CBAM การตรวจสอบปริมาณคาร์บอนจากสินค้า  66

คำสำคัญ : cbam  carbon  credit  คาร์บอน  

ปัจจุบันนี้ที่มีการเติบโตขึ้นของระบบทุนนิยมอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมมีการผลิตที่มากขึ้น มีการแข่งขันเรื่องราคาและตัวเงิน โดยทิ้งให้สิ่งแวดล้อมเป็นรอง ทว่า ก็มีนโยบาย CBAM ของยุโรปที่ใช้ในการจัดการคาร์บอนของสินค้าที่เข้ามาในยุโรป ซึ่งกำลังขยายตัวและส่งผลไปยังระดับโลก ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องหลักมากขึ้น
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางรัฐสภายุโรปได้มีการยกระดับการควบคุมขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าในยุโรปจะอยู่ภายใต้เพดานคาร์บอนจริง ๆ โดยออกมาในมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งจะตรวจสอบปริมาณคาร์บอนจากสินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาในยุโรปให้ไม่เกินเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ หากมีคาร์บอนที่สูงกว่ากำหนด ทางยุโรปจะใช้มาตรการทางการเงินเข้ามาจัดการ เช่น การบังคับจ่ายภาษีคาร์บอน ภาษีศุลกากร หรือเป็นการบังคับซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย
.
โดยมีเป้าหมายที่อยากสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เป็นไปตามนโยบายเพดานคาร์บอนด้วยเช่นกัน สินค้า 5 กลุ่มแรกที่จะพิจารณาค่าคาร์บอนได้แก่ : เหล็ก/เหล็กกล้า, ซีเมนต์, กระแสไฟฟ้า, อลูมิเนียม, ปุ๋ย ซึ่งในอนาคตจะขยายต่อไปที่ สินค้าจากการกลั่นน้ำมัน, สารประกอบอินทรีย์, ไฮโดรเจน, แอมโมเนีย, พลาสติกโพลิเมอร์
.
โดยค่าคาร์บอนที่นับ ก็ไม่ใช่ค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว แต่จะเป็นก๊าซเรือนกระจกทุกตัวที่วัดออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 eqivalent) ยกตัวอย่างอย่างง่ายคือ ก๊าซมีเทน 1 ตัน จะส่งผลเสียต่อโลกเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ตัน ดังนั้น ถ้าสินค้านี้ปล่อยก๊าซมีเทน 20 ตัน ก็เท่ากับว่าจะถูกนับว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่า 500 ตัน (20*25)
.
ประเทศไทยมีสินค้าที่เข้าเกณฑ์การประเมินจาก CBAM ทั้งหมดที่มูลค่ากว่า 28,573 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูล SET, 2564) ซึ่งกำลังจะเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเราด้วยเช่นกัน
.
ในปัจจุบันนี้มาตรการ CBAM อยู่ในช่วง “เริ่ม” บังคับใช้ - โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มให้มีการรายงานปริมาณคาร์บอนในการนำเข้าของสินค้า 5 กลุ่มบังคับแล้ว แต่การบังคับใช้มาตรการทางการเงินจะเริ่มในอีก 3 ปีข้างน้า หรือคือปี 2026 ตอนนี้จึงเป็นการบังคับให้เกิดรายงาน ตรวจวัดทุกชิ้นที่เข้ามาก่อน ยังไม่ปรับ
.
อย่างไรก็ตาม มาตรการจัดการทางการเงินก็เป็นเหมือนบทลงโทษระยะสั้น ผลลักพธ์ที่จะได้ในระยะยาวแล้วในมุมของธุรกิจคือการสร้างแรงผลักดันให้กลุ่มเอกชนหาวิธีในการผลิตให้เป็นคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริงเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเป็นผลพวงที่ดีกับโลกเช่นกัน
.
ทว่า ในการทำธุรกิจการตั้ง “เพดานการปล่อยคาร์บอน” จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ เชื้อเพลิง หรือแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ส่งผลให้มีการเพิ่มของต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ในเชิงของการทำธุรกิจจึงต้องมีความจำเป็นที่ต้องลดต้นทุนลง
.
ซึ่งวิธีการที่ฝั่งเอกชนอาจเลือกใช้เพิ่มเติมคือ การย้ายฐานการผลิตออกไปนอกยุโรป เพื่อไม่ให้ต้องนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบใด ๆ ไปผลิตที่นั่น และย้ายไปผลิตในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีเพดานการวัดคาร์บอนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงผ่านกฏหมายเพดานคาร์บอน ทั้งที่ยังปล่อยคาร์บอนจำนวนมากเท่าเดิม ไม่ได้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเลยแม้แต่น้อย
.
ก็หวังว่าระบบ CBAM จะสามารถช่วยพวกเราในการจัดการคาร์บอนกับระบบทุนนิยมได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เราในฐานะประชาชนก็รอติดตามกันต่อไปว่าภาคธุรกิจจะตอบสนองกับมาตรการคาร์บอนนี้ไปได้อย่างไรบ้าง พวกเรา Environman ก็จะเขียนบอกเล่าเรื่องราวนี้กันอยู่เรื่อย ๆ รออ่านได้เลยนะ !
(น้องถั่วเขียว.)

Source :
https://taxation-customs.ec.europa.eu/carbon-border-adjustment-mechanism_en
https://storage.googleapis.com/sg-prd-set-mis-cms/common/research/1103.pdf
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_7719 


เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th