รู้เขา รู้เรา มองบรูไน สะท้อนไทยแลนด์ เพื่อปรับกระบวนทัศน์ไทยให้เหนือล้ำกว่า AEC  43

คำสำคัญ : ปรับกระบวนทัศน์  บูรไน  ยุทธศาสตร์ชาติ  

สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน blog นี้จะไม่ได้รีวิว หนังสือ หรือการศึกษาเรื่องอะไรของใครนะครับ แต่เป็นการรีวิวงานเขียนของผมเอง พอดีว่าช่วงนี้ผมมีความจำเป็นต้องไปรื้อเอกสารงานเก่าๆที่เคยทำมา และบังเอิญไปเจอบทความที่เคยเขียนไว้เพื่อตีพิมพ์ในวารสารของ กพ. ซึ่งมันคือผลงานที่เขียนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ย้ำ!! ว่ามันคือ 10 ปี ที่แล้ว ทว่า...มันยังคงเป็นปัจจุบันอย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งๆที่ผ่านไป 10 ปี แล้ว แต่สิ่งที่เขียนไป ข้อเสนอแนะที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างมีเหตุผลยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็เหมือนเป็นตลกร้าย หรือการประชดประชันนิดๆ ที่แม้จะผ่านมา 10 แล้ว เรายังวนเวียนอยู่ที่เดิม บางอย่างพัฒนาขึ้น บางอย่างยังเหมือนเดิม....หรือว่าเหมือนเดิมมันดีอยู่แล้ว? ยังไงก็ลองอ่านดูนะครับ แล้วลองพิจารณาดูว่า สิ่งที่ผมเขียนไปเมื่อ 10 ปี ก่อน กับ ปัจจุบัน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง...

 

 

 

รู้เขา รู้เรา มองบรูไน สะท้อนไทยแลนด์ เพื่อปรับกระบวนทัศน์ไทยให้เหนือล้ำกว่า AEC

 

โดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

จากการที่ได้รับทุนรัฐบาล เพื่อฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรการเสริมสร้างคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะการทำงาน ให้แก่ข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง(HiPPS) รุ่นที่ ๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน และในบริบทอาเซียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้ศึกษาดูงาน ณ ประเทศบรูไน หรือ เนการาบรูไนดารุสซาลาม จึงขอเสนอมุมมองจากการศึกษาดูงานในประเทศบรูไน เพื่อสะท้อนภาพรวมของกระบวนทัศน์ใหม่ด้านพัฒนาระบบการทำงานของข้าราชการไทย ภายใต้กรอบสังคมอาเซียน ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่ได้จากการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น

 

บทนำ

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift)

กระบวนทัศน์ (Paradigm)มาจากภาษากรีก โดย para แปลว่า beside ส่วน digm แปลว่า ทฤษฎี คือ ชุดแนวความคิด หรือ มโนทัศน์ (Concepts) ค่านิยม (Values) ความเข้าใจรับรู้ (Perceptions) และการปฏิบัติ (Practice) ที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่งและได้ก่อตัวเป็นแบบแผน ของทัศนะอย่างเฉพาะแบบหนึ่ง เกี่ยวกับความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถี เพื่อการจัดการตนเอง ของชุมชนนั้น ทีทำหน้าที่สองประการ คือ วางหรือกำหนดกรอบ และ ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ 

โทมัส คูน (Thomas S. Khun) นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นตำรับของการใช้คำว่า Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ โดยมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า “คือตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับของการทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่รวมไปถึงกฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือรวมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดรูปแบบที่ซึ่งนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกันอย่างเฉพาะพิเศษในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอธิบายต่อว่า “คนที่มีงานวิจัยอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน จะมีกฎและมาตรฐานการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์เหมือนกันและได้ผลออกมาเหมือนกัน”

ต่อมาอดัม สมิท (Adam Smith) จากหนังสือ Power of the Mind ให้คำจำกัดความที่กระชับขึ้นว่า “กระบวนทัศน์ คือ วิถีทางที่เรามองโลก ดังเช่น ปลามองน้ำ กระบวนทัศน์อธิบายเรื่องราวของโลกต่อเรา ช่วยให้เราคาดเดาพฤติกรรมของโลกได้ การคาดเดามีความสำคัญมาก”

โจเอล อาร์เธอร์ บาร์เคอร์ (Joel Arthur Barker) ผู้เขียนหนังสือ Paradigm และ Future Edge น่าจะเป็นผู้ที่ให้ความหมายที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด บาร์เคอร์ ได้ให้ความหมายว่า “กระบวนทัศน์” คือ ชุดของกฎและกติกา (ที่เป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) ที่ทำสองอย่าง : (1) ทำหน้าที่วางหรือกำหนดกรอบ (2) ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ” รวมไปถึง “เราวัดความสำเร็จนั้นอย่างไร”

กล่าวโดยสรุป Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ ก็คือ กระบวนคิดวิเคราะห์ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ แนวการดำเนินชีวิต ความเชื่อพื้นฐานที่มีในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ ตามวัย ตามสิ่งแวดล้อม ตามการศึกษาอบรม และตามการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล ความเชื่อพื้นฐานนี้จะเป็นตัวกำหนด ให้แต่ละคนชอบอะไร และไม่ชอบอะไร พอใจแค่ไหนและอย่างไร เป็นตัวนำร่องการตัดสินใจ ด้วยความเข้าใจ และเหตุผลในตัวบุคคลคนเดียวกัน อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากรู้สึกว่ามีเหตุผล เพียงพอที่จะเปลี่ยน แต่จะไม่เปลี่ยนด้วยอารมณ์ ก่อนเปลี่ยนจะต้องมีความเข้าใจ กระบวนทัศน์เก่าที่มีอยู่และ กระบวนทัศน์ที่จะรับเข้ามาแทน มีการชั่งใจจนเป็นที่พอใจ เพราะตราบใดที่มีสภาพเป็น คนเต็มเปี่ยมจะต้อง มีกระบวนทัศน์ใด กระบวนทัศน์หนึ่งเป็น ตัวตัดสินใจเลือกว่า จะเอาหรือจะปฏิเสธ ไม่มีไม่ได้ ถ้าไม่มีจะไม่รู้จักเลือก และตัดสินใจไม่เป็น

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm Shift) คือ การเปลี่ยนแปลงความรู้ วิธีคิดแบบใหม่ที่หักล้างและท้าทายกระบวนทัศน์เก่า จนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยน วิธีคิด มุมมอง วิธีปฏิบัติ แนวการดำเนินชีวิต ความเชื่อพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มุมมองหรือทัศนคติเปลี่ยนไปด้วย เช่น ก่อนที่มนุษย์จะรู้ว่าโลกกลม มนุษย์เราเคยดำรงชีวิตอย่างหวาดวิตกกลัวการเดินทางไกล เพราะกลัวว่าจะตกขอบโลก แต่เมื่อมนุษย์ได้รู้ว่าโลกกลม การเดินทางรอบโลก การล่าอาณานิคมจึงเกิดขึ้น โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และแนวคิด วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมากมาย

คิดต่าง คิดนอกกรอบ คิดอย่างเป็นระบบ คือ การคิดสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับแนวคิดหรือความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาจนยากที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยปฏิบัติอยู่จนเป็นนิสัย เหมือนกับผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่งได้พูดว่า “เครื่องจักรถ้าไม่เสียทำไมจะต้องซ่อม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างอันตรายต่อองค์การเป็นอย่างมาก การยึดติดกับแนวทางความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นหลุมพรางที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานเนื่องจากในปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้บริหารไม่สามารถที่จะยึดติดกับบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาได้อีกต่อไป และหากต้องการที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในด้านการบริหารงาน ก็ควรจะต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน โดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่ากลัวที่จะคิดหรือทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิมหรือไม่ กล้าที่จะมองโลกในมุมที่ต่างไปหรือไม่ การคิดอย่างแตกต่างไม่ว่าจะเป็นการคิดแนวข้าง (Lateral Thinking) การคิดนอกกรอบ (Think out of box) ล้วนต้องอาศัยความกล้าในการตัดสินใจทั้งสิ้นเพราะผลของการกระทำดังกล่าวย่อมที่จะทำให้ผู้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถูกมองด้วยสายตาที่แปลกประหลาดจากบุคคลรอบข้างอาจไม่ได้รับการยอมรับ แต่หากไม่มีซึ่งบุคคลที่คิดแปลกและแตกต่างไฉนเลยในปัจจุบันเราจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือมีสมาร์ทโฟนใช้กันในทุกวันนี้ ซึ่งความแปลก แตกต่าง ให้ประสบความสำเร็จและไม่ถูกมองว่าประหลาด จะต้องแปลกอย่างมีระบบ และต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Systematic Problem Solving & Decision Making)ควบคู่กันไปด้วย หากมีแค่วิสัยทัศน์แปลกใหม่ที่ไม่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว นอกจากนี้การเปลี่ยนมุมมอง จากในมุมของคนอื่น การมองอย่างเป็นบุคคลที่3 จะทำให้เราเห็นสิ่งที่มองแตกต่างออกไป เช่นเดียวกับการที่เรามองประเทศบรูไน ที่เป็นประเทศเล็กๆ เทียบได้กับจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น ด้วยภูมิประเทศ วัฒนธรรม การปกครอง สิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ก็จะทำให้เรามองเห็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่นอกเหนือไปจากประเทศไทย ได้เช่นกัน

 

มองบรูไน สะท้อนไทยแลนด์

ภาพรวมของเนการาบรูไนดารุสซาลาม

ข้อมูลทั่วไป: ด้วยพื้นที่ 5,770 ตร.กม. และประชากรไม่ถึง 400,000คน เทียบได้กับจังหวัดเล็กๆของไทยเท่านั้น ทำให้การบริหารจัดการประเทศ สามารถกระทำได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ประกอบกับเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่บรูไนก็ไม่ได้หวังพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว จึงพยายามที่จะพัฒนาประเทศให้พึ่งพาตัวเองได้ โดยวางแผนและดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนอย่างอื่น มุ่งสนับสนุนโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในภูมิภาคที่สามารถป้อนผลผลิตให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น (Local Content) ก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจึงขยายไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออกในระยะยาว โดยตั้งความหวังว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นแหล่งที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมน้ำมันที่อาจหมดไปในอนาคต โดยที่ประชาชนยังมีหลักประกันว่าจะมีงานทำ อย่างไรก็ตามบรูไนก็มีรายจ่ายที่ค่อนข้างสูง จากการที่รัฐบาลได้ให้สวัสดิการอย่างดีเลิศแก่ประชาชน อาทิ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาลฟรี การศึกษา รัฐให้เปล่าจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษานอกจากนี้ยังมีสวัสดิการแก่ข้าราชการของรัฐ ซึ่งการให้สวัสดิการดีเลิศขนาดนี้ทำให้ประชาชนบรูไนมักหวังพึ่งพารัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ การเกิดขึ้นของธุรกิจการลงทุนและอุตสาหกรรมจึงมักเกิดจากระดับผู้บริหารประเทศหรือเกิดจากรัฐบาลมากกว่าการเกิดจากประชาชน

สถาบันหลัก :3 สถาบันหลักของบรูไน นั้นไม่แตกต่างจากไทย กล่าวคือ ประกอบด้วย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เช่นเดียวกัน แตกต่างกันที่บทบาทการเมืองการปกครองของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลอมรวมอยู่ในการเมืองการปกครองของบรูไนอย่างฝังลึก องค์สุลต่านเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองอีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวบรูไน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความนอบน้อม เทิดทูนแด่องค์พระมหากษัตริย์ของตน ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของกฎหมายที่เข้มงวด และขนบธรรมเนียบปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้ประชาชนบรูไนจึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง เห็นได้จากการรักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ การจัดระเบียบบ้านเมือง การเคารพต่อกฎระเบียบและวินัยจราจร ไม่ฝ่าไฟแดง รวมถึงการหยุดรถให้คนข้ามถนน ทั้งประเทศไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีอาชญากรรมต่ำ และสิ่งที่โดดเด่นและน่าสนใจมาก คือ บรูไนให้การใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการปลูกฝังจิตสำนึกของการใช้พลังงานอย่างประหยัดตั้งแต่เด็ก

ระบบราชการของเนการาบรูไนดารุสซาลาม

หน่วยงานราชการของบรูไน มีการทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี อาจจะสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศมีจำนวนประชากรน้อย และมีระบบจ่ายค่าตอบแทนของข้าราชการค่อนข้างสูง จึงจำนวนข้าราชการค่อนข้างมาก เกือบถึงร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด ประกอบกับกฎหมายค่อนข้างเข้มงวดและรัดกุม จึงมีการคอรัปชั่นน้อย นอกจากนี้บรูไน ยังมีการให้บริการของระบบราชการที่มีความโดดเด่นจากการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในระบบราชการ (e-government) โดยบูรณาการการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้มีความเชื่อมโยงกัน และสิ่งที่สำคัญ คือ บรูไนเป็นประเทศที่กำหนดวิสัยทัศน์ในระยะยาวถึง 30 ปี ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรียกว่า WAWASAN 2035ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า Vision 2035ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ และด้วยเหตุที่มีประชากรน้อย บูรไนจึงเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาชาติในอนาคต

 

ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไทยให้เหนือล้ำกว่า AEC

          ขยายวิสัยทัศน์ให้ยาวไกลยิ่งกว่า AEC

จากการที่บรูไนมีแผนชาติในระยะยาวถึง 30 ปี ครอบคลุมไปถึงปี ค.ศ. 2035 ซึ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2018 นั้น เป็นเพียงแผนระยะสั้นเริ่มต้น ของแผนระยะยาวถึง 30 ปีเท่านั้น ฉะนั้นบรูไนจึงไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นในการปรับตัว เตรียมตัว เตรียมพร้อมรับมือ ACE มากเท่าประเทศไทย ทั้งนี้เพราะบรูไนมองข้ามภูมิภาคอาเซียน สู่เวทีพลังงานโลกแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีความตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของ AEC ซึ่งหลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเตรียมพร้อมให้เห็น เช่นเดียวกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มีจุดเด่นของการปฏิบัติงานที่ถือเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้อย่างดี คือ การปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐานตามหลักสากลโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และยึดถือเป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นอย่างดี มีการพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่ให้มีความคุ้นเคยชำนาญด้านภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่จากประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เจ้าหน้าที่จากประเทศพม่า และ และมีการอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

ถึงแม้ว่าภารกิจของหน่วยงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะมีความแตกต่างอย่างมากกับ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ แต่ความมุ่งมั่นในการยึดหลักปฏิบัติอย่างมีมาตรฐานระดับสากล เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนมุมมองต่ออาเซียน เพื่อมองให้ไกลออกไปสู่ระดับโลก การเตรียมความพร้อมรับมืออาเซียนเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งสู่การเข้าสู่เวทีโลก การตั้งเป้าสุดท้ายไว้ที่เวทีโลกหรือระดับสากล แล้วไปให้ถึงจุดดังกล่าว จะทำให้การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนมีทิศทางยาวไกลที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายระดับสากลก็เป็นสิ่งจำเป็น และประเทศไทยควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายในระยะยาวยิ่งขึ้น ให้ยาวไกลยิ่งกว่าการเตรียมความพร้อมรับ AEC ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งควรจะเห็นภาพประเทศไทยที่ต้องการจะมุ่งเป้าหรือต้องการจะเป็นในอีก 30 ปี ถัดไป ว่าไทยจะเป็นอย่างไรสำหรับอาเซียนและเวทีโลก แล้วกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ พัฒนาบุคลากรด้วยเป้าหมาย 30 ปี

 

ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไทย

1. สายตายาวมองไกลสู่อนาคต ประเทศไทยควรวางวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายของประเทศในระยะยาวให้ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยควรกำหนดเป็นแผนระยะยาว 30 ปี ซึ่งประกอบด้วยแผนระยะกลาง 10 ปี 3 แผน และแผนระยะสั้น 5 ปี 6 แผน เป็นต้น ซึ่งการวางแผนเป็น 3 ระดับ (ยาว กลาง และ สั้น) เช่นนี้ จะมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนระยะสั้น 5 ปี ได้ตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายระยะยาว 30 ปี

2. แรงจูงใจรับใช้ชาติ ประเทศบรูไนให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลอย่างมาก โดยให้ทุนการศึกษาสำหรับประชาชน แล้วดึงคนเหล่านั้นกลับมาทำงานให้รัฐบาล ด้วยผลประโยชน์จูงใจของรัฐบาลทำให้ไม่มีนักเรียนทุนที่ต้องการออกจากราชการไปทำงานเอกชน เนื่องเพราะผลตอบแทนการทำงานของรัฐและเอกชนไม่แตกต่าง ประกอบกับสวัสดิการที่เหนือกว่าเอกชน ทำให้นักเรียนทุนส่วนใหญ่ต้องการทำงานให้รัฐมากกว่าแตกต่างกับประเทศไทยที่นักเรียนทุนต้องการไปทำงานในภาคเอกชน ประเทศไทยจึงควรสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรชั้นเลิศต้องการทำงานในระบบราชการให้มากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงข้าราชการดั้งเดิม ทั้งนี้ สำนักงาน กพ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงได้มี แนวทางและกลไกต่างๆ มาเพื่อเสริมสร้างและสนับสนุน แรงจูงใจของบุคลากรชั้นเลิศที่รับราชการ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิด  Talent Mobilityที่ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ และจะมีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรของชาติต่อไปในอนาคต

3. การจัดสรรงบประมาณและการทำงานฐานโครงการ (Project Base Budgeting) การปรับมุมมองความคิดในการพัฒนาประเทศ โดยมองในมุมผลประโยชน์ที่ชาติจะได้รับก่อนการคิดถึงงบประมาณที่จะใช้ มาปรับปรุงใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมกับส่วนราชการที่สังกัด ในกรณีของประเทศบรูไน เนื่องจากองค์สุลต่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยพระองค์เอง การจัดสรรงบประมาณจึงคำนึงอยู่บนฐานของผลประโยชน์ที่จะเกิดกับชาติของโครงการต่างๆ แล้วจัดสรรงบประมาณให้ตามโครงการ โดยไม่ขึ้นอยู่กับปีงบประมาณในแบบของไทย ทำให้โครงการต่างๆของบูรไนสามารถดำเนินการได้อย่างลื่นไหลไม่สะดุด จากการชะงักงันเนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของงบประมาณ เพราะในปัจจุบันมีโครงการต่างๆของราชการไทยที่กำลังประสบปัญหา ที่งบประมาณไม่ต่อเนื่องทำให้การดำเนินงานค้างคา ไม่มีการสานต่อ ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี ทำให้มีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ไม่สามารถควบคุมได้สูง เกิดเป็นคดีความค้างคาแรมปี เป็นต้น หากสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการต่างๆในระยะยาว โดยแบ่งเฟสโครงการในแต่ละปีให้ชัดเจน โดยมีตัวชี้วัดที่วัดได้ในแต่ละปี จะทำให้โครงการนั้นๆสามารถดำเนินการได้อย่างมีความมั่นคงด้านงบประมาณ และเป็นหลักประกันว่าจะได้ตัวชี้วัดตามเป้าหมายในระยะยาว

การบริหารแบบนี้เรียกว่า Project baseซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบราชการไทยในปัจจุบัน ที่เป็นการจัดระบบบริหารงานและโครงสร้างแบบแนวดิ่งหรือตามลำดับส่วน การจัดสรรงบประมาณก็ยังเป็นตามหมวดการใช้จ่าย หากสามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรหรือวิเคราะห์งบประมาณแบบฐานกิจกรรม หรือ Activity Base Costing(ABC) จะทำให้รูปแบบการใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ด้วยข้อดีของการวิเคราะห์งบประมาณตามฐานกิจกรรม จะทำให้เราทราบถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรมที่ดำเนินการ ทำให้รู้ว่าต้นทุนไปโป่งที่กิจกรรมใด ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นอยู่ตรงไหน ทำให้สะดวกในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่การจัดทำงบประมาณตามหมวดค่าใช้จ่ายแบบเดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งการวิเคราะห์งบประมาณตามฐานกิจกรรมนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานหรือบริหารงานแบบ Project baseโดยการบริหารจัดการในแบบเดิมเป็นการบริหารตามโครงสร้างองค์กรแบบแนวดิ่ง (Vertical Organization)ที่มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ตามสายบังคัญบัญชาจากบนลงล่าง ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการบริหารจัดการตามโครงสร้างแบบแยก กิจกรรม/โครงการ หรือ โครงสร้างแบบแมท ทริกซ์ (Matrix Organization)ซึ่งเป็นการกำกับดูแลที่เน้นการทำงานเป็นทีมข้ามหน้าที่ การใช้หน่วยหรือกลุ่มเฉพาะกิจ ยึดรูปแบบการทำงานแบบ Project base ซึ่งมีสายการบังคับบัญชาที่สั้นลง โครงสร้างขนาดเล็กอยู่ในขนาดใหญ่ ทำให้ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ง่าย ซึ่งการบริหารจัดการให้ข้าราชการทำงานโดยยึดกิจกรรม/โครงการเป็นหลัก เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระจายงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังจะทำให้การประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น กล่าวคือประเมินตามจำนวนผลงาน และกระบวนการที่ได้ดำเนินการจริงของแต่ละบุคคล

4. การบริหารจัดการทรัพยากร  ในสายตาของต่างชาติ บรูไนพยายามทำให้ต่างชาติเข้าใจว่าพลังงานของประเทศกำลังจะหมดไป แท้ที่จริงแล้วเป็นกลไกการต่อรองราคาน้ำมันในตลาดโลก อีกทั้งยังเป็นการสำรองพลังงานไว้ใช้เองในประเทศในอนาคตหากเกิดภาวะการขาดแคลนพลังงานของโลก โดยการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้และผลิตพลังงาน ในขณะที่ประเทศไทยยังนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเกือบ 100% และยังมีแนวโน้มการบริโภคพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงควรต้องคำนึงถึงการวางแผนทรัพยากรอย่างเป็นระบบและมองเป็นภาพใหญ่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงตลาดภายในและภายนอกประเทศ เพื่อกำหนดแผนการในอนาคตไว้ด้วย โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เป็นทรัพยากรที่โดดเด่นของเรา เช่น สินค้าเกษตร และ อาหาร

ในกรณีของสินค้าเกษตร การผันแปรของราคาผลิตผลทางการเกษตรหลายๆคนมักมองว่าเป็นกลไกตลาด เกินกว่าจะควบคุมได้ และหากไม่อยู่ในระดับราคาที่ต่ำจนวิกฤติรัฐก็จะไม่เข้าแทรกแซงราคา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากเราถอยหลังกลับมามองในมุมที่กว้างขึ้น กว้างกว่าประเทศไทย กว้างกว่าอาเซียน กว้างไปถึงเอเชีย และครอบคลุมไปทั่วตลาดโลก เช่นเดียวกับที่บรูไนมองตลาดพลังงานระดับโลก เราจะสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของสินค้าเกษตรที่กลายเป็นกลไกราคาตลาดในระดับมหภาค การเปลี่ยนมุมมองจากตลาดจุลภาคภายในประเทศ เป็นระดับมหภาคของตลาดโลก จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ เพราะอย่างไรก็ตามการซื้อขายเชิงพาณิชย์ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งเป็นพื้นฐานการตลาด เมื่ออุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูง และอุปทานหรือการผลิตสินค้าต่ำ ราคาสินค้าก็จะสูง ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ลำไย ที่มีราคาผันผวนตกต่ำ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดยักษ์ใหญ่เป็นผู้ควบคุมราคาจากกำลังซื้อที่มหาศาล กดราคาลำไยไทย เพราะมีอำนาจต่อรอง และเกษตรกรไทยปลูกลำไยจำนวนมากเพราะมีความต้องการจากจีนเป็นกระแสให้เร่งผลิต หากรัฐบาลสามารถวางแผนการปลูกลำไยของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ ควบคุมจำนวนผลผลิตให้คงที่และพอดีกับความต้องการตลาด โดยการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูก มีระบบฐานข้อมูลที่ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ สามารถอัพเดตข้อมูลปริมาณการผลิตผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ก็จะสามารถควบคุมอุปทานของลำไยได้ ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลสามารถเจรจาขยายตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ยุโรป อเมริกา ให้รู้จักและหันมาบริโภคลำไยไทย ก็จะเป็นการเพิ่ม อุปสงค์ให้สินค้าลำไย เมื่อควบคุมทั้งอุปทานและเพิ่มอุปสงค์ได้แล้วก็จะสามารถควบคุมราคาลำไยให้คงที่ตามที่ต้องการได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยี และการจัดการในภาพรวมตลอดทั้งห่วงโซ่ ซึ่งต้องบูรณาการหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนจึงทำได้

5. หนึ่งหน้าต่าง จุดเดียวจบ และไม่ผิดประตู รูปแบบการให้บริการของราชการแบบครบวงจรจุดเดียวจบหรือ One Stop Service และ Single Window เปรียบเทียบกับ No Wrong Door ของบรูไน ซึ่งมองในมุมที่เพิ่มเติมออกไปจากของไทยอีกเล็กน้อย กล่าวคือ ไทยเน้นช่องทางการเข้าถึงของประชาชนให้มีช่องทางเดียว แต่ในความเป็นจริงหน่วยงานที่กระจัดกระจายไม่รวมศูนย์การจะทำ One Stop Serviceให้เกิดผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์จึงเป็นไปได้อยาก ในขณะที่บรูไนใช้ One Stop ServiceAgencies คือมีพนักงานที่ทำหน้าที่เสมือนมักคุเทศก์ ที่คอยนำทางผู้ใช้บริการให้เข้าไปรับบริการแบบไม่ผิดช่องทาง (No Wrong Door) ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนสร้างศูนย์สร้างหน่วยงานเพิ่ม

6. บูรณาการ อย่าง Synergize  คือ การผนึกพลังประสานความต่าง การผนึกพลังเกิดขึ้นเมื่อมีการให้คุณค่าในความแตกต่างร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ และระดมสมองหาแนวทางต่างๆ แก่นสำคัญอยู่ที่การให้เกียรติในความแตกต่าง การสร้างผลลัพธ์จากจุดแข็งของทุกฝ่าย และการชดเชยจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย ถึงแม้ระบบราชการไทยจะมีการส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการมาอย่างช้านาน แต่ก็ยังไม่มีผลการบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก จึงควรสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการในการทำงานประสานงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การร่วมใช้ฐานข้อมูลกลางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้และแชร์ข้อมูลร่วมกันเพื่อการประสานงานที่สอดคล้องรองรับซึ่งกันและกัน รวมถึงการลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน รวมถึงการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเพิ่มเความสะดวกในการร่วมมือ เป็นต้น

 

 


เขียนโดย : นายสมบัติ  สมศักดิ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sombat.s@most.go.th