"ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ VS เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร  307

คำสำคัญ : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  เขตเศรษฐกิจพิเศษ    

จากการได้ตามอ่านข้อมูลในหลายๆ บล๊อคที่ร่วมแชร์ข้อมูลอันเป็นประโยชน์  ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาพื้นที่  "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ"  ที่รัฐบาลมุ่งเน้นในปัจจุบัน  ก็เกิดมีความสงสัยว่า เหมือนหรือต่างกับพื้นที่  "เขตเศรษฐกิจพิเศษ"  หรือไม่อย่างไร  ในบล๊อคนี้ผู้เขียนจะขออธิบายด้วยแผนภาพ เพื่อให้เห็นความเหมือนและความต่างของ 2 พื้นที่นี้ นะคะ

เขตเศรษฐกิจพิเศษ  เป็นคำใหญ่ที่กล่าวโดยรวม โดยภายใต้คำว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ  แยกเป็น 2 พื้นที่สำหรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ  คือ  "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน"  และ  "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ" 

 

1. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง  ได้ถูกประกาศตั้งแต่ปี 2558 โดยกำหนดให้จังหวัดที่มีอาณาเขตบริเวณแนวชายแดนในแต่ละภาค และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าระหว่างชายแดน เป็น  "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน"  ประกอบด้วย  10 จังหวัด (มุ่งเน้นพื้นที่อำเภอที่ติดแนวชายแดน) ได้แก่ ตาก เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา นราธิวาส

 

โดย สภาพัฒน์กำหนดกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ประกอบด้วย 13 กิจการ ได้แก่

(1)    อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง

(2)    การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ โลหะ และวัสดุ

(3)    การผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง

(4)    การผลิตเครื่องเรือน

(5)    การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ

(6)    การผลิตยานยนต์เครื่องจักรและชิ้นส่วน

(7)    การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

(8)    การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและเยื่อกระดาษ

(9)    การผลิตผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์

(10)  กิจการบริการ

(11)  กิจการสาธารณูปโภค

(12)  นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม

(13)  กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

2. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค  มติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค  ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ  ประกอบด้วย  4  ภาค  16 จังหวัด ได้แก่

     (2.1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) : เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

แนวทางการพัฒนา : พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย : อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

   

    (2.2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) : ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย

แนวทางการพัฒนา : พัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย : อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

 

     (2.3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) : อยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนา : พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงเชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย : อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

     (2.4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) : ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช

แนวทางการพัฒนา : พัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามันเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง (ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลิตภัณฑ์ประมง และอื่น ๆ) และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย : อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

โดยเราจะเห็นความเชื่อมโยงของพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 

แล้วทำไมจึง ไม่มี ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  เพราะว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกมี "โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC" อยู่แล้วนั่นเอง

 

 

บล็อกต่อไปจะมาเล่าให้ฟังในเรื่องการถอดบทเรียนโครงการ EEC / แนวทางการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค / รวมถึง บทบาทของ อว.ส่วนหน้า ในการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษ กันต่อนะคะ

---

ที่มา :

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)


เขียนโดย : มัชฌิมา  นันทรัตน์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : -

ขอบคุณที่สรุปข้อมูลแบบกระชับ และเข้าใจได้ง่าย น่าอ่านมากๆ เลยค่ะพีแก้ว ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าความหมายที่ละเอียดคืออะไรแล้วมีจังหวัดไหนบ้างในแต่ละภูมิภาคค่ะ พี่แก้ว ติดตามต่ออีกนะคะ

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล