อว. ขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดตัวโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย”  191

คำสำคัญ : SoftPower  Food  อาหาร  เชฟ  chef  

อว. ขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร

ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

เปิดตัวโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย”

 

 

วันที่ 11 เมษายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ได้มีการจัดประชุมชี้แจง แนวทางการขับเคลื่อนโครงการ“หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ภายใต้นโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมนำโดย นางสาวสุนีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ผู้บริหารและอาจารย์ ในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทย กว่า 500 คน โดยการประชุมจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว. และผ่านการประชุมออนไลน์ (Zoom meeting)

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ได้กล่าวถึงบทบาทของ อว. ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มีการมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อันจะเกิดจากการพัฒนาด้านองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา การศึกษา การวิจัย และการเชื่อมโยงภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เข้ากับการพัฒนาเชิงธุรกิจ โดยกระทรวง อว. ได้มีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำงานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่มาผนวกเข้ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงด้านอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าเป็น การท่องเที่ยว กีฬา ภาพยนตร์ และเทศกาล จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ อว. จะได้นำองคาพยพ สรรพกำลัง ร่วมกันนำศักยภาพของอาหารไทยให้เป็นอุตสาหกรรมชูโรงหลักและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้แก่ประเทศไทย เพื่อพาอาหารไทย สู่ครัวโลก

 

ทั้งนี้ นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ที่จะมุ่งสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรมอาหาร ในระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) ให้ได้กว่า 75,086 คน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศไทย โดยในระยะแรกในปี พ.ศ. 2567 นั้น มุ่งหวังที่จะผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพจำนวน 10,000 คน โดยมีสถาบันอุดมศึกษา (อว.) ร่วมกับ สถาบันอาชีวะศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ) ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ตามหลักสูตรที่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยผู้ที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับการรับรองด้านต่างๆ อาทิ ใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบการอาหารไทยระดับ 4 ใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 ใบรับรองผ่านการอบรมและทดสอบผู้สัมผัสอาหาร หรือผู้ประกอบกิจการอาหารจากกรมอนามัย เป็นต้น

 

 

นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวชี้แจงในด้านความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ทั้งในด้านของบุคลากรผู้สอน ผู้ช่วยสอน อุปกรณ์ และอาคารสถานที่ ที่ได้มีการสำรวจในเบื้องต้น โดยมีจำนวนสถาบันที่มีความพร้อมทั้งสิ้นกว่า 81 สถาบัน ครอบคลุมพื้นที่ 72 จังหวัดทั่วประเทศ  บุคลากรผู้สอนรวมกว่า 436 คน พร้อมรองรับผู้เรียนมากถึง 14,814 คนต่อรุ่น ในด้านของแผนการดำเนินงานในระยะถัดไป จะเป็นการการประสานงานร่วมกับเครือข่ายศูนย์การอบรม หรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการและเตรียมความพร้อมในการการฝึกอบรมวิทยากร/ครูผู้สอน (Train the Trainer) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับมาตรฐานการสอนในระดับเดียวกันทั่วประเทศ รวมถึงได้ชี้แจงการวางแผนติดตามและสรุปผลการดำเนินโครงการหลังสิ้นสุดโครงการ

 

ในช่วงสุดท้ายของการประชุม ได้มีการเปิดรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอแนะหรือข้อคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุม เช่น ในการสอนสามารถนำบุคลากรที่ไม่ใช่อาจารย์ผู้สอนโดยตรงของสถาบันการศึกษา แต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการประกอบอาหารภายในท้องถิ่นมาร่วมเป็นผู้ฝึกสอนในโครงการได้หรือไม่ โดยนายชุมพล แจ้งไพร ชี้แจงว่า ถือว่าเป็นทางอออกที่ดีและสมควรยิ่งที่จะนำเอาเครือข่ายผู้ที่ชำนาญด้านการประกอบอาหารเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเชฟอาหารไทย ซึ่งมองว่าคล้ายกับรูปแบบการเรียนการสอนของประเทศสวิสเซอร์แลนหรือฝรั่งเศส ที่นำเอาผู้ที่ประกอบอาชีพโดยตรงและมีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ มาร่วมเป็นอาจารย์พิเศษ

 

โครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่จะเป็นโมเดลให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ (Synergy) เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถปักหมุดการเป็นประเทศที่มีความโดนเด่นของซอฟต์พาวเวอร์แก่สายตาชาวโลก

 

 


เขียนโดย : นายณัฐพล  มหาไม้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : nattaphon.m@mhesi.go.th

ดีมากครับ นำข้อมูลการนำเสนอของเชฟชุมพล มาเก็บไว้ด้วยนะครับ

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ

โครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

ในการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS หรือ หนึ่งครอบครัวหนึ่งศักยภาพ

 
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 ในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 ถึงความก้าวหน้าของโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ที่ชัดเจนและเริ่มเป็นรูปธรรม ด้วยการออกแบบหลักสูตรเชฟอาหารไทย เพื่อให้ประชาชนได้มีการ Upskill Reskill ในด้านของการทำอาหารไทย ทั้งในรูปแบบของ Online Course และการฝึก Onsite ตั้งแต่ระดับทำกินได้ ทำขายดี ไปจนถึงการเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยในปีที่ 1 ตั้งเป้าผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพมากกว่า 10,000 คน และจะเพิ่มขึ้นในปีถัดๆไปจนถึงปี 2570 รวมกว่า 75,000 คน โดยคาดหวังที่จะสร้างแรงงานทักษะฝีมือสูง สร้างงานสร้างอาชีพและสร้างระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก
 
(@)ภาพการแถลงข่าว >>> https://www.facebook.com/story.php?id=61555928348467&story_fbid=1376497506370119
เขียนโดย นายณัฐพล  มหาไม้