สรุปประเด็นการหารือ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลไทย (สมาคมเครื่องจักรกลไทย) กับ กระทรวง อว.  43

คำสำคัญ : สมาคมเครื่องจักรกลไทย  เครื่องจักร  อุตสาหกรรม  บูรณาการ  อว.    

สรุปประเด็น

การหารือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลไทย
กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
(อว.)

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอุดมศึกษา 1 ถนนศรีอยุธยา

.......................................................................

          ผู้ประกอบการสมาชิกสมาคมเครื่องจักรกลไทย เข้าพบนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อหารือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลไทยกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นำโดย นายชัชนันท์ ถนอมวรสินธุ์ บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด (ผลิตรถคีบอ้อย) กรรมการและเหรัญญิกสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมด้วยผู้แทนจาก บริษัท ไทยรุ่งเรือง แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (ผลิตรถตัดอ้อย) บริษัท เกษตรพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (ผลิตรถเกี่ยวอเนกประสงค์) บริษัท การันตี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (ตู้อบฮีทปั๊ม) บริษัท ยูโร เบสท์ เทคโนโลยี จำกัด (ผลิตเครื่องสเปรย์ดราย/แปรรูปสมุนไพร) บริษัท ประเสริฐ อินดัสทรี จำกัด (เครื่องจักรแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง) บริษัท ที.ซี.เวลดิ้งออโตเมชั่น จำกัด (ผลิตหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม) ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.โลหะกิจ (ผลิตเครื่องปั๊มโลหะ) โดยมีประเด็นที่ผู้ประกอบการเสนอ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

         ประเด็นที่ 1 : หนึ่งนักวิจัย หนึ่งเครื่องจักรกล

          เป็นการขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรวิจัย เสนอให้ อว. กำหนด KPI ให้นักวิจัยในหน่วยงานในสังกัด อว. และมหาวิทยาลัย ต้องจับคู่กับผู้ประกอบการ ในลักษณะ 1 นักวิจัย 1 เครื่องจักรกล เพื่อให้นักวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเครื่องจักรกล และเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาการเข้าถึงนักวิจัยเป็นไปได้ยากมาก และขอให้นักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะ CSR เนื่องจากที่ผ่านมา มีปัญหาในกรณีที่นักวิจัยขอสิทธิบัตรร่วมในผลงาน

          ประเด็นที่ 2 : ทุนสนับสนุนการวิจัย

         เสนอขอเพิ่มทุนสนับสนุนด้านการวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมามีการเสนอโครงการผ่านโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ของ สป.อว. บริหารจัดการโครงการโดย MTEC สวทช. ซึ่งได้รับทุนน้อย ต้องการทราบว่ามีแหล่งทุนของหน่วยงานอื่นที่เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลอีกหรือไม่ และต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมด้านการตลาด เช่น สนับสนุนงบประมาณไปที่หน่วยงานในพื้นที่ในการจัดซื้อเครื่องจักรที่เหมาะสม อาจเป็นในลักษณะ 1 อำเภอหรือตำบล ต่อ 1 เครื่อง และให้เอกชน เกษตรกร ในพื้นที่มาขอเช่าใช้งาน และขอให้โครงการของภาครัฐกำหนดคุณลักษณะของเครื่องจักรที่จัดซื้อ ว่าต้องเป็นเครื่องจักรที่คนไทยพัฒนาเท่านั้น เป็นต้น

          ประเด็นที่ 3 : การสร้างคุณค่าให้ TMA Mark

          ทางสมาคมเครื่องจักรกลไทย มีความพยายามที่จะผลักดัน TMA Mark (Thai Machinery Association Mark) ซึ่งเป็นเครื่องหมายให้การรับรองด้านเครื่องจักรกล ว่ามีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามคุณลักษณะที่ระบุไว้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอผ่านสมาคมฯ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติรายโมเดลเครื่อง แต่ยังประสบปัญหาการสร้างการรับรู้และการยอมรับ ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังไม่มีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น จึงขอเสนอให้หน่วยงานในสังกัด อว. เข้ามามีส่วนร่วมในการวางมาตรฐานและผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่า (Value Creation) ให้กับ TMA Mark

          โดยท่าน ปอว. ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะกับผู้ประกอบการ ดังนี้

          - ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการในด้านเงื่อนไข ซึ่งประเด็นที่เข้าถึงนักวิจัยได้ยากนั้น กระทรวง อว. มีฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Infrastructure Databank : STDB) สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลนักวิจัยตามสาขาความเชี่ยวชาญได้

          - ในส่วนของแหล่งทุน มีทุนของ สกสว. บพข. ที่เป็นทุนสนับสนุนภาคเอกชนในการทำการวิจัยและพัฒนาเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกระทรวงอุตสาหกรรม และ BOI ที่สนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์

          - ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างด้านเครื่องจักรในพื้นที่/ท้องถิ่นนั้น มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ อีกทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย โดยลำดับแรกผู้ประกอบการควรยื่นเสนอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมก่อน เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้

          - การส่งเสริม ผลักดันด้านเครื่องจักรกลที่พัฒนาโดยคนไทยนั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือในระดับนโยบายในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เอกชนอยู่ได้ และยังทำการวิจัยพัฒนาต่อไปได้ เพื่อประโยชน์ของประเทศ


เขียนโดย : น.ส.กมลวรรณ  สุนทรเกตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : kamonwan.s@mhesi.go.th

👍👍👍  TMA Mark (Thai Machinery Association Mark) คือ เครื่องหมายให้การรับรองด้านเครื่องจักรกลของสมาคมเครื่องจักรกลไทย

เขียนโดย จิรวัฒน์  วงษ์สมาน

การขอ TMA Mark (Thai Machinery Association Mark) มีขั้นตอนดังนี้

 

เขียนโดย จิรวัฒน์  วงษ์สมาน