การประชุม เรื่อง แนวทางการพัฒนาตัวชี้วัดร่วม (Joint KPIs) ระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์  12

คำสำคัญ : CoE  สป.อว.  perdo  JointKPI  เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์  UBI  

                 เมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2568 เวลา 14.00 น. กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยสำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (PERDO/CoE) ได้จัดการประชุมหารือ

เรื่อง แนวทางการพัฒนาตัวชี้วัดร่วม (Joint KPIs) ระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศ เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ และ โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) โดยมีนายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน และมีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ของศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง UBI และ กปว. เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง ได้นำเสนอพันธกิจของหน่วยงานและศักยภาพความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาที่มี เพื่อใช้เป็นฐานสร้างความร่วมมือกันระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศกับอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อกำหนด Joint KPIs ร่วมกันให้สอดคล้องกับนโยบาย ของ ปอว. ในการขับเคลื่อนบูรณาการพันธกิจของหน่วยงานภายใน สป.อว. ให้สามารถส่งมอบผลงานที่มีผลกระทบสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

                 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกันและได้สรุปประเด็นเพื่อกำหนด Joint KPIs ร่วมกัน ดังนี้

1.การพัฒนาความร่วมมือแบบ Joint KPI: กำหนดกรอบทิศทางสำหรับการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านกลไก Joint Operation เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรและงบประมาณ พัฒนา KPIs ร่วมที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์, การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาแผนธุรกิจ

2.การบริหารจัดการข้อมูลและการเชื่อมโยง (Data Integration): พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุม เช่น ฐานข้อมูลเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ผลิตภัณฑ์ และโครงการ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ความต้องการ (Demand) และทรัพยากร (Supply) ใช้แพลตฟอร์มและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อจับคู่ข้อมูลระหว่างโครงการ ลูกค้า และความเชี่ยวชาญ

3.การสร้างความร่วมมือในระดับต่าง ๆ: โดยกลไกความร่วมมือแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับข้อมูล (Data Sharing), ระดับปฏิบัติการ (Operational Collaboration), และระดับแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning)

4.การพัฒนาและขยายเครือข่าย: ส่งเสริมกิจกรรมเครือข่าย เช่น หลักสูตร  เพื่อสร้างการรวมกลุ่มระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักเทคโนโลยี และผู้ประกอบการ.ใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัยและศูนย์ความเป็นเลิศในพื้นที่เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

5.แผนงานและเป้าหมายในอนาคต:เน้นการพัฒนาระบบงานที่สามารถสร้าง "Quick Wins" หรือผลลัพธ์เชิงบวกในระยะสั้น ออกแบบไทม์ไลน์และแผนงานที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานในปี 2568 และต่อเนื่อง

แนวทางเหล่านี้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับภูมิภาคและประเทศ

 

ในการนี้ ที่ประชุมได้กำนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน สรุปได้ดังนี้

1. ให้อุทยานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 4 ภูมิภาค กำหนดโจทย์ความต้องการองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเกิดจากงานวิจัยเชิงลึกของศูนย์ความเป็นเลิศ จัดตั้งแพลตฟอร์มกลางที่ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลและทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน

2. ให้สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวบรวมผลงานวิจัยที่มี Impact สูงเพื่อเสนอให้อุทยานวิทยาศาสตร์นำไปพัฒนาและเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการในเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ต่อไป

3. ให้สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดตัวชี้วัดร่วม

4. ให้สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำฐานข้อมูลทำเนียบนักวิจัย ที่มีอยู่ในเครือข่ายของศูนย์ความเป็นเลิศในแต่ละสาขาความเชี่ยวชาญ

  


เขียนโดย : นายอภิเดช  ไม้หนองกอย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : apidech.m@mhesi.go.th