อว. กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ   176

คำสำคัญ : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  Economic  Corridor    

ตามที่ผู้เขียน ได้เคยนำเสนอบทความในบล็อก 2 เรื่อง ได้แก่

1.“อว. กลไกร่วม ขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ม.ค. – พ.ย. 2566)” ซึ่งได้ให้รายละเอียด ข้อมูลบทบาทของ อว. ในการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งมีส่วนร่วมในการผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อยกระดับการลงทุน วิจัย ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หากเพียงแต่ในเวลานั้นยังไม่ได้ขยายความในรายละเอียดมากนัก

2. “แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative Lanna)ด้วยแนวคิด BCG Economy” ซึ่งบล็อกนี้ ผู้เขียนได้ยกเอาข้อมูลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน “แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC- Creative Lanna) ด้วยแนวคิด BCG Economy”ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการข้อมูลองค์ความรู้ แนวคิด ประเด็นความต้องการที่สอดคล้องตามบริบทการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ แผนแม่บทดังกล่าวนี้ เกิดจากการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งถือได้ว่า เป็นอีกบทบาทหนึ่งของอว. ในการขับเคลื่อนแผนแม่บท ให้เกิดในทุกภูมิภาค

สืบเนื่องจากการเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย โดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น ทำให้ผู้เขียนได้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมหลายประเด็นได้แก่

1. กลไกและคณะกรรมการที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง แต่งตั้งตามมติของ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) มี อว. เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในส่วนของผู้แทน 25 หน่วยงาน

ทั้งนี้หากมองถึงความพร้อมของ อว. ในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน อววน. ที่ถูกดำเนินการจัดตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคแล้วนั้น อว. น่าจะมีบทบาทได้อีกส่วนหนึ่งในการเป็นองค์ประกอบของ คณะกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีความจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการงานวิจัย เทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการ และหน่วยบริการสำหรับผู้ประกอบการในการขับเคลื่อน ซึ่ง ล้วนกระจายตัวอยู่ในสถาบันการอุดมศึกษา และเป็นหน่วยงานภายใต้ของ อว. โดยตรงอยู่แล้ว

 

2. หากพิจารณาจากแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 5 ด้านแล้วนั้น นอกจากบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ อว. รับผิดชอบหลักแล้วนั้น

ผู้เขียนมองว่า อว. ยังคงสามารถเข้าร่วมมีบทบาทในการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการได้อีกภารกิจหนึ่ง ซึ่งหากมองจากภารกิจที่กำหนดให้มีการส่งเสริมการพัฒนาแรงงาน หรือ ผู้ประกอบการ แล้วนั้น อว. มีนโยบายดำเนินการในส่วนนี้มาโดยตลอดแล้ว ตามนโยบายและแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งให้ ประเทศก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายใต้การสร้างความเป็นเลิศ และ การพัฒนากำลังคนขั้นสูง  

    ซึ่งหากมองโดยองค์รวมแล้ว อว. ถือว่าเป็นกลไกสำคัญ หรืออาจจะถือได้ว่าเป็นกลไกหลักสำหรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กลไกร่วม ดังที่ ผู้เขียนเคยเข้าใจและเขียนไว้ในบล๊อคก่อนหน้านี้เท่านั้น 


เขียนโดย : น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : rachanis.s@mhesi.go.th