ต้นกำเนิด OTOP : จาก Japan สู่การพัฒนาฐานรากใน Thailand  53

คำสำคัญ : #OTOP  #OVOP  #เศรษฐกิจ  #ญี่ปุ่น  

ต้นกำเนิด OTOP :จาก Japan สู่การพัฒนาฐานรากใน Thailand

 

เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วกันว่า “OTOP”(One Tambon One Product) คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการชุมชนจากทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ OTOP กับกรมการพัฒนาชุม (พช.) กระทรวงมหาดไทย มากกว่า 97,913 ราย และมีผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นทะเบียนมากกว่า 221,302 ผลิตภัณฑ์ สินค้า OTOP ของประเทศไทยได้รับการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น บริการ “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นสินค้าคุณภาพสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมาก โดยในปี 2565 มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 244.1890 ล้านบาท

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สินค้าต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ เป็นการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการทางความคิด การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น จุดขายที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากผลสำเร็จของการจัดงาน OTOP ในเวทีการค้าต่างๆ

จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ OTOP ไม่ได้มีจุดกำเนิดขึ้นในประเทศไทย แต่ต้นกำเนิดแนวคิดนี้ มาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จของเทศบาล เมืองยูฟูอิน (YUFUIN) จังหวัดโออิตะ ภูมิภาคคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อเรียกว่าOVOP” (One Village, One Product)

 

 

เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว สมัยก่อน “โออิตะ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดล้าหลังและมีประชาชนยากจนอย่างมาก เนื่องจากมีพื้นที่ทำการเกษตรอย่างจำกัด และมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้ประสบปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน ปล่อยให้คุณตาคุณยายวันหลังเกษียณอยู่กับบ้านแทน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้คิดแนวทางแก้ปัญหาโดยพัฒนาสินค้าในชุมชนขึ้นมา โดยมีหลักปรัชญา OVOP 3 ประการ ได้แก่

1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global)คือการผลิตหรือสร้างสินค้าให้ได้มาตรฐานในระดับสากล แต่ยังคงสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น สี เอาไว้

2. ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ (Self-reliance and Creativity )คนในชุมชนจะต้องพึ่งพาตนเองได้ ไม่ผูกติดกับนโยบายของภาครัฐ มีอิสระในการคิด สร้างสรรค์ และตัดสินใจด้วยตนเอง

3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)ให้มีความกล้าท้าทายและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถเป็นผู้นำของชุมชนได้

แนวคิด OVOP อย่างแรก คือ การทำอย่างไรให้เกษตรกรดำรงอยู่ในวิถีเกษตรต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ อย่างที่สอง คือ พยายามไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจมากนัก แต่ให้อิงอยู่บนฐานของธุรกิจเดิมเป็นหลัก และ อย่างที่สาม คือ เปิดโอกาสการพัฒนาให้ทุกคน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ที่สำคัญที่สุดคือเป็นการสร้างธุรกิจเสริม ไม่ใช่ธุรกิจหลักหรือรายได้หลัก
 

ดังนั้น เป้าหมายจริงๆ ของการทำ OVOP ในประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ที่การใช้เรื่องธุรกิจเป็นตัวนำ แต่เป็นโครงการที่สร้างกิจกรรมให้เกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน ที่จะสร้างสินค้าของชุมชนขึ้นมาเพื่อเป็นรายได้เสริม และใช้ผลิตผลเกษตรที่ตนเองมีเป็นวัตถุดิบหรือเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองให้ได้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานที่ ยูฟูอิน ก็คือกลุ่มแม่บ้าน 10 คน ที่รวมตัวกันผลิตซอสมะเขือเทศตามสูตรหรือตำรับของตัวเอง โดยใช้มะเขือเทศสดที่ปลูกเองในไร่มาใช้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเพิ่มมูลค่า แต่ละคนจะร่วมทุนกันในจำนวนที่เท่าๆ กัน และร่วมแรงในการดำเนินกิจการทุกคน ไม่ใช่ลักษณะของการเข้ามาถือหุ้นอย่างเดียว

หลังจากนั้น ได้มีคณะศึกษาดูงานของผู้นำประเทศไทยในสมัยนั้นและนำแนวคิดนี้กลับมาพัฒนาเป็นแนวคิด OTOP ประเทศไทย โดยเริ่มต้นดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2544 และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อย่างที่เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็กล่าวได้ว่า การพัฒนา OTOP ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงานสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน

==

 

References :
Urban Creature : https://urbancreature.co/oita-ovop-japan/
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย : https://district.cdd.go.th/khaosuankwang/services/
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ : https://tica-thaigov.mfa.go.th/th/page/otop-to-ogop-ovop-odop?menu=5d7da97115e39c3fbc00b678
อปท. นิวส์ ท้องถิ่นไทย : https://www.opt-news.com/public/upload/magazine/magazine47766b9c3e09f7160e987ebbb025b7f1pdf.pdf


เขียนโดย : น.ส.ชัชฎาพร  มีศรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : chatdaporn.m@mhesi.go.th