ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรัก (EP. I) การแอบรักและการตกหลุมรักใครสักคน >,,,<   82

คำสำคัญ : ความรัก  ฮอร์โมน  วิทยาศาสตร์  ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรัก  

ที่มารูปภาพ : https://www.sanook.com/movie/120661/gallery/1004005/

“พี่โชนคะ น้ำมีเรื่องจะบอกพี่โชน คือน้ำชอบพี่โชนมาก ชอบมา 3 ปีแล้ว น้ำทำทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่างก็เพื่อพี่ น้ำไปคัดเลือกนางรำ เล่นละครเวที ไปเป็นดรัมเมเยอร์ เรียนหนังสือให้เก่งก็เพื่อพี่ แต่ตอนนี้น้ำรู้แล้วว่าสิ่งที่น้ำควรทำมากที่สุด และน่าจะทำมาตั้งนานแล้ว คือบอกกับพี่โชนตรง ๆ ว่า น้ำชอบพี่โชน”

ประโยคสารภาพรักของ น้ำ ในภาพยนตร์ เรื่อง สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า...รัก (2010) ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี
เชื่อว่า “น้ำ” ยังคงเป็น Role model ให้กับสาวน้อย สาวใหญ่ หรือแม้แต่ชายที่อยากเป็นสาว ที่แอบชอบรุ่นพี่หรือใครสักคนอยู่ทุกยุคทุกสมัย

เมื่อเราแอบรัก หรือ ตกหลุมรักใครสักคน หัวใจเรามักจะเต้นแรงเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าเขา เราอาจเผลอทำอะไรที่ไม่ได้ตั้งใจลงไปแบบไม่รู้ตัว หรือ ทำตัวโก๊ะ ๆ ไม่เป็นตัวเอง ใช่ไหมครับ เคยสงสัยไหมครับว่าอะไรกันนะที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น หรือจะเป็นเพราะ ไอ้ต้าวความรัก จริง ๆ (ถ้าใครไม่สงสัย ช่วยสงสัยนิดนึงครับ ไหว้หละครับ)

เฮเลน ฟิเชอร์ (Helen Fisher)นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความรักหลายเล่ม รวมถึงเรื่อง ทำไมเรามีความรัก: ธรรมชาติและสารเคมีของความรักแบบโรแมนติค (Why We Love: The Nature and Chemistry of Romantic Love)

เธอกล่าวว่า การตกหลุมรักอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับสมอง 3 ระบบที่แบ่งแยกกันชัดเจน

...

ความรัก 3 ระยะที่มีการหลั่งของสารเคมีในร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง 

 

ระยะที่ 1 ความใคร่ (Lust) (แรงขับทางเพศ)
 

เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความหลงใหล ความใคร่ และเกิดแรงขับทางเพศ ซึ่งความรู้สึกของ คนสองคนในช่วงนี้ร่างกายจะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) จากการศึกษาทางวิวัฒนาการพบว่า เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไม่เพียงแต่เป็นแรงขับทางเพศในผู้ชายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในแรงขับทางเพศของผู้หญิงด้วย ฟิเชอร์กล่าวและเสริมว่า “ฮอร์โมนเพศทำให้คุณอยากออกไปค้นหาทุกสิ่งอย่าง รวมถึงพฤติกรรมหาคู่ผสมพันธุ์ของมนุษย์และสัตว์”


 ที่มารูปภาพ : https://www.pinterest.se/pin/34269647160105079/

 

ระยะที่ 2 ความหลงใหล (Attraction)(การหลงรัก)

งานวิจัยหลายชิ้นรายงานว่า เมื่อมนุษย์อยู่ในอาการ “ตกหลุมรัก” เรามักจะหลงลืมอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต พวกเขาอาจจะมีความสุขจนลืมกินอาหารในบางมื้อ หรือบางครั้งก็เศร้าจนนอนไม่หลับ และใช้เวลานึกฝันถึงคนรักได้หลายๆ ชั่วโมง หรือเราเรียกอาการเหล่านี้ว่า อาการ “คลั่งรัก” นั่นเองครับ >,,,<

อาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาทกลุ่มที่เรียกว่า “โมโนเอมีน” (Monoamines) 3 ชนิด ได้แก่

  • โดปามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขและความพึงพอใจที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายเราได้รับสิ่งที่เราปรารถนา นอกจากนี้ โดปามีนยังถูกกระตุ้นด้วยสารเสพติดอย่างโคเคน และนิโคตินในบุหรี่
  • อีพิเนฟริน (Epinehrine) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อะดรีนาลีน (Adrenalin) พี่ ๆ คงเคยมีอาการเขินอายจนหน้าแดง และหัวใจเต้นแรงเมื่อได้พบกับใครสักคนที่หมายตา นั่นเป็นเพราะถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนชนิดนี้
  • เซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารชีวเคมีที่สำคัญต่อกลไลการตกหลุมรัก ที่ส่งผลต่ออารมณ์และการแสดงออกของเรา ในขณะที่สมองหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน เราสามารถแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาแบบไม่รู้ตัว ในขณะที่เรารู้สึกรักใครสักคน 

 

:: เกล็ดเล็ก เกล็ดน้อย ของ เซโรโทนิน ::

Sandra Langeslag ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เคยกล่าวถึงเซโรโทนิน ไว้ว่า ระดับของเซโรโทนินจะแตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิงที่มีความรัก โดยผู้ชายจะมีระดับเซโรโทนินน้อยกว่าเมื่อมีความรัก ขณะผู้หญิงจะเป็นไปในทางตรงข้าม และ Dr. Donatella Marazziti จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยปิซา ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลไกสมองในคู่รัก 20 คู่ ซึ่งรักกันมาไม่เกิน 6 เดือน (ข้าวใหม่ปลามัน อุ๊อิ๊) โดยคาดว่าถ้ากลไกสมองเป็นสาเหตุให้คู่รักคิดถึงคนรักของตนซ้ำ ๆ มันอาจจะสัมพันธ์กับกลไกสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) และจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคู่รัก พบว่า เซโรโทนินในคู่รักใหม่มีระดับต่ำพอๆ กับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ หมายความว่า คู่รักใหม่จะคิดถึงคนรักของตนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ
คู่รักใหม่จะคิดถึงคนรักของตนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ >,,<

 

ที่มารูปภาพ : https://www.pinterest.se/pin/10555380367013170/

 

ระยะที่ 3 ความผูกพัน (Attachment) (ความสัมพันธ์ระยะยาว)


    ความผูกพันมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราประสบความสำเร็จจากขั้นตอนการหลงรัก (ถ้าใครไม่ประสบความสำเร็จให้ข้ามไปอกหักเลยนะครับ Thank you Next….) ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะคบกันในระยะยาว สมองของมนุษย์จะปรับเข้าสู่โหมดการสร้างความสัมพันธ์ เนื่องจากสมองไม่ต้องการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนแห่งความหลงใหลตลอดไป เพื่อให้ทั้งคู่ปรารถนาจะอยู่ด้วยกัน สิ่งกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระยะยาวเกิดจากฮอร์โมนสองชนิด ได้แก่

  • ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระดับความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมทางเพศ การคลอด และการให้นมแก่ทารก เป็นต้น ออกซีโตซินยังถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนแห่งการกอด (Cuddle Hormone) ฮอร์โมนชนิดนี้ถูกหลั่งออกมาเท่า ๆ กันในทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ในงานวิจัยยังระบุว่า ออกซีโตซินช่วยเพิ่มความสามารถในการตีความหรืออ่านใจผู้อื่นจากดวงตาของพวกเขาได้ด้วย จึงเป็นฮอร์โมนที่ช่วยพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักอย่างแท้จริง

:: เกล็ดเล็ก เกล็ดน้อย ของ ออกซิโตซิน ::

การศึกษาทางสังคมวิทยารายงานว่า ออกซิโตซินมีผลต่อระดับความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ของคู่รัก กล่าวคือ คู่รักที่มีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาบ่อยครั้งกว่าคู่รักที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาร่วมกัน (ไม่ได้หมายถึงแค่กิจกรรมทางเพศเพียงอย่างเดียวนะครับ การปีนเขา ดำน้ำ ล่องแพ หรือชวนกันไปชมนกชมไม้ก็เช่นกันครับ)

 

 

  • วาโซเปรสซิน (Vasopressin) วาโซเปรสซินเป็นฮอร์โมนที่รู้จักกันดีในชื่อ แอนติไดยูเรติก (anti-diuretic) โดยทั่วไปมันทำงานร่วมกับไตในการควบคุมความรู้สึกกระหายน้ำ นอกจากนี้มันยังเป็นฮอร์โมนสำคัญในเชิงของการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ยาวนานด้วย ซึ่งจากการศึกษาคู่รัก 37 คู่ แสดงให้เห็นว่า ระดับของวาโซเพรสซินมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เครือข่ายทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น การรักษาความสัมพันธ์ ความมั่นคงต่อความผูกพันที่มากขึ้น ขณะที่มีการสื่อสารในเชิงลบต่อกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  •  
  • :: เกล็ดเล็ก เกล็ดน้อย ของ วาโซเปรสซิน::

    จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า กลุ่มของหนูทดลองตัวผู้ที่ได้รับวาโสเปรสซินมีพฤติกรรมปกป้องตัวเมียและใช้เวลาอยู่กับตัวเมียมากกว่ากลุ่มตัวผู้ที่ไม่ได้รับฮอร์โมน ดังนั้น ฮอร์โมนชนิดนี้จึงมีบทบาทสำคัญต่อคู่รัก ส่งผลให้คู่รักปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกัน (หวานฉ่ำ!! น้ำตาลขึ้นตา)


    ที่มารูปภาพ : https://sitn.hms.harvard.edu/flash/2017/love-actually-science-behind-lust-attraction-companionship/

     

    เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน ฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกายจะเริ่มทำงาน และมันก็ทำให้เราลืมเรื่องของเเหตุผลไปเสียสนิท นอกจากนี้ปริมาณของฮอร์โมนต่าง ๆ ยังจะลดลงไปตามเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ความรักจืดจางลง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้รู้จัก “ความรัก


    “ความรัก” เมื่อเกิดขึ้นแล้วสวยงามเสมอ ตราบใดที่เราไม่ใช่ พัคซูมิน จากเรื่อง Marry my husband ที่จ้องจะเอาแฟนเพื่อน แต่อย่างไรก็ตาม “ความรักก็ไม่ผิด” เหมือนที่ เป้ วง Mild และ มาเรียม B5 ได้กล่าวไว้
    ในบล็อกหน้า ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรัก จะมาพูดถึงอาการที่เกิดจากการผิดหวังในความรัก หรือที่เรียกว่า อาการ "อกหัก” (Broken Heart Syndrome) ซีรี่ย์นี้จบไม่สวยแน่นอน หึหึ


    สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่ ๆ ทุกท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ขอให้ทุกท่านรายล้อมไปด้วยความรักดี ๆ และอย่าลืมรักตัวเองให้มากๆ นะครับ ^.^ <3

    หากผิดพลาดประการใด ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ (กราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์)
     

    ที่มารูปภาพ : https://movie.kapook.com/view45935.html

    อ้างอิงข้อมูลจาก :
    https://ngthai.com/science/7690/scienceoflove/

    https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/6231

    https://themomentum.co/love-actually-science/

    https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/65431/-blo-scibio-sci-


    เขียนโดย : นายปรเมษฐ์  สีเขียวแก่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : paramed.s@mhesi.go.th

    พี่ชอบมากค่ะเรื่องนี้ ดึงดูดให้พี่อยากอ่านมากเลย ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ว่าด้วยเรื่องของสารเคมีในร่างกาย ซึ่งมันก็คือเรื่องของเหตุและผล เหมาะกับความเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่เดิมมาของเรามากค่ะ ทั้งเรื่องของความรู้สึกรัก รู้สึกแอบชอบ แล้วหนูว่าสารเคมีในร่างกาย จะเกี่ยวกับอารมณ์ที่แปรปรวนและหงุดหงิดโมโห ด้วยไหมคะ อย่ามาลืมแต่ EP อื่นๆ แนวนี้อีกนะคะ รอติดตาม จริงจังค่ะ ฮิๆๆ  

    เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

    พิมพ์ตกไปค่ะ อยากให้มาต่อ EP ต่อๆ ไปอีกนะคะ รอติดตาม จากแฟน ตัวยงนะคะ ฮิๆ

    เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

    เป็นความรู้ที่น่าสนใจมากเลยค่ะ อธิบายหลักการหลั่งของสารเคมีในร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง ปกติเราจะรู้จักแค่สารโดปามีน ขอบคุณความรู้ดีๆที่นำมาเสนอนะคะ ^ ^ 

    เขียนโดย นางสาวเจนจิรา  ภาประเวช

    อ่านเรื่องนี้แล้วใจฟูมากเลยค่ะ และได้รับความรู้เกี่ยวกับการหลั่งสารเคมีต่างๆในร่างกายของเราอีกด้วย ว่าถ้ามีความรู้สึกรักใคร่ หลงใหล และความผูกพันธ์ร่างกายของเราหลั่งสารอะไรออกมาบ้าง 

    เขียนโดย นางสาวเพ็ญพิชชา  คงแทน

    เขียนได้น่าอ่านมากๆ เลยค่ะ อ่านไปยิ้มไปหัวเราะไปกับสไตล์การเขียนของตัวผู้เขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้คิดว่าตอนนี้ เอ็นโดรฟิน (Endorphin) ที่ไม่ใช่ เพื่อนสนิท ทำงานเต็มที่สุดๆ เลยค่ะ ^_^ รออ่านตอนต่อไปไม่ไหวแล้วค่ะ (แต่ไม่อยากอกหักน้าาา)

    เขียนโดย น.ส.ณิชาภัทร  เลาหสุรโยธิน

    เป็นการนำเอาข้อมูลวิทยาศาสตร์มาอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมได้น่ารักมากๆ เลยค่ะ :)  พอจะมีคำแนะนำที่น่ารักๆ มั้ยคะว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ความรักจืดจางลง หากปริมาณของฮอร์โมนลดลงไปตามเวลาเมื่ออายุมากขึ้นคะ ^^  

    เขียนโดย มัชฌิมา  นันทรัตน์

    เรื่องนี้น่าสนใจมากเลยครับ ผมขอไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และจะมาเขียนเพิ่มใน #ซีรี่ย์วิทยาศาสตร์กับความรักใน EP ต่อไปนะครับ อิอิ

    เขียนโดย นายปรเมษฐ์  สีเขียวแก่

    อ่านแล้วยิ้มตาม ชักสงสัยแล้ว ว่า เจ้าของบล๊อค กำลังหัวใจสีชมพู หรือเปล่าา ...

    เขียนโดย น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย