"8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND" สู่การพัฒนาเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก  136

คำสำคัญ : #IGNITEThailand    #เศรษฐกิจ  #อุตสาหกรรม  

"8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND"
Thailand Vision มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

 

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี และที่สำคัญ คือ ศักยภาพของคนไทย พร้อม 8 วิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า
 

"8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND"

1️⃣ ประกาศตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) เฟ้นหา Soft Power ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของไทย อำนวยความสะดวก ปลดล็อกทุกข้อจำกัดการท่องเที่ยว ผ่านการเปิดฟรีวีซ่าในหลายประเทศ เป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาค และใน CLMV ส่งเสริมต่อยอดเมืองหลัก เมืองรองต้องพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แก้ไขกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรค เช่น เวลาเปิดปิดของสถานบริการ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงแก้ไขภาษีสำหรับการจัดงานหรือแข่งขันต่าง ๆ รองรับการเป็น Homestay ของคนทั่วโลก
2️⃣ ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก และเดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพของคนไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับไปเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้ AI เชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัดด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว เพิ่มจำนวนหมอ และพยาบาลให้เพียงพอ พร้อมพัฒนาคุณภาพ ยกระดับชีวิตบุคลากรให้ดีกว่าเดิม
3️⃣ ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” ดูแลความมั่นคงทางอาหารของโลก พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พัฒนาอาหารที่แปลกใหม่ ทั้งอาหาร Halal อาหารสำหรับผู้ป่วย และอาหารชนิดพิเศษอื่น ๆ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นปัจจัย 4 ของโลกในด้านอาหาร
4️⃣ ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) พัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทาง ตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น เตรียมพร้อมจะเป็น Homeland ของสายการบินทั้งไทยและสายการบินนานาชาติ เพียบพร้อมไปด้วยศูนย์ดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
5️⃣ ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสู่ 3 สนามบิน ศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย สร้างความสมดุลสู่ความมั่งคั่งเป็นตัวกลางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งหมด (One Stop Service) ให้ดียิ่งขึ้น
6️⃣ ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มีเป้าหมายจะได้แผนการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอร์รี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ทำให้เกิดเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศ และเตรียมพร้อมเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต
7️⃣ ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy Hub) ตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing พร้อมเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้วย
8️⃣ ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ตั้งเป้าเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading
 

เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงจากวิสัยทัศน์ดังกล่าว สู่การดำเนินงานตามภารกิจ ณ ปัจจุบัน ของ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีพันธกิจ ส่งเสริม สนับสนุน ประสาน และบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนฐานนวัตกรรมทั้งในระดับชุมชน จังหวัด และประเทศ รวมทั้ง การเข้าถึงองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ชุมชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถนำศักยภาพของระบบนิเวศการดำเนินงานตามแพลตฟอร์มต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งสู่การผลักดันให้เกิดความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายตาม 8 วิสัยทัศน์ ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการระดับ S และ M (SMEs S, M) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าผู้รับบริการกลุ่มใหญ่ของระบบนิเวศ โดยสามารถหยิบยกประเด็นที่เป็นจุดเน้นตามวิสัยทัศน์ข้างต้น มาเป็นจุดเน้นของโครงการ หรือ แพลตฟอร์ม ในแต่ละปีงบประมาณได้ เช่น “พัฒนาของดีอัตลักษณ์ท้องถิ่น ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของไทย” “พัฒนาอาหารแปลกใหม่ด้วยนวัตกรรม ผสมผสานกลิ่นอายความเป็นไทย” เป็นต้น ทั้งนี้ เสนอแนะให้เป็นการดำเนินงานควบคู่ไปกับงานตามภารกิจโครงการ หรือ แพลตฟอร์ม (Top up Project)

==

References :
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/8107


เขียนโดย : น.ส.ชัชฎาพร  มีศรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : chatdaporn.m@mhesi.go.th