Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
(ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรัก EP. II) อาการอกหัก และภาวะหัวใจแตกสลาย (Broken heart syndrome) 243
ผ่านพ้นวันแห่งความรัก ( 14 กุมภาพันธ์ 2567) มาได้อาทิตย์กว่า สุขภาพหัวใจเป็นอย่างไรกันบ้างครับ คนที่มีความรักหวานชื่นชุ่มฉ่ำ ก็ยินดีด้วยนะครับ (ยินดีด้วยจริงๆ จริงจริงครับ T-T) ส่วนคนที่ใจพัง โดนเท ความสัมพันธ์คลุมเครือ ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ขอให้มากองรวมกันตรงนี้ครับ วันนี้ วิทยาศาสตร์กับความรัก EP.II (น่าจะ EP. สุดท้าย เพราะจะหมดเดือนแห่งความรักแล้ว) ขอมาพูดถึง อาการอกหัก และ ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) กันครับ
ในทางจิตวิทยา มีทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายการรับมือของมนุษย์เมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสียด้วย 5 ขั้นตอน อาจจะไม่ใช่ฮาวทูที่จะบอกว่าเราจะผ่านพ้นมันไปอย่างไร แต่เอาไว้เช็คความรู้สึกตัวเองว่าตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นไหน เพื่อเราจะได้ระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นภัยกับตัวเราเอง
“สุดท้ายแล้วอย่างที่เรารู้กันว่าความรักคือสิ่งมหัศจรรย์และละเอียดอ่อนกว่าที่จะมีทฤษฎีอะไรจะอธิบายมันได้”
5 ขั้นตอนทางจิตวิทยาที่เราต้องเผชิญหน้าเมื่ออกหัก
ที่มารูปภาพ : https://www.practicalrecovery.com/what-is-denial/
1. Denial & Isolation (ช่วงปฏิเสธและหลีกหนีความจริง): ปฏิกิริยาแรกเมื่อต้องรับมือกับความเสียใจ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณป้องกันตัวเองของมนุษย์เมื่อเวลาเจออะไรที่ไม่ทันตั้งตัว และรู้สึกว่าตอนนี้ยังรับมือกับมันไม่ไหวเลยเลือกที่จะปฏิเสธมันออกไปก่อน
::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
คำแนะนำ : ถ้าอยู่ในขั้นนี้ คนเป็นเพื่อนอย่าพึ่งไปโยนความจริงอะไรใส่ อย่าพึ่งมาแสดงหลักฐานความจริงใดๆให้รับรู้ เพราะ ฉันไม่พร้อมจะดีลกับอะไรทั้งน้านนนน !! ขอแค่อยู่ข้าง ๆ ก็พอ อย่าไปแสดงความเห็นอะไรดีที่สุด
::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
ที่มารูปภาพ : https://pixar.fandom.com/wiki/Anger?file=Io_Anger_standard2.jpg
2. Anger (โกรธ) : เป็นระยะที่เราเริ่มยอมรับความจริงได้มากขึ้น ตัวตนหรืออัตตาของเราจึงแสดงออกมาด้วยการที่รู้สึกว่าไม่มีใครที่จะมีสิทธิทำแบบนี้กับเรา!! เป็นอีกหนึ่งระยะที่เราต้องมีสติมากที่สุด เพราะเมื่ออะไรไม่เป็นดั่งหวัง ความอ่อนแอก็จะเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเพื่อป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด ถ้ามีปัญหาเรื่องมือที่ 3 เราจึงมักเอาความโกรธไปลงกับเขาหรือเธอคนนั้น มากกว่าจะโทษคนใกล้ตัวเราจนเมื่อเรายอมรับความจริงได้ถึงตาสว่าง
ที่มารูปภาพ : https://thestandard.co/podcast/ruok13/
ที่มารูปภาพ : https://www.iedunote.com/types-bargaining-strategies
3. Bargaining (ต่อรอง) : เมื่ออยู่ในขั้นนี้คือจะเริ่มหาทางที่จะไม่สูญเสียคนที่รักไป เลยเริ่มต่อรองด้วยวิธีต่างๆ ด้วยหวังว่าสุดท้ายแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นช่วงต่อรองขอให้อีกฝ่ายกลับมา แล้วก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายที่โดนทิ้งจะตกอยู่ในขั้นนี้เพียงฝ่ายเดียวด้วย ฝ่ายที่บอกเลิกแต่อยากกลับไปคืนดีก็สามารถตกอยู่ในขั้นนี้ได้เหมือนกัน
ที่มารูปภาพ : https://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/six-common-depression-types
4. Depression (เศร้าเสียใจ) : หลังจากที่พยายามจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้วไม่ได้ผล เราจะตกอยู่ในช่วงซึมเศร้า เสียใจ ฟูมฟาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระยะนี้คือ ภาวะเศร้า ซึ่งคือคนละอย่างกับการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็เป็นไปได้ที่ความเศร้าโศกเสียใจที่มาจากการอกหักนั้นจะนำพาไปสู่โรคซึมเศร้าจริงๆ
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::
คำแนะนำ : บทบาทสำคัญที่สุดของเพื่อนในระยะนี้คือการอยู่เป็นเพื่อนโดยไม่ตัดสิน เพียงแต่เมื่อไรที่เห็นเพื่อนเราเริ่มอาการย่ำแย่ ก็เพียงแค่อนุญาตให้เพื่อนแสดงความเสียใจนั้นออกมา ปล่อยให้เพื่อนใช้โควต้าการร้องให้ให้เต็มที่โดยไม่บอกให้เพื่อนหยุดร้อง หรือบังคับให้เพื่อนเข้มแข็ง
::::::::::::::::::::::::::::::::::::
ที่มารูปภาพ : https://aviaryrecoverycenter.com/spiritual-principle-acceptance/
5. Acceptance (ยอมรับความจริงได้จริงๆ) กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราจมอยู่กับขั้นที่ผ่านมายาวนานแค่ไหนกันนะ ? แต่ไม่ว่ายังไงเราทุกคนก็จะมาจบอยู่ที่ ขั้นนี้แน่นอน เราจะเริ่มบอกกับตัวเองว่า “พอแล้ว” “เราทำอะไรไม่ได้แล้ว” และหันไปโฟกัสปัจจุบันมากขึ้น เริ่มอยู่คนเดียวได้ เผลอ ๆ ยังแอบคิดด้วยว่าการอยู่คนเดียวคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะตอนนั้นเราผ่านความเจ็บปวดมามากพอสมควร เลยไม่อยากเจอเหตุการณ์เลวร้ายและปวดใจแบบเดิมอีก
ส่วนภาวะหัวใจสลาย Broken Heart Syndrome เป็นสภาวะที่มีอยู่จริงในทางการแพทย์ครับ
ภาวะหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในการบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยอาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ภาวะเครียดอย่างรุนแรง บางครั้งเรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด (Stress Cardiomyopathy) หรืออีกชื่อทางการแพทย์ คือ Takotsubo Cardiomyopathy
ที่มาของชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy มาจากภาชนะที่ชาวญี่ปุ่นใช้จับปลาหมึก เพราะส่วนมากเวลาเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เมื่อทำการตรวจสวนหัวใจและฉีดสารทึบแสง จะได้ภาพหัวใจที่โป่งคล้ายภาชนะดังกล่าว จึงใช้ชื่อนี้เรียกภาวะความผิดปกตินี้ตั้งแต่ปี 1990 หรือปี พ.ศ. 2533
ที่มารูปภาพ : https://www.svhhearthealth.com.au/conditions/takotsubo-cardiomyopathy
อาการที่พบ
- เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
- หน้ามืด
- ความดันเลืดต่ำ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาจมีภาวะน้ำท่วมปอด
สาเหตุของโรคนี้
สาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้า หรือความเครียดอย่างมาก นอกจากนี้ เมื่อคนเราตอบสนองต่อความเครียดทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดในเลือด อย่าง อะดรีนาลิน นอร์อะดรีนาลิน อะดรีนาลีน และนอร์เอพิเนฟริน ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าฮอร์โมนเหล่านี้จะไปรบกวนการทำงานของหัวใจชั่วคราวและ อาจทำให้หัวใจห้องล่างซ้าย 'มึนงง' หรือเป็นอัมพาตชั่วขณะ ทำให้มีอาการคล้ายหัวใจวาย ได้แก่ แน่นหน้าอก ปวดแขนหรือไหล่ หายใจลำบาก เวียนหัว อาจถึงขั้นหมดสติ คลื่นไส้ และอาเจียน
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็น ภาวะหัวใจสลาย หรือเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน?
เนื่องจากสองโรคนี้ มีอาการที่คล้ายกันมากจึงไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)
แนวทางการรักษา
แพทย์จะทำการคัดกรองและวินิจฉัยก่อนว่า เราเป็นภาวะหัวใจสลาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันกันแน่ก่อน ด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยา ที่ช่วยไปควบคุมการบีบของหัวใจนั่นเอง
แต่ในกรณีที่ภาวะหัวใจสลายที่เกิดจากความเครียด และความเศร้า แพทย์อาจส่งต่อให้กับจิตแพทย์ เพื่อรับมือกับปัญหาและความเครียดของผู้ป่วย
แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสมอง ส่งผลต่อหัวใจเราได้จริงๆหรือ?
ทุก ๆ ความรู้สึกของเราเกิดจากฮอร์โมน “ความรัก” ก็เช่นกัน เมื่อเรามีความรัก สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า โดปามีนและออกซิโทซินออกมา
สารนี้จะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข และต้องการมากขึ้นอีก จนอาจทำให้ถึงขั้นเสพติดกันเลยก็ว่าได้ (หรืออาการคลั่งรักที่เคยพูดถึงไปแล้วใน EP.I http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/blog_show.asp?blogid=287)
แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราอกหัก ระดับฮอร์โมนเหล่านี้จะหลั่งน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนอื่น ๆ เหมือนตอนเรามีความรักนั่นเอง
แล้วเวลาเยียวยาทุกสิ่งได้จริงหรือ?
เวลาเราเศร้าหรือเครียด ร่างกายก็จะปล่อยฮอร์โมนต่างๆออกมา หนึ่งในฮอร์โมนความเครียดนั้นก็คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เมื่อเวลาผ่านไป ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเริ่มลดลง และอาจถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนตัวอื่น ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเครียดน้อยลง และระบบต่างๆในร่างกาย รวมถึงจิตใจของเราจะกลับเข้าสู่ภาวะปกตินั่นเอง
ที่มารูปภาพ : https://board.postjung.com/735138
สุดท้ายนี้แม้ว่า ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรักจะจบลงไม่ค่อยสวยงามนัก แต่หวังว่าพี่ๆ กปว. ทุกท่านจะพานพบแต่ความรักดีๆ สุขสมหวังกันถ้วนหน้านะครับ สาธุ๙๙ กราบขอบพระคุณและสวัสดีครับ (ไหว้ย่อ)
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://thestandard.co/podcast/ruok13/
https://shortrecap.co/thinking/ระยะอกหัก-5-stage-of-grief/
https://www.agnoshealth.com/articles/broken-heart-syndrome
เชื่ออย่างนึงค่ะว่า การ Move On ให้ไว และเวลา จะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง ได้จริงๆค่ะ กับอีกอย่างถ้าหากจะมูฟออนได้ไว การรักและให้ความสุขแก่ตัวเอง เพื่อให้ฮอร์โมนเอนโดรฟิน และโดปามีน ในร่างกายของเรา หลั่งออกมาเยอะๆ ชีวิตเราก็จะแฮปปี้ เพราะเพื่อนๆ พี่ ๆ มากมาย จะช่วยให้เราแฮปปี้และทำให้เวลาผ่านไปได้ไวเสมอ ชอบเรื่องที่มาแลกเปลี่ยน จังเลยค่ะ น่ารัก และน่าอ่านมาก ๆ เลยค่ะน้องอาร์ท
ผ่านมาทุกระยะแล้วค่ะ จนตระหนักได้ว่า บางที ความรัก อาจไม่ใช่ คำตอบของชีวิต ดังนั้น อย่ารักคนอื่น จนลืมรักตัวเอง รักครอบครัว และคนที่รักคุณนะคะ ด้วยความห่วงใยจาก ทิฟฟี่