดับสูง ทั้งในภาคการเงิน ภาคการประกันภัย และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งภาคบริการเหล่านี้ มีสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของ GDP จนส่งผลให้สาธารณรัฐสิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และพัฒนามาเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันอันดับต้น ๆ ของโลกในหลากหลายมิติ

ปัจจุบัน สาธารณรัฐสิงคโปร์ ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง อาทิเช่น ถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมทางการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็ยังมีแผนการปฏิรูปการศึกษาในปี 2024 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยจะมีการยกเลิกการแบ่งสายนักเรียนมัธยม เพื่อให้เยาวชนได้ทำตามสิ่งที่ตนเองถนัด และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ถึงแม้สนามบินสิงคโปร์ชางงี (Singapore Changi Airport)จะครองตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดในโลกถึง 8 ปีซ้อน (นับถึงปี 2023) แต่ก็ยังมีแผนการขยายเทอร์มินัลสนามบิน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้นไป

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้กล่าวมา อาจสรุปได้ว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่ได้มองหาคำว่า “ดีที่สุด” แต่สิงคโปร์ในวันนี้ ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ “ดีกว่าเดิม” เพราะคำว่าดีที่สุดที่หมายถึงได้ที่ 1 แล้ว อาจมีการหยุดพัฒนา แต่คำว่าดีกว่าเดิม คือ การพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง ทำให้สิงคโปร์ยังคงรักษาที่ 1 แบบทิ้งห่างผู้ตามไปอย่างขาดลอย

สาธารณรัฐสิงคโปร์ในการเป็น Smart Nation

จากข้อมูลที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีการขับเคลื่อนด้วยธุรกิจเป็นหลักและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเกิดจากปัจจัยสามข้อหลัก ได้แก่

(1) การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและเงินทุน สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างยั่งยืนและมั่งคั่ง เนื่องจากยึดหลักนโยบายเปิดกว้างต่อเงินทุนต่างชาติและเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน และสนับสนุนตลาดที่มีการแข่งขันสูง รวมทั้งถือว่าเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีนำเข้าน้อยมาก เพื่อดึงดูดการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ

(2) การสร้างงานและดึงดูดแรงงานศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศ ด้วยสาธารณรัฐสิงคโปร์มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติให้พึ่งพา ดังนั้น จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับทรัพยากรมนุษย์ ทำให้มีการทำงานเชิงนโยบายอย่างหนักเพื่อลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาเสริมสร้างทักษะ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ผลิตแรงงานระดับสูงของโลก

(3) การสร้างนวัตกรรม สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีการลงทุนอย่างหนักเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี  

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักสามข้อในข้างต้น สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ มีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีความมั่นคงและแข็งแรง และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลากหลายที่มีการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงกับตลาดอื่น ๆ ในระดับโลกซึ่งปัจจัยหลักดังกล่าว เป็นเหตุผลให้สิงคโปร์กลายเป็นภาพสวรรค์ของการลงทุนและดำเนินธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากยุทธศาสตร์การบริหารประเทศอย่างเฉียบแหลม อันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในปี 2014 สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้มีการประกาศแผน “สมาร์ทเนชั่น (Smart Nation)” เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็น ‘ประเทศอัจฉริยะ’ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มาใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และพลังงาน เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงมีการนำเทคโนโลยีทางด้าน IT และนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น IoT (internet of things) มาใช้สำหรับการดำเนินชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางธุรกิจดิจิทัล และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคม

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไม่ได้มีแผนเปลี่ยนแค่เมืองให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” แต่ยังมีความต้องการในการก้าวไปสู่การเป็น“ประเทศแห่งนวัตกรรม” หรือ “สมาร์ทเนชั่น” โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการสร้างงานและสร้างรายได้ รวมทั้งยังมีเป้าหมายให้สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นสังคมปลอดเงินสด โดยเน้นให้มีการใช้ระบบ e-Payment ครอบคลุมในทุกธุรกิจ

ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมไม่ว่าจะในแง่กฎหมาย การวิจัย และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า GovTech ขึ้นมา เพื่อดูแลโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็น “สมาร์ทเนชั่น” อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้แบ่งความสมาร์ท (Smart) ออกเป็น 3 เสาหลัก เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาครัฐ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล ได้แก่

(1) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คือ การที่รัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลัก ผ่านการเชื่อมโยง รวบรวมข้อมูล และประมวลผล เพื่อช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมี roadmap ระยะ 5 ปี ในการกำหนดกรอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการประชาชน (serve people) สร้างเครือข่ายชุมชน (build communities) และพัฒนาประเทศ (develop the country)

(2) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งในปี 2018 สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ประกาศแผนปรับธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศให้เป็นดิจิทัล เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ตลอดจนสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชน

(3) สังคมดิจิทัล (Digital Society) มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ความมั่นใจ และแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ปัจจุบัน สาธารณรัฐสิงคโปร์ ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation)แบบไบต์ต่อไบต์ (byte by byte)และระบบต่อระบบ (system by system)ทำให้มีการกำหนดโครงการเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ (Strategic National Projects)เพื่อเป็นรากฐานในการบรรลุวิสัยทัศน์ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการเป็น “สมาร์ทเนชั่น” ดังแผนภาพ

โครงการเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ (Strategic National Projects) ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อตอบสนองต่อการเป็นสมาร์ทเนชั่น ประกอบด้วย 8 โครงการหลัก ได้แก่

  1. โครงการ GoBusiness เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการและทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล
  2. โครงการ CODEX เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และคุ้มค่ายิ่งขึ้น
  3. โครงการ E-Payments เป็นแพลตฟอร์มธุรกรรมทางการเงินที่มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเรียบง่าย ปลอดภัย และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
  4. โครงการ LifeSG เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐบาล แอปพลิเคชันและข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  
  5. โครงการ Singpass เป็นแพลตฟอร์มริเริ่มในการสร้างอัตลักษณ์ดิจิทัลแห่งชาติ (NDI: the National Digital Identity) เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย สำหรับผู้ใช้ทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ ในการทำธุรกรรมกับรัฐบาลและผู้ให้บริการเอกชนรายอื่น ๆ
  6. โครงการ Punggol Smart Town เป็นแพลตฟอร์มรวมของผู้อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ และนักศึกษา ในเมืองปังโกล ที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน (Tech-enabled, Sustainable Town)เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของการเป็นประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation) ของสาธารณรัฐสิงคโปร์
  7. โครงการ Smart Nation Sensor Platform (SNSP) เป็นแพลตฟอร์มบูรณาการที่มีการใช้ระบบ sensors ทั่วทั้งประเทศ ในการรวบรวมข้อมูลสำคัญเพื่อวิเคราะห์หา Smart Solutions ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
  8. โครงการ Smart Urban Mobility เป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่สอดรับกับนโยบายลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (Car-lite Singapore)โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อมอบความสะดวกสบาย รวดเร็ว ปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือ

สาธารณรัฐสิงคโปร์ ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน (US-China Trade War)

จากที่ผ่านมา สงครามการค้าก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาตรการทางภาษีที่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปสงค์/อุปทานและการย้ายฐานการผลิต และการใช้จ่ายน้อยลงในการเดินทาง เป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย วิธีการหนึ่งสำหรับสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ การแบ่งปันแนวคิดที่ดี (good ideas) และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best pracices)เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือข้ามพรมแดน (Cross-border Collaboration) ที่เน้นให้ประชาชนในภูมิภาคเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) ขึ้นในปี 2018 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยอาศัย ASCN เป็นตัวขับเคลื่อน และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์และสร้างโอกาสจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคในการเจรจาต่อรองในเวทีโลกท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่ภูมิภาคอาเซียนเผชิญอยู่

ข้อเสนอแนะในการพัฒนา

ในฐานะนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองส่งเสริมและประสานเพื่อการใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองของการส่งเสริมการใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 15 ก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม2564

จากการฝึกอบรมหลักสูตร Public Sector Leadership Programmeณ NanyangTechnological University สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 พบว่า จากวิสัยทัศน์ในการเป็น “ประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation)” ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก (3pillars of a smart nation) ได้แก่ รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) มีความเชื่อมโยง สัมพันธ์ และสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างและกลไกการทำงานแบบเส้นทางเดียว (One Route Cooperative Platform Restructuring) ของ กปว. สป.อว. ที่เกิดจากนโยบายของผู้บริหาร สป.อว. ให้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของ กปว. ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ววน. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในภาพรวมของประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด ดังนั้น การดำเนินงานของทุกแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ตามแนวทาง One Route Cooperative Platform Restructuringจึงมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการ ชุมชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ในพื้นที่มีการนำ ววน. มาใช้ประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดยมี สป.อว. ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ประโยชน์ ววน. โดยมีสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บูรณาการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว

ดังนั้น การดำเนินงานตามแนวทาง One Route จึงประกอบด้วย 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ (1) แพลตฟอร์มการพัฒนาระบบนิเวศ ววน. (SRI Ecosystem Development Platform) ที่ภาครัฐโดย สป.อว. มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. การบริหารจัดการระบบนิเวศ ววน. และการพัฒนากำลังคนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ววน. (2) แพลตฟอร์มพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) เป็นการให้บริการในลักษณะ soft services ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และ (3) แพลตฟอร์มพัฒนาสังคม (Social Development Platform) ที่เน้นการให้บริการในเชิงพื้นที่ (Area-based) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีสภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยอาศัยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและอัตลักษณ์ท้องถิ่น บนรากฐานของ ววน.

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินงานของทั้ง 3 แพลตฟอร์มดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็น Suppliers ของ สป.อว. ในการผลักดันและขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ววน. เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของประไทยในการสนับสนุนการนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน (A Good Quality of Life) บนรากฐานของ อววน.

จากการถอดบทเรียน (Lessons Learned) ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ในประเด็นประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation) พบว่า สิงคโปร์ เป็นแหล่งที่มีข้อมูลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล ในการรวบรวม ประมวลผล และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อจัดการแก้ไขปัญหา (Smart Solutions) และสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะต่าง ๆ (Smart Platforms) ในการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้มองการณ์ไกลในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มิใช่แค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังลงลึกถึงความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กรธุรกิจด้วย เพราะผู้เล่น (actors) ที่จะลงสนามแข่งบนเวทีเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประเทศ แต่คือบรรดา “ผู้ประกอบการ” ที่อยู่เบื้องหลังความมั่งคั่งของประเทศนั่นเอง ดังนั้น การที่ประเทศจะมั่งคั่งได้นั้น จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความคิดใหม่ๆ (New Ideas) ที่จะนำไปสู่การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ (Startups) ที่มีมูลค่าสูง (High value) โดยสิ่งเหล่านี้ สามารถเริ่มต้นได้จากการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)มีนวัตกรรม (Innovation)มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added)และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ (Commercial Viability)ได้

รัฐบาลสิงค์โปร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จนมาถึงระดับชั้นนำของโลกเฉกเช่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเลือกเรียนเฉพาะทางได้ตามความถนัดของแต่ละคน รวมทั้งยังจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) ให้กับผู้สำเร็จการศึกษา รวมถึงผู้สูงอายุ ให้สามารถกลับเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาได้ ตามความสนใจของตนเอง รัฐบาลสิงค์โปร์ ยังมีนโยบายในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยใหม่ ๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงค์โปร์ ยังได้แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิจัย ในการสร้าง Industry Capital เพื่อให้เป็นอาณาจักรในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พบว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ สามารถเลือกนำจุดเด่นของประเทศมาใช้ประโยชน์ในกำหนดแพลตฟอร์มพัฒนาประเทศ และข้อมูลที่แข็งแกร่ง พร้อมสานต่อไปสู่เป้าหมายใหม่ คือ การทำให้สิงคโปร์เป็น “Smart Nation” โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งใหม่ ๆ มาหลอมรวมกันอย่างมี เป้าหมายชัดเจน เพื่อสร้างให้สาธารณรัฐสิงคโปร์มีความทันสมัยในระดับ “TOP” ของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน ความเป็นอยู่ในสังคม ตลอดจนตอบโจทย์การเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนา Smart SMEs อันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

ถอดบทเรียนสิงคโปร์โมเดล สู่ SMEs ของประเทศไทย

การพัฒนาต้นแบบ SMEs ที่มีศักยภาพสูงของสาธารณรัฐสิงคโปร์ นอกเหนือจากการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SMEs โดยการสนับสนุนทางด้านเงินทุน และการพัฒนาทักษะแล้ว ในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังมีความจำเป็นต้องสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัย (Research) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation)  

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ SMEs ของไทยในปัจจุบัน พบว่า การเชื่อมโยงระบบและความครบวงจร ในการสนับสนุน SMEs ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งออก ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดความยุ่งยากและล่าช้าในการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ดังนั้น จุดอ่อนของ SMEs ไทย ก็คือ การขาดการบูรณาการที่ดี เช่น ขาดการรวมตัวระหว่าง SMEs ด้วยกัน ขาดการทำงานที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากประสบการณ์ของไทยในอดีต พบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจและการส่งออก เกิดจากความเข้มแข็งของภาคธุรกิจ ที่มีระบบและการบริหารจัดการที่ดี ทำให้สามารถรวมตัวกันและสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลในการออกนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการส่งออก และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

จากการถอดบทเรียนดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า การที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็น Smart Nationนั้น ประเทศไทย สามารถนำสิงคโปร์โมเดล มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพ บริบท และสถานการณ์ของประเทศ โดยเน้นการสร้างและส่งเสริมการบูรณาการ SmartSMEs ให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบ สร้างความสามารถในการเชื่อมโยงและผลักดันให้ Startups พัฒนาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง (High Value) ตลอดจนสร้างการรวมกลุ่มของ SMEs ให้มีอำนาจในการต่อรองและแข่งขัน

 

   


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th

ทุกท่านสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้นะครับ

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี