Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
มาตรการทางกฎหมายสำหรับ กัญชง กัญชา ในยุค "ปลดล็อก" : ปลูก ใช้ จำหน่าย อย่างไร ให้ถูกกฎหมายประเทศไทย 188
มาตรการทางกฎหมายสำหรับ กัญชง กัญชา ในยุค "ปลดล็อก"
: ปลูก ใช้ จำหน่าย อย่างไร ให้ถูกกฎหมายประเทศไทย
🌱หลายๆคนคงทราบกันดีว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ได้มีการ “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่าสามารถใช้กัญชาได้อย่าง “เสรี” แล้วในประเทศไทย ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในการนำไปใช้ประโยชน์และสื่อสารให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเพื่อป้องกันการทำผิดเงื่อนไขตามข้อกำหนดนี้
🌱เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวแล้วพบว่า ได้กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาและสารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเท่านั้น ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังนั้น หากเป็นสารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก หรือไม่ได้สกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศก็ยังคงจัดเป็นสารเสพติดอยู่
🌱ส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชง ยังมีข้อจำกัดบางประการ สิ่งที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีเพียงช่อดอกของกัญชาและกัญชง รวมไปถึงเมล็ดของกัญชาเท่านั้น ส่วนเมล็ดกัญชง ใบ กิ่ง ก้าน ราก เปลือก ลำต้น และเส้นใยของกัญชาและกัญชง ไม่ถือเป็นยาเสพติด และเงื่อนไขที่สำคัญคือกัญชาและกัญชงที่จะไม่ถือว่าส่วนต่าง ๆ เป็นยาเสพติดนั้น จะต้องได้รับอนุญาตให้มีการปลูกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์หรือยาจากกัญชาและกัญชงได้ โดยขั้นตอนจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ดำเนินการได้ผ่าน Application "ปลูกกัญ" ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android หรือผ่าน http://plookganja.fda.moph.go.th
🌱ทำสารสกัดจากกัญชา ต้องขออนุญาตหรือไม่
กองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า “โดยทั่วไปแล้วการทำสารสกัดกัญชาจะตรวจสอบว่ามีสารแต่ละส่วนปริมาณเท่าใด ต้องนำสารสกัดที่ได้ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะอนุญาตให้ปลูกตามบ้านได้แล้ว ให้ใช้ส่วนประกอบของพืช (ยกเว้นช่อดอก) ในการทำอาหาร แต่การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกัญชาและกัญชง ไปสกัดเพื่อให้ได้สาร THC ยังคงต้องแจ้งขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด)โดยสารสกัดที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
🌱การนำส่วนของกัญชาและกัญชงมาใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย
กองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD
ผู้ประกอบการสามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เพื่อรับเลขสารบบอาหาร และต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารด้วย
🌱สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรู้เกี่ยวกับอาหารที่ใส่กัญชาในยุคปลดล็อคกัญชา
โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ส่วน “ใบกัญชา” มาประกอบอาหาร โดยพบว่า ใบสดมีสารเมา (THC) ค่อนข้างน้อย แต่จะมีสาร THCA (tetrahydrocannabinoic acid) ซึ่งไม่ทำให้เมา อย่างไรก็ตาม หาก THCA ผ่านความร้อนจากกระบวนการปรุงอาหาร จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็น THC ซึ่งหากได้รับ THC ในปริมาณมากอาจทำให้เมาได้ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มปริมาณสารเมาในเมนูอาหาร มีดังนี้
- การปรุงที่ผ่านความร้อน ดังอธิบายแล้วข้างต้น
- ระยะเวลาในการปรุงด้วยความร้อน หากใช้ระยะเวลานาน โอกาสเกิดสารเมาก็จะมากขึ้น
- ส่วนประกอบของไขมันในอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า THC ไม่ละลายน้ำ แต่สามารถละลายในไขมันได้ดี ดังนั้นหากปรุงเมนูกัญชาด้วยความร้อน ปรุงนาน และมีไขมันเป็นส่วนประกอบ (เช่น ใส่น้ำมัน หรือใส่เนย) จะทำให้เมนูนั้นๆ มี THC ในปริมาณที่สูงขึ้น
-
ส่วนและปริมาณของกัญชาที่นำมาปรุงอาหาร หากนำใบสดในปริมาณมาก หรือใช้ช่อดอก (ซึ่งมี THC มากอยู่แล้ว) มาปรุงด้วยความร้อนสูง/ใช้เวลาปรุงนาน จะทำให้มี THC ในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้มีอาการเมา หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง เป็นต้น
#กัญชา #กัญชง #กัญชาเสรี
#สุขภาพ #อาหาร
References :
BBC NEWS Thai : https://www.bbc.com/thai/thailand-61703618
กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ : https://siweb.dss.go.th/index.php/th/interesting-articles/7015-2023-08-31-05-14-23
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/pr-news/9919/