เกร็ดความรู้ "ระเบียบ ข้อกฏหมายใกล้ตัว ควรเช็คให้ชัวร์ก่อนทำผิดระเบียบ"  85

คำสำคัญ : พัสดุ  กฏหมาย  

เกร็ดความรู้ 

"ระเบียบ ข้อกฏหมายใกล้ตัว ควรเช็คให้ชัวร์ก่อนทำผิดระเบียบ"
 
- ควรทำอย่างไรเมื่อเจ้านายสั่งให้ทำผิด?
 
หากข้าราชการได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ทำในสิ่งที่ผิดระเบียบ แต่การโต้แย้งด้วยคำพูดไม่เป็นผล และยังต้องทำตามคำสั่งนั้น โดยไม่กล้าใช้การทำหนังสือโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อการทำงานในอนาคต
>>สามารถทำหนังสือแจ้งไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในนามบุคคล อธิบายรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าไม่ได้มีความสมัครใจในการกระทำดังกล่าว และได้มีการพยายามโต้แย้งต่อคำสั่งแล้วแต่ไม่เป็นผล โดย ปปช. จะมีการดำเนินการตรวจสอบความจริงจากทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม โดยมีการปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเหตุเป็นความลับ ซึ่งในภายหลังหากมีการร้องเรียน และถูกตรวจสอบพบว่าการกระทำนั้นมีความผิดจริง ผู้ที่ได้แจ้งเรื่องต่อ ปปช.ไว้ล่วงหน้าดังกล่าว จะถูกยกเว้นให้ไม่มีความผิด
 
-เอกสารดูเหมือนไม่ผิด แต่มีความผิด อย่าคิดทำ!
 
สำหรับข้าราชการ งานประจำที่ต้องพบเจอคือ "การประชุม" และเมื่อมีการประชุมก็จะเกิดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหารว่าง ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง ค่าตอบแทนคณะกรรมการหรือวิทยากร เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินการเรื่องเอกสารเบิกค่าใช้จ่ายได้ไม่ถูกต้องจะทำให้มีความผิดได้!
กรณีตัวอย่าง
>>  ในการประชุมหนึ่ง ผู้เข้าร่วมเห็นตรงกันว่าอยากให้ได้ของแจกที่ดูดีขึ้นและยอมรับกับอาหารที่คุณภาพลดลง ผู้จัดงานจึงไปแบ่งงบประมาณจากส่วนของค่าอาหารมาใช้ซื้อของแจก และซื้ออาหารในราคาถูกกว่าปกติแต่ออกใบเสร็จเบิกจ่ายค่าอาหารเต็มจำนวน จะถือว่ามีความผิดเพราะตั้งใจเปลี่ยนแปลงข้อมูลในการเบิกจ่าย
>> การทำเอกสารใบสำคัญรับเงินค่าวิทยากรที่ไม่ระบุจำนวนเงิน และจ่ายค่าวิทยากรน้อยกว่าจำนวนเงินที่เบิก หรือการจงใจให้ร้านค้าออกใบสำคัญรับเงินเกินกว่าราคาที่จ่ายจริง จะมีความผิด
 
- เป็นกรรมการ ต้องทำงานเต็มหน้าที่ !
 
สำหรับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือกรรมการชุดอื่นๆ หากทำหน้าที่ของตนไม่ครบถ้วนจะถือว่ามีความผิด
กรณีตัวอย่าง
>> มีการทำเรื่องจัดซื้อพัสดุสำนักงานมาไม่ครบถ้วน เช่น ทำเรื่องจัดซื้อ จำนวน 3 ชิ้น แต่ได้สั่งของมาเพียง 2 ชิ้น และกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ได้ตรวจสอบ แล้วดำเนินการตรวจรับของมา จะถือว่ามีความผิดทั้ง 2 ฝ่าย
>> กรรมการพิจารณาการประกวดราคา ไม่ได้ตรวจเอกสารให้ครบถ้วน ซึ่งหลังจากได้ผู้ชนะการประกวดราคาแล้วมาพบทีหลังว่ามีเอกสารไม่ครบ จึงคิดที่จะให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมตามมา จะถือว่ามีความผิด เนื่องจากทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างผู้เสนอราคา
 
note : เป็นความรู้จาก "การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพ การปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน ววน. ระดับพื้นที่ ครั้งที่1"
หัวข้อ การบรรยาย ความรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566  เวลา 8.30-16.00 น.
ห้องอบรม 320 ชั้น3 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ
ซึ่งบันทึกตามความเข้าใจของผู้บันทึก โดยอาจมีถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฏหมาย หรือมีเนื้อหาผิดพลาดได้ การนำข้อมูลไปปรับใช้ควรตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และระเบียบหรือข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องนะคะ

เขียนโดย : น.ส.พุทธพร  ผ่องกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : puttaporn.p@mhesi.go.th

ยอดเยี่ยมครับ...

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ