"4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม"  27

คำสำคัญ : team  การพัฒนาตนเอง  

"4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม"

การทำงานในทุกๆ ที่ มักเกิด “ปัญหาขัดแย้ง” ไม่มากก็น้อย… “ความคิดเห็นไม่ตรงกัน” คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในที่ประชุม โดยเฉพาะที่ทำงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก…
ไม่มีทางที่ “ทุกคน” จะชอบไอเดียของคุณได้ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณไม่ควรกลัว หรือหลีกเลี่ยง แต่ควรเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาด

และถ้าคุณสามารถจัดการข้อขัดแย้งในแต่ละครั้งได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม

====

บ่อยครั้งที่คุณอยากจะให้ปัญหานี้จบ ๆ ไป… ปล่อยผ่าน… ไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือมีเรื่องกับใครเพิ่ม…

โดยเฉพาะออฟฟิศในองค์กรแบบไทย ๆ ที่มักแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าใครไม่ได้อยู่พวกนี้ ก็หมายความว่าเป็นศัตรูกับพวกนั้น การอยู่เฉย แน่นอนว่าเป็นการไม่หาเรื่องเข้าตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน

ในทางตรงข้าม มันหมายความว่า คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือมีอะไรโดดเด่นที่ทำให้เจ้านายและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ…

ทางที่ดี ถ้าปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ มาถึง พยายามมอง “เป็นโจทย์ และความท้าทายใหม่ ๆ” เป็นเวทีที่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ

====

เริ่มต้นจากหาสาเหตุความขัดแย้ง
เริ่มแรก คุณควรเข้าใจและเข้าถึงปัญหาเสียก่อน พยายามเปิดใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติใดๆ คุณจึงจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุรอบ 360 องศา กว้างมากขึ้น และเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น ว่ามาจาก...

====

1. อารมณ์
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนกำลังมีอารมณ์ และพร้อมระเบิดมันออกมา ทางที่ดีที่สุดคือเดินออกมาจากห้องนั้น หรือ ณ ตรงนั้น เพื่อสงบสติอารมณ์…

อย่าใช้อารมณ์ในการโต้แย้ง แต่จงใช้ความจริง สถิติ หลักฐานในอีเมล์ พยาน ลูกค้า และทางที่ดี พยายามหาข้อเท็จจริงที่มาจากต้นตอของปัญหา

อย่าคิดไปเอง อย่าคาดว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้จะเกิด เลิกโทษอดีต เช่น ถ้าอย่างงั้น ทำไมพี่ไม่ทำล่ะ… ถ้ารู้อย่างงี้ ทำไมเธอไม่รับผิดชอบ

มันไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างถึงอดีตที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรเอาเรื่องไม่สร้างสรรค์และวนในอ่างมาพูดถึง แต่ควรพยายามหาทางที่เป็นทางออกเชิงสร้างสรรค์

เช่น แล้วคุณจะทำอย่างไร? คุณมีแผนสำรองอย่างไร? คุณได้ลองติดต่อทางโน้นแล้วหรือยัง? นั่นคือประโยคเชิงบวกที่ดีและสร้างสรรค์กว่าการนั่งถกเถียง และเกี่ยงกัน

====

2. การสื่อสาร
คุณกำลังใช้ภาษาหยาบคาย หรือถ้อยคำประชดประชัน ในการตอบคำถาม โต้แย้ง หรือปะทะคารม ให้อีกฝ่ายมีอารมณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า?

และถ้าคุณต้องเป็นกรรมการในการห้ามมวยคู่นั้น คุณควรพูดอย่างเป็นกลาง พยายามตัดจบเรื่องราว ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ให้ทุกคนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อใช้ประชุมในครั้งหน้า และข้อมูลที่นำมาเสนอ ควรเป็นเรื่องที่ชัดเจน แม่นยำ เชื่อถือได้ และไม่เก่าจนเกินไป

====

4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

1. หาจุดร่วมของทีม
สร้างโมเดล หรือกติกาในการตัดสินใจร่วมกัน หรือหาความเห็นตรงกัน “การสร้างจุดร่วม” อาจเกิดจากการถามความเห็นและสนับสนุนสิ่งที่ทำให้เกิดทีมเวิร์ค โดยคุณอาจจะกำหนดคนที่เป็น Team Player คนที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติ Influencer สร้างเฟรมเวิร์คที่มาจากความเห็นของพวกเขา และใช้สิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ
====

2. หาปมขัดแย้ง
พยายามหาปมขัดแย้งให้เร็วที่สุด ทุกอย่างมีโอกาสเป็นปมขัดแย้งได้หมด แม้ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องไร้สาระหรือมีสาระ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ

ทางที่ดี คุณและทีมควรเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง และอย่ากลัวที่ต้องเผชิญความจริง คุณต้องย้ำกับเพื่อนร่วมงานหรือทีมเสมอๆ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ เราลงเรือเดียวกันแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบร่วมกัน

แสดงสปิริตที่จะทำให้คนกล้าพูดความจริง เพื่อที่จะหาต้นตอของปัญหาที่ถูก และใช่ ในเวลาจำกัด

====

3. หาแรงจูงใจ
การเล็งไปที่แรงจูงใจของสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา จะทำให้คุณได้ความคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้ ใครเสียผลประโยชน์สูงสุด ปัญหาและปมขัดแย้งนี้มีที่มาจากคนแบบไหน และเขาต้องการอะไร เพื่อความสะใจ เพื่อทำลายใคร เพื่อจุดมุ่งหมายแบบไหน บางที เราไม่ควรมองที่การกระทำ แต่ควรใส่ใจที่เจตนาด้วย

====

4. หาปัจจัยแวดล้อม
หลังจากเราหาเหตุเจอแล้ว มาถึงคราวที่เราจะต้องหาปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดปมขัดแย้ง อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปมขัดแย้งในที่ทำงานปะทุขึ้นมากกว่าเดิม ใครมีส่วนร่วมบ้าง และเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร

พยายามพูดคุยเปิดใจกัน และมองภาพใหญ่ให้ออก ว่าใครเป็นคนสนับสนุนปัจจัยสำคัญเหล่านั้น… พยายามเชื่อมโยงและทำให้พวกเขาเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาควรทำ หรือไม่ควรทำ

ที่มา : https://learninghubthailand.com/4-steps-to-reduce-conflict-in-the-workplace/


เขียนโดย : น.ส.จิณห์นิภา  พลีทอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jinnipa.p@mhesi.go.th

น่าสนใจมากครับ ถ้าสนใจในเรื่องแนวนี้ลองหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อง Conflict management แล้วจะได้แนวทางเพิ่มอีกเพียบเลยครับ

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์