Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
พายุสุริยะคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร 1513
พายุสุริยะเป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของผลลัพธ์ที่เกิดจากกกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ซึ่งมีการปลดปล่อยพลังงานอย่างรุนแรง พร้อมกับปล่อยอนุภาคพลังงานสูงทั้งอิเล็กตรอนและโปรตอน ออกจากดวงอาทิตย์ด้วยปริมาณและความเร็วสูงกว่าระดับปกติ การเกิดพายุสุริยะเกิดจาก
การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection หรือ CME)
นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากิจกรรมของดวงอาทิตย์ชนิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมักเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์อื่นที่เกิดขึ้นในระดับโคโรนาชั้นล่าง ส่วนใหญ่พบว่า เกิดขึ้นร่วมกับเปลวสุริยะ และโพรมิเนนซ์ บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปรากฏการณ์สองอย่างนี้เลย
นอกจากนี้ ความถี่ในการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนายังแปรผันตามวัฏจักรของดวงอาทิตย์อีกด้วย ในช่วงใกล้เคียงกับช่วงต่ำสุดของวัฏจักรดวงอาทิตย์อาจเกิดประมาณสัปดาห์ละครั้ง หากเป็นช่วงใกล้กับจุดสูงสุดของวัฏจักรดวงอาทิตย์ ก็อาจเกิดขึ้นบ่อยถึงประมาณสองหรือสามครั้งต่อวัน
อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์
อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Geomagnetic storm) อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบที่หนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับเปลวสุริยะ(Solar Flare)ส่วนแบบที่สองเกิดจากการปลดปล่อยก้อนมวลสารโคโรนา(CME) ความเร็วสูงพุ่งแหวกไปในกระแสลมสุริยะทำให้เกิดคลื่นกระแทก โดยอนุภาคสุริยะพลังงานสูงจะเกิดขึ้นในบริเวณคลื่นกระแทกนี้พายุสุริยะมีผลกระทบต่อโลกอย่างไร
โดยทั่วไป พายุสุริยะไม่ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของโลกทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศ หรือในยานอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลก อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้รับอันตรายจากพายุสุริยะ
ตลอดระยะเวลาที่นักวิทยาศาสตร์บนโลกได้พยายามศึกษากิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ พายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์อย่างหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจาก อนุภาคพลังงานสูงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ส่งผลต่อเทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
โดยพลังงานของอนุภาคจากดวงอาทิตย์อาจมีผลไปรบกวนการสื่อสาร และการรับส่งข้อมูลระหว่างดาวเทียมกับสถานีควบคุมบนพื้นโลก และถ้าเกิดขึ้นกับดาวเทียมสื่อสาร ก็อาจทำให้ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมมีปัญหาได้
ปรากฏการณ์พายุสุริยะที่เคยสร้างความเสียหายกับโลกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1989 โลกได้รับพายุสุริยะพัดกระหน่้ำอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ระบบไฟฟ้าของเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ขัดข้องเป็นเวลา 9 ชั่วโมง ย้อนกลับไปอีกหนึ่งเหตุการณ์ในปี 1859 พายุสุริยะได้พัดกระหน่ำระบบโทรเลขจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ขึ้นหลายแห่งในยุโรป
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบและทำนายความรุนแรงโดยการสำรวจจุดมืดบนดวงอาทิตย์ เนื่องจาก บริเวณจุดมืด หรือจุดดับบนดวงอาทิตย์ เกิดจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบจุดมืดจำนวนมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่า อนุภาคกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงของการปลดปล่อยอนุภาคมากขึ้น