Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
สร้าง Digital Transformation เริ่มต้นที่ Digital Culture 81
จากการได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กปว. เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption และ Agility
เมื่อวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมรีเจนท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี โดยในการบรรยายเรื่อง การเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่ยุค Digital Transformation จะเห็นได้ว่า Digital Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งไม่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกระบวนการ แต่ต้องเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์ วัฒนธรรม พัฒนาบุคลากร กระบวนการ นวัตกรรม เทคโนโลยี รูปแบบการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทุกฝ่ายในองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนร่วมกัน โดยประเภทของการทำ Digital Transformation สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ 1. กระบวนการ (Process Transformation) 2. โมเดลธุรกิจ (Business Model Transformation) 3. ขอบข่ายของธุรกิจ (Domain Transformation) และ 4. วัฒนธรรมองค์กร (Cultural / Organizational Transformation)
โดยวิทยากรได้อภิปรายเชิงปฏิบัติการ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมองค์กร เข้าสู่ยุค Digital Transformation 2. PDPA (Personal Data Protection Act) และ 3. Cyber Security สิ่งสำคัญในการนำ Digital Transformation มาประยุกต์ใช้ในการทำงานมี 4 ประเด็น ได้แก่
• Customer Experience การนำความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้ใช้บริการมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน
• Data Given Organization การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เชื่อมโยง และขับเคลื่อนองค์กร
• Digital Process การพัฒนาขีดความสามารถทางดิจิทัลของบุคลากรในองค์กร
• Data Governance การกำกับดูแลข้อมูล การจัดเก็บ การจำแนกหมวดหมู่ การใช้และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) และการรักษาความลับขององค์กร (Cyber Security)
และหากจะพูดถึงในปัจจุบัน หลายองค์กรต่างมุ่งนำเทคโนโลยีมายกระดับศักยภาพการดำเนินงาน หรือที่เรียกกันว่าการทำ Digital Transformation แต่การจะ Transform ให้สำเร็จนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นแบบ Digital Culture คือขั้นตอนแรกที่ต้องให้ความสำคัญ ในการวางรากฐานให้แข็งแกร่งเสียก่อน เพื่อให้ทั้งองค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
สำหรับหลักการสร้าง Digital Culture ประกอบด้วย 5 ข้อด้วยกัน
1. เข้าใจมุมมองของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
กระตุ้นให้พนักงานในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายและพาร์ทเนอร์มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจจากมุมมองของกลุ่มเป้าหมาย และหาแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
2. เปิดให้พนักงานมีส่วนร่วมตัดสินใจ
ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรระดับใดก็ตามควรมีสิทธิที่จะออกความเห็น และมีส่วนร่วมวางแนวทางการทำงานและหารือในประเด็นต่าง ๆ ภายในองค์กร แทนที่จะรับคำสั่งจากหัวหน้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการได้รับมุมมองที่แตกต่างจากบุคลากรหลากหลายฝ่าย
3. สร้างความมั่นใจ และกล้าที่จะลอง
ด้วยวัฒนธรรมแบบดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกความเห็น และการนำเสนอผลงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ปรับปรุงพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต
4. เริ่มต้นด้วยการกระทำ มากกว่าคำพูด
วัฒนธรรมแบบดิจิทัลเน้นการลงมือทำจริง เพื่อให้กระบวนการทำงานคล่องตัวยิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบจากการวางแผนงานระยะยาวรอบเดียว มาเป็นการวางแผนสั้น ๆ และปรับแผนอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างรวดเร็วทันเวลา
5. สร้างคุณค่าในการทำงานเป็นทีม
ความสำเร็จของวัฒนธรรมดิจิทัลคือการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงาน และการแบ่งปันความรู้และข้อมูลระหว่างแผนกและทั้งองค์กร รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการแชร์ข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อใจภายในทีม
สำหรับผู้บริหารองค์กรที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง และประสบความสำเร็จในการทำ Digital Transformation ก่อนจะก้าวไปสู่ขั้นตอนการเลือกลงทุนเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาองค์กรแล้ว ต้องไม่มองข้ามการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่ง เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ที่มา : https://bluebik.com/th/blogs/2838