Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
#เส้นทางสู่นวัตวาณิชย์ #Research to Market #R2M #RSP 240
1.ความเป็นมาของโครงการ
โครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market -R2M)” เป็นโครงการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค (Regional Science Park – RSP) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่จะนำนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์หรือผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาออกไปสู่เชิงพาณิชย์ และเป็นการสร้างโอกาสให้นักวิจัย ผู้คิดค้นนวัตกรรม รวมถึงนักศึกษาได้ร่วมทดสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี และลดช่องว่างระหว่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมกับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เนื่องด้วยงานวิจัยซึ่งดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยพื้นฐานและเป็นการสำรวจข้อมูลมากกว่าการวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดหรือถ่ายทอดสู่การผลิตสินค้าหรือบริการในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ การศึกษาต้นทุนและความต้องการของตลาด เป็นต้น
โครงการ R2M จึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาตลอดจนเปิดช่องทางในการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยและนักศึกษาได้เรียนรู้การเริ่มต้นทำธุรกิจจนถึงการแข่งขันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ และเป็นการเพิ่มเติมความรู้แก่นักศึกษาและนักวิจัยเกี่ยวกับขั้นตอนของนวัตกรรมจนถึงการตลาด นอกจากนี้ผู้เข้าแข่งขันภายใต้โครงการ R2M จะได้รับประสบการณ์โดยตรง ภายใต้คำชี้แนะของที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจในการวิเคราะห์และการตรวจสอบเทคโนโลยีเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่การตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการ อีกทั้งสามารถนำผลงานดังกล่าวไปพัฒนาให้เป็นจุดแข็งเพื่อแข่งขันกับผู้อื่นได้ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย และที่สำคัญคือช่วยให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ สร้างสิทธิประโยชน์สู่นักวิจัย หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงการสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับประเทศ ด้านนักศึกษาเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้องค์ความรู้และแนวคิดการดำเนินงาน เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ หรือเกิดเป็นกลุ่ม startup รุ่นใหม่
ในการดำเนินงาน อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จะเปิดรับผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยและคัดเลือกจากผลงานนวัตกรรมที่เข้าร่วมการประกวดผลงานนวัตกรรม ในแต่ละปีร่วมด้วยจากนั้นนำผลงานที่ผ่านการคัดเลือกและตรวจสอบเบื้องต้นแล้วจากการทำ Opportunity Canvas มานำเสนอและจับคู่กับทีมนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เป็นโจทย์ในการแข่งขันการจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้น โดยจะมีการร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการ และจะสนับสนุนในด้านการแสวงหาทีมที่ปรึกษาอีกทั้งการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีนั้นตลอดจนการจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในกรณีที่มีความพร้อมในการการจัดตั้งบริษัทต่อไป
อย่างไรก็ตามการแข่งขันภายใต้โครงการ R2M ยังไม่ใช่การประกวดแผนธุรกิจ เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอภายใต้โครงการ R2M นั้นอาจจะยังไม่พร้อมสมบูรณ์สำหรับการนำเสนอเข้าสู่ตลาด แต่จะเป็นการดำเนินการในระยะเริ่มต้นที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเทคโนโลยีเช่น การวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บริการ อะไรได้บ้างให้กับอาจารยอาจารย์นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษาที่เสนอหัวข้อผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม และทีมนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ กระบวนการเริ่มต้นของแนวคิด ระบบและขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้แผนปฏิบัติการไปจนถึงแผนการลงทุนเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะออกสู่ตลาด โดยที่โครงการนี้จะจัด Boot Camp จำนวน 2 ครั้งคือ Boot Camp ระดับมหาวิทยาลัย และ Boot Camp ระดับภูมิภาค เพื่อคัดสรรทีมตัวแทนไปแข่งขันต่อในระดับประเทศ และสนับสนุนให้มีการนำนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกระดับภูมิภาคเข้าสู่กระบวนการต่อยอดในการพัฒนาสู่เป็นผู้ประกอบการหรือ startup ต่อไป
หมายเหตุ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม ที่เสนอเข้าร่วมโครงการ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ ผลิตผล ระบบ กระบวนการ วิธีการ หรือการบริการใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลจากการใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์ หรือจากการวิจัย
2.วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ของผลงานวิจัย นวัตกรรม ของมหาวิทยาลัยและเตรียมความพร้อมในการนำผลงานดังกล่าวออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
2.2 เพื่อสร้างช่องทางในนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงธุรกิจโดยการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและการจับคู่ธุรกิจที่เกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย
2.3 เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมให้กับนักศึกษาและบุคลากร
2.4 เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนนักศึกษาไปแข่งขันต่อในระดับประเทศ
2.5 เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างและพัฒนาต่อยอดนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือ เกิดเป็น startup รายใหม่ขึ้น
3.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพ ความพร้อม และฐานทรัพยากรของพื้นที่นั้นๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
4.เป้าหมาย
4.1 ผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย
4.2 ผู้ประกอบการเดิมที่ประกอบการมาแล้วไม่เกิน 2 ปี โดยยังไม่จดทะเบียนนิติบุคคล หรือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นฐานในการประกอบการโดยจัดตั้งเป็นธุรกิจใหม่
4.3 กลุ่มผู้ประกอบการจากกลุ่มชุมชน
5.แผนการดำเนินงาน
5.1. กิจกรรมประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน
5.2. การประชาสัมพันธ์หาผู้เข้าร่วมโครงการ
5.3. กิจกรรม Train the Trainer อบรมพี่เลี้ยง
5.4. กิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Bootcamp)
5.5. กิจกรรม Pitching เพื่อคัดเลือกตัวแทนมหาวิทยาลัย
1. ระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 10 ทีม
6. กิจกรรมแข่งขัน Research to Market (R2M) ระดับภูมิภาค
คัดเลือกตัวแทนมหาวิทยาลัย จำนวน 25 ทีม คัดเลือกจำนวน 5 ทีมในการเข้าแข่งขันรอบระดับประเทศ
7. กิจกรรม Coaching and Mentoring
8. กิจกรรมแข่งขัน Research to Market (R2M) ระดับประเทศ
9. ติดตามผลการต่อยอดผลงานเชิงธุรกิจของผลงานวิจัย และการต่อยอดเชิงธุรกิจของนักศึกษา
และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากไฟล์นำเสนอ https://drive.google.com/file/d/11rm15QHBzANFRdXcLEQOHWth8oK3p078/view?usp=sharing
นำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน https://www.youtube.com/watch?v=W2Oc-IZdc1k
ครั้งหน้าจะมีการให้ข้อมูลผลการแข่งขันและการดำเนินงานต่างๆ ที่ต่อยอดผลการแข่งขันของโครงการ