Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
เช็กลิสต์ Easy E-Receipt 2567 ช้อปอะไรได้ลดหย่อนภาษี (รีบก่อน หมดเขต 15 กุมภาพันธ์ นี้ เท่านั้น) 190
จากที่รัฐบาลได้เริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 ด้วยการเริ่มโครงการที่ถูกใจคนชอบช้อปปิ้ง ก่อนหน้านี้มีชื่อเดิม คือ “ช้อปดีมีคืน”สู่ชื่อใหม่ “Easy E-Receipt”ซึ่งโครงการนี้ทางรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
โครงการ Easy E-Receipt ปี 2567 คืออะไร
คือโครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ผู้เสีบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหลักการจะคล้ายๆกับโครงการช้อปดีมีคืน ที่ได้เคยใช้เมื่อปี 2566 โดยปรับใหม่จากเดิมคือ จากใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนมาเป็น ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
(e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยโครงการนี้จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น
ใครที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt ปี 2567
สำหรับโครงการ Easy E-Receipt ปี 2567 ผู้ที่สามารถร่วมโครงการนี้ได้จะต้องเป็น บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2567 แต่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยต้องนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการซื่อสินค้าหรือบริการที่ได้จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไม่เกิน 50,000 บาท นำไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท ในปี 2568
สินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt มีอะไรบ้าง อะไรใช้ลดหย่อนได้?
สินค้าและบริการที่เข้าร่วม
- สินค้าและบริการทั่วไป เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือของใช้อื่นๆในชีวิตประจำวันที่ได้ซื้อจากร้านค้า, ห้างสรรพสินค้า หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูป ในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่มีสาขาทั่วไป หากเป็นร้านอื่นๆ ให้มองหาสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ที่หน้าร้านค้า และสามารถตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพกร efiling.rd.go.th หรือเว็บไซต์ etax.rd.go.th โดยเลือกที่เมนู "ผู้มีสิทธิจัดทำ" จะแสดงรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
- ค่าหนังสือ, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, E-Book และสินค้า OTOP (เฉพาะที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว) สินค้าและบริการประเภทนี้ จริงๆไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้เช่นกัน
- ทองคำรูปพรรณ นำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จเท่านั้น เพราะทองคำไม่ต้องเสียภาษี
- ซ่อมรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เข้าศูนย์ เปลี่ยนยางรถยนต์ หรืออุปกรณ์แต่งรถ นำมาหักลดหย่อนได้
- ค่าที่พักโรงแรม และค่าอาหารโรงแรม ที่ได้เข้าพักหรือใช้บริการตามระยะเวลาของโครงการ Easy E-Receipt และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
(e-Tax Invoice) ได้
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
- ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซเติมพาหานะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งซื้อสินค้าหรือบริการก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 เช่น ค่าสมัครสมาชิกรายปี, คูปอง, บัตรของขวัญ
- ทองคำแท่ง
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยและค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ
- ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรม
- อาหารสุนัข อาหารแมว และอาหารสัตว์ทุกประเภท
โครงการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีได้จริงเท่าไหร่ และประหยัดภาษีไปเท่าไหร่
หลายคนก็จะมีคำถามว่า หากได้ใช้จ่ายตามสิทธิครบ 50,000 บาท แล้ว ตนเองจะได้รับเงินคืนเท่าไหร่ จากการเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากการคำนวณภาษีลดหย่อนนั้น ขึ้นอยู่กับฐานการเสียภาษีและรายได้ของแต่ละบุคคล หากผู้เสียภาษี มีการเสียภาษีต่อปีที่ 35% ก็จะได้รับเงินคืนภาษีที่ 17,500 บาท แต่ถ้าหากซื้อของเกิน 50,000 บาทเราจะลดหย่อนได้สูงสุดแค่เพียง 50,000 บาทเท่านั้น ซึ่งฐานการเสียภาษีของแต่ละรายได้อื่นๆตามที่กฎหมายของกรมสรรพากรกำหนด จะเป็นไปตามข้อมูลด้านล่าง ดังนี้
- อัตราการเสียภาษี 35% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 50,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 35%) = 17,500 บาท
- อัตราการเสียภาษี 20% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 50,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 20%) = 10,000 บาท
- อัตราการเสียภาษี 5% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 50,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 5%) = 2,500 บาท
กรณีซื้อสินค้าและบริการ ไม่ถึง 50,000 บาท เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดตามยอดที่ได้ใช้จ่ายจริงเท่านั้น ตามตัวอย่างข้อมูลด้านล่าง
- อัตราการเสียภาษี 35% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 30,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (30,000 x 35%) = 10,500 บาท
- อัตราการเสียภาษี 20% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 30,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (30,000 x 20%) = 6,000 บาท
- อัตราการเสียภาษี 5% เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 30,000 บาท จะได้เงินคืนภาษี (30,000 x 5%) = 1,500 บาท
อย่างไรก็ตามเราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า "วางแผนการใช้จ่ายให้คุ้มค่า ไม่ก่อหนี้เพิ่ม"
ที่มารูปภาพ : เว็บไซต์กระทรวงการคลัง
ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่่มาลงให้ความรู้นะคะพี่น้อง ถึงว่าค่ะเวลาเข้าแอพ ซ์้อของ เช่น พวกช็อปปี้ ถึงเห็นคำว่า E Recipe จะได้รู้ไปด้วยว่านำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ข้อมูลอินเทรนด์มากๆ เลยค่ะพี่น้อง อิอิ
ดีมากเลยค่ะ บางคนอาจจะบอกว่าวิธีการยุ่งยาก จริงๆก็ไม่ได้ยากนะคะในการของ E-TAX / E-Recipe แค่ทุกคนเคยชินกับการไปขอใบกำกับภาษีแล้วยืนรอเลยมากกว่า จริงๆแล้ว ข้อดีของ E-TAX / E-Recipe ในแง่ของการเก็บรักษาเผื่อนำไปยื่นปีหน้า ก็ง่ายกว่าด้วย ทำหาก็มาเปิดในอีเมลได้ ถ้าเป็นแบบกระดาษคือหายแล้วหายเลย บางทีพอตอนจะยื่นภาษีก็หาไม่เจอแล้ว
ว่าแล้วก็เหลืออีก 2 วัน จะหมดเขตแล้ว ใครยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ อย่าลืมไปใช้สิทธิ์กันนะคะ
ได้ความรู้และนำไปใช้ประโยชน์สดๆร้อนๆเลยค่ะ ช่วงหลังอ่านหนังสือในรูปแบบ E-Book มากขึ้น ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำมาลดหย่อนได้ พอทราบข้อมูลนี้จึงไปดาวน์โหลดใบเสร็จย้อนหลังมาใช้ประกอบการลดหย่อนภาษี แต่ก็มีเงื่อนไขหลายข้อเหมือนกัน ยกตัวอย่างการซื้อผ่าน MEB อีบุ๊กที่ลดหย่อนภาษีได้จะมีสัญลักษณ์ ช้อปดีมีคืน ต้องทำรายการช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี แต่ขอเอกสารย้อนหลังได้ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท จากการซื้อผ่านหน้าเว็บไซต์เท่านั้น ถ้าซื้อผ่านแอปก็จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ค่ะ