สรุปการแถลงวิสัยทัศน์ประเทศไทย (Ignite Thailand) โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน  42

คำสำคัญ : ignite  thailand  แถลงการนายกรัฐมนตรี  

          ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision "IGNITE THAILAND: จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง" เพื่อมุ่งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์ที่เป็นแบรนด์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน

          โดยวิสัยทัศน์แรก นายกฯ เศรษฐา วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ทั้งนี้ ไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเป็นอันดับที่ 8 โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของคนไทยมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากร คิดเป็นประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงการเสริมสร้าง Soft Power และเน้นจุดเด่นของประเทศไทยในสายตาของสังคมโลก ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ งานศิลปะ อาหาร กีฬา และศิลปะป้องกันตัว รวมทั้งผลักดันให้บางจังหวัดกลายเป็นมรดกโลก เช่น จังหวัดน่าน และรัฐบาลจะปลดล็อกข้อจำกัดและข้อกังวลต่าง ๆ ของการท่องเที่ยว ผ่านการให้วีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ เช่น จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการเดินทางในภูมิภาคและใน CLMV นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องได้รับการส่งเสริมต่อยอดในทุกด้าน ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง โดยจะต้องพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การกำหนดเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการแก้ไขภาษีเพื่อการจัดงานหรือการแข่งขันต่าง ๆ และการสนับสนุน Homestay ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานของทุกพื้นที่จะต้องนำประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต มาสร้างเป็นจุดขาย และรัฐบาลจะปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้จัดงานระดับโลกสามารถมาจัดงานในประเทศไทยได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ หรืองานศิลปะ ทั้งหมดนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์ เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สินค้าของท้องถิ่น และสินค้าเกษตร เป็นต้น
 
          วิสัยทัศน์ที่ 2 ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยผลักดันให้อุตสาหกรรมสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นศูนย์ระดับโลกที่ดูแลสุขภาพครบวงจร ระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งด้านบุคลากรที่มีคุณภาพและมีจิตใจบริการ สามารถดูแลสุขภาพได้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม จากข้อมูลในปี 2566 พบว่าการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้สร้างรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นสำหรับคนไทย รัฐบาลกำลังพัฒนาระบบประกันสุขภาพจาก 30 บาทรักษาทุกโรคไปสู่ราคา 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง โดยใช้เทคโนโลยี AI เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัดด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกนำร่องไปแล้วใน 4 จังหวัดและคาดว่าจะขยายไปยังจังหวัดทั้งหมดภายในปีปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนที่เพิ่มจำนวนหมอและพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรให้ดีขึ้น สนับสนุนการแพทย์แผนไทยและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ได้รับใบรับรองประกาศนียบัตร และเสนอแนะให้เปิดศูนย์ Wellness Center ในต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงของการดูแลสุขภาพแบบไทยในระดับโลก
 
          วิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางด้านอาหาร มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทยเพื่อให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านอาหาร เน้นหลักการ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน" เพื่อให้ไทยเป็นครัวของโลกที่สามารถผลิตอาหารทุกประเภทและส่งออกไปยังตลาดโลกได้ โดยรัฐบาลจะมุ่งเน้นให้เกษตรกรไทยมีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปีของรัฐบาลนี้ โดยการดูแลทั้งดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพันธุ์ปลาให้อุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งการขยายแหล่งชลประทานเพื่อครอบคลุม 40 ล้านไร่ โดยใช้เทคโนโลยี Precision Agriculture เพื่อการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย และรัฐบาลยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เช่น การพัฒนาอาหารโปรตีนสูงจากพืช และการสร้างอาหารที่แปลกใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นผู้เล่นที่สำคัญในด้านอาหารของโลก นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เปิดร้านอาหารในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้ไทยกลายเป็นปัจจัยที่ 4 ของโลกในด้านอาหาร รวมถึงการสร้างรายได้และความเจริญของเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วย
 
          วิสัยทัศน์ที่ 4 ด้านศูนย์กลางการบิน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั่วโลก ไทยมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ที่มีประชากรโดยรอบมากกว่า 280 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของโลก และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจในทุกระดับและราคา ซึ่งรัฐบาลมีแผนในการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับการแวะจอดของสายการบิน และการปรับแต่งเส้นทางและตารางเที่ยวบินให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มความจุในการลงจอด เนื่องจากไทยมีระยะทางไปยังศูนย์กลางเศรษฐกิจทั่วโลกใกล้กว่าประเทศอื่น ๆ รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการพัฒนาสนามบินทั้งในเมืองหลักและเมืองรองให้เป็นฐานที่เหมาะสม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเช่น รันเวย์ อาคารผู้โดยการ คลังสินค้า ระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ และการเพิ่มบุคคลากร การตรวจความปลอดภัย และการเสริมคุณภาพการบริการ การพัฒนาศูนย์กลางการบินในประเทศไทยจะทำให้ภาคบริการ การขนส่ง โรงแรม การท่องเที่ยว อาหาร สินค้าเกษตร มีการเติบโตและเข้าสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน 
 
          วิสัยทัศน์ที่ 5 เป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมศักยภาพในระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ โดยขยายและปรับปรุงระบบทางหลวง ระบบรางรถไฟ และระบบรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งและการเคลื่อนย้ายสินค้าและบุคคล ซึ่งจะสร้างโอกาสในด้านเศรษฐกิจและกระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย โครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยมีการขยายทางหลวง Motorway 10 และทางหลวงแผ่นดิน 4 เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและพัฒนาเส้นทางการขนส่งระหว่างเมือง และมีการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งสินค้า ซึ่งมีผลให้ระบบรางระหว่างเมืองมีระยะทางรวมสูงถึง 5,500 กิโลเมตร และระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และภูมิภาคจะมีการเพิ่มระยะทางอีก 2.5 เท่า ครอบคลุมเส้นทางเกือบ 700 กิโลเมตร โดยระบบรถไฟฟ้านี้จะเชื่อมโยงไปยังสนามบิน 3 แห่งและเชื่อมต่อไปยังชายแดนที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้โครงการลงทุนใหญ่ในระดับ Mega project นี้จะเป็นการลงทุนระยะยาว 20 ปี เพื่อเสริมสร้างโอกาสในด้านเศรษฐกิจ และสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลทางการค้าและทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งและการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยรัฐบาลยังมุ่งหวังให้ระบบ One Stop Service เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เป็นคอขวดของการขนส่ง ทั้งหมดในประเทศและระหว่างประเทศ
 
          วิสัยทัศน์ที่ 6 เป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์เพื่อการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทยได้รับการตอบรับจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำมากมาย โดยมีการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท มีการสนับสนุนจากรัฐบาลและการค้นคว้าวิจัยจากภาคเอกชน และการสร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์เพื่อรองรับทุกขั้นตอนของการผลิตรถยนต์ EV ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน การบำรุงรักษา และการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต และสร้างโอกาสให้กับการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
 
          วิสัยทัศน์ที่ 7 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลในประเทศไทยอย่างยั่งยืน รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech เช่น การลงทุนในโรงงานผลิต Semiconductor, การสร้างศูนย์ Data Center ที่รองรับ Cloud Computing, การวิจัยและใช้งาน AI ในประเทศไทย รวมถึงการดึงบริษัท Deep Tech เข้ามาผ่านโมเดล Sandbox โดยมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ รวมถึงการใช้ Matching Fund เพื่อเติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจและการดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนให้บริษัทสามารถสร้างธุรกิจข้ามชาติได้โดยใช้จุดแข็งของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือการสร้างโอกาสให้คนไทยสามารถมีส่วนร่วมในธุรกิจดิจิตอลและการสร้าง Startup ของตนเอง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้เศรษฐกิจดิจิตอลของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
 
          วิสัยทัศน์ที่ 8 เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเงินที่มั่นคงและดึงดูดสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างย่านการเงินสำคัญ หรือ "Wall Street" ของอาเซียนในประเทศไทย โดยการพัฒนา Infrastructure ที่สามารถรองรับระบบการเงินแห่งอนาคตที่ใช้ Blockchain โดยไม่มีตัวกลาง และเตรียมปลดล็อก Digital Asset ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานในโลกดิจิทัลได้ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น Carbon Credit Trading ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่สามารถกำกับดูแลระบบการเงิน รวมถึงการพัฒนาระบบกฎระเบียบที่เหมาะสม
 
           นอกจากนี้ นายกฯ ยังเน้นว่าการทำทุกอย่างให้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนทุกคน ระบบการทำงานของรัฐจะต้องเปิดเผยและโปร่งใส ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ของรัฐได้ชัดเจน ทั้งนี้รัฐบาลจะอัปเกรดระบบงานของรัฐทั้งหมดเป็นระบบ Cloud เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังมุ่งพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้กับประชาชน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในตลาดแรงงานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การเน้นความเท่าเทียมในทุกด้าน เช่น เพศสภาพ การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล และการรับมือกับกลุ่มที่มีความเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงวัย ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียม การสร้างสังคมปราศจากอาชญากรรมและยาเสพติดทุกรูปแบบที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และการพัฒนาเป็นสังคมสีเขียวช่วยลดการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น

เขียนโดย : ดร. มุทธมาศ  วงศ์วานิช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : muttamas.w@mhesi.go.th