Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
การพัฒนา Mindset : สิ่งจำเป็นในการพัฒนางาน (ข้อคิดเห็นในการพัฒนางานของบุคลากร กปว.) 154
ข้อคิดเห็นในการพัฒนางานของบุคลากร กปว.
การพัฒนา Mindset : สิ่งจำเป็นในการพัฒนางาน
การพัฒนางานจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการพัฒนาในหลายปัจจัย หลายด้าน และหลายระดับไปพร้อม ๆ กัน แต่บางอย่างเราก็ต้องยอมรับว่าเราควบคุมไม่ได้ อยู่เหนือขอบเขต/อำนาจหน้าที่ ที่เราสามารถทำได้ แต่การพัฒนาที่ทำได้ทันที คือการพัฒนาตัวเอง เราอาจมองเห็นปัญหาระดับองค์กร ปัญหาของโครงการ ปัญหาจากทุกอย่างรอบตัว แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการมองกลับมาที่ตัวเอง การพัฒนาตัวเองที่เรามักจะพูดถึงกัน มักเป็นเรื่องของทักษะ (Skill) ซึ่งมีทั้งที่เป็นทักษะเชิงเทคนิค (Hard Skill) และทักษะเชิงความคิดและบุคลิกภาพ (Soft Skill) แต่ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการพัฒนา Skill คือ Mindset
การพัฒนา mindset หรือกรอบความคิดที่ดี มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนางาน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รับมือได้กับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ผู้บริหาร งบประมาณ เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนได้ เราจะต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไร..?
Mindset 3 ด้าน ที่มีความสำคัญในการพัฒนางาน
1. Growth Mindset
เป็นความเชื่อ เป็นวิธีคิดที่ว่าความสามารถของนั้นเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด มีความยืดหยุ่นในกระบวนการความคิด และ ไม่ยึดติดอยู่กับปัญหาอุปสรรค ซึ่งตรงข้ามกันกับ Fixed Mindset ที่เชื่อว่าความสามารถ ความฉลาด เป็นของตายตัว ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ด้วยตัวเอง ใครมีก็จะมี ใครไม่มีก็จะไม่มี คนที่มี Fixed Mindset มักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลว แต่ในขณะที่คนมี Growth Mindset จะเรียนรู้จากการล้มเหลวเพื่อพัฒนาต่อไป
ในเรื่องของ Growth Mindset น้องจิณห์นิภา ได้เคยนำมาแบ่งปันไว้แล้วในบล็อก "5 ขั้นตอนในการพัฒนาตนเองด้วย Growth Mindset" ลองอ่านเพิ่มเติมกันนะคะ
2. Outward Mindset
คือการเปลี่ยนมุมมองจากที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเราเอง เป็นการมองในมุมของคนอื่น มองตัวเรา และมองคนอื่น เป็นตัวสะท้อนทัศนคติที่ดี ซึ่งจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้อย่างเป็นสุขในทุกสถานการณ์
คีย์เวิร์ดสำคัญของ Outward Mindset คือ S.A.M. ซึ่งย่อมาจาก
> See Others เริ่มจากทำความเข้าใจความต้องการของคนอื่น รวมถึงเป้าหมายและความท้าทายของเขา
> Adjust Efforts กลับมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อช่วยเหลือให้เขาบรรลุเป้าหมาย
> Measure Impact ประเมินว่าความพยายามของเราเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และไม่ศูนย์เปล่า
ทั้งนี้ วิธีดูง่าย ๆ ว่า เรามีกระบวนการคิดแบบ Outward Mindset หรือยัง ให้ลองสังเกตว่าตัวเรารู้เป้าหมายการทำงานของเพื่อนร่วมทีมหรือยัง ? เรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็น หรือแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนในทีมหรือไม่ ? คนที่เป็นหัวหน้า แสดงออกกับลูกน้องด้วยความหวังดี ที่อยากให้เขาพัฒนายิ่งขึ้นหรือก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้จริงๆ หรือเปล่า? หากเราเข้าใจเป้าหมายของคนในทีมและองค์กร มองความสำเร็จของ “พวกเรา” ไม่น้อยไปกว่า “ตัวเรา” นั่นก็แปลว่า เราเป็นคนที่มี Outward Mindset และเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องง่ายขึ้น
3. Agile Mindset
คือแนวคิดการบริหารจัดการโลกการทำงานที่เน้นความคล่องตัว ว่องไว มีความยืดหยุ่นสูง มีการทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมแก้ปัญหา และกระตุ้นให้กล้าคิดที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง Agile เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2001 โดยกลุ่มนักพัฒนาซอฟแวร์ที่มาประชุมหารือกันว่า จะพัฒนาซอฟแวร์ตัวใหม่ให้ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ภายใต้ระยะเวลาอันสั้นและให้เกิดข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด พวกเขาลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง และเร่งส่ง Prototype ออกสู่ตลาดก่อน แม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และเร่งฟัง Feedback จากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขก่อนชิ้นงานสุดท้ายเสร็จสมบูรณ์
จุดประสงค์ของ Agile คือ “การใช้งานได้จริง” มากกว่าการเสียเวลาวางแผน เพราะ Plan มีประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำงานเสร็จ เพราะฉะนั้นหากจะทำ Agile แต่ทำตามแผนอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค การวาง Plan การทำงานเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริงจะทำให้เกิด Agile ได้มากกว่า เพราะจริงๆแล้ว Planning สำคัญกว่า Plan การเน้นวางแผนเรื่อยๆ และไม่ได้ยึดติดอยู่กับแผนเดิมตลอดแต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาจะทำให้คนในทีมเห็นภาพชัดเจนที่ตรงกัน เแต่ Agile ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร เพราะ Agile ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น
Agile = วินัย (Discipline) + ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ซึ่งความรับผิดชอบในที่นี้ ไม่ได้แปลว่า การทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ แต่เป็น Response (การตอบสนอง) + Ability (ความสามารถ) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการตอบสนองไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม และหากทุกคนในทีมสามารถคิดแบบนี้ได้ก็จะเลิกเกี่ยงงาน เลิกโยนความผิด เลิกถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะ “ทุกคน” รับผิดชอบร่วมกัน
แนวการทำงานแบบ Agile Mindset มีหลักการดังนี้
- ทำงานเป็นทีม โดยผู้บริหาร ต้องนำบุคลากรจากหลายๆ ฝ่ายมารวมตัวกัน ประชุมกันเพื่อระดมสมอง โดยมุ่งให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ที่ไม่สำคัญหรือไม่จำเป็น เช่น งานด้านเอกสาร และงานที่มีความซ้ำซ้อน หรือส่วนที่ต้องรอการตัดสินใจของบุคคลที่ 3
- มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดบุคลากรในทีมให้เกิดแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าคิด กล้าทำ มีความสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และกล้าตัดสินใจ โดยที่ทุกคนในทีมสามารถรับรู้ถึงขั้นตอนของการทำงานและความคืบหน้าอย่างชัดเจน ทุกคนต้องช่วยกันคิด และแสดงความคิดเห็น
- กำหนดโปรเจกต์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยทีมงานมีอำนาจการตัดสินใจไม่ต้องรอผู้บริหารอนุมัติ และมีกำหนดกรอบระยะเวลาส่งงานแต่ครั้ง เพื่ออัปเดตงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดเวลา แตกต่างจากการทำงานในรูปแบบเดิมที่ส่งมอบโปรเจกต์ที่ทำสำเร็จแล้วเพียงครั้งเดียว
- การทำงานที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และตลอดเวลา แนวคิดนี้สร้างให้คนเรียนรู้สิ่งผิดพลาด และแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
สุดท้ายนี้ แน่นอนว่าการเปลี่ยน Mindset ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้สำเร็จรวดเร็วในทันที แต่ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน..."ทำยาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้"
เนื้อหาส่วนหนึ่งมีที่มาจาก
https://happy8workplace.thaihealth.or.th/articles/109
https://th.hrnote.asia/tips/agile-mindset-09232021/
http://www.thailandindustry.com/onlinemag/view2.php?id=771§ion=17&issues=74
ที่ผ่านมาจะได้ยินคำว่า Agile Mindset อยู่บ่อยๆ แต่พึ่งได้มาอ่านและเข้าใจความหมายจิงๆ ใน Blog ของพี่แน็ต ที่ทำให้เข้าใจและเห็นถึงทัศนคติในด้านบวก ในการทำงานเป็นทีม ทำให้รู้สึกว่าเป็น mindset 3 ด้าน ที่คนทำงานเป็นทีมอย่างพวกเรา สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เยอะจริงๆ เลยค่ะ