การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วย ววน. ในพื้นที่นำร่อง   64

คำสำคัญ : แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13    แผนววน.  ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  อว.ส่วนหน้า  สกสว.  

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วย ววน. ในพื้นที่นำร่อง 

                  แผนงานความร่วมมือการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วย ววน. เป็นแผนความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 ตลอดจนเชื่อมโยงงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางเป้าหมายการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีอยู่ ไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

2. เพื่อสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมสำหรับขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม

3. เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) และจุดประกายการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน นักวิจัย นักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่

4. เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงฐานข้อมูล องค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนด้าน ววน. ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การหนุนเสริมให้ภาคีการพัฒนาสามารถประสานพลังในการขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ

โดยได้กำหนดพื้นที่นำร่อง จำนวน 5 พื้นที่ และประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

         1. จังหวัดลำปาง มีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

(1) การปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเซรามิกสร้างสรรค์

(2) การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า

(3) การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย

          2. จังหวัดบึงกาฬ มีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

                    (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราและเกษตรมูลค่าสูง

                    (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

                    (3) การลดความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้า

                    (4) ระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาพื้นที่

          3. จังหวัดสระบุรี มีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

(1) การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ (Functional Food)

(2) การใช้เทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนในเชิงพาณิชย์

          4. จังหวัดสตูล มีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

                    (1) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยวในเมืองรอง

                    (2) การส่งเสริมกลไกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมือง

                    (3) การพัฒนาเมืองการเรียนรู้

          5. พื้นที่ EEC มีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้

                    (1) ศูนย์กลางการพัฒนาแรงงานยานยนต์ไฟฟ้า

                    (2) การใช้น้ำเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างสมดุล

                   

                         ซึ่งมีเป้าหมายพื้นที่แรก คือ “จังหวัดลำปาง”  โดยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ได้มีการประชุมออกแบบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ด้วย ววน. ในพื้นที่จังหวัดลำปางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และหน่วยบริหารและจัดการ ทุน (PMU)ณ ศาลากลาง จังหวัดลำปาง

 

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)


เขียนโดย : มัชฌิมา  นันทรัตน์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : -