กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ  50

คำสำคัญ : กฎหมาย  การจัดซื้อจัดจ้าง  พัสดุ  

กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ

หลักการ:

  • หลักกฎหมายมหาชน สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย จะกระทำการสิ่งใดได้ ต้องมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น(กฎหมายจำกัดสิทธิ์)
  • หลักกฎหมายเอกชน สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถกระทำการสิ่งใด ๆ ได้ทุกอย่าง ถ้าไม่มีกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการห้ามไว้

กฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุในปัจจุบัน:

  • พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
  • ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560แบ่งออกเป็น 15 หมวด โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

  1. การจัดซื้อจัดจ้างมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  2. มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความ โปร่งใส และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
  3. คำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน
  4. เน้นการวางแผน และประเมินผลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  5. ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตรวจสอบและป้องกันการทุจริต
  6. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการเปิดเผยโปร่งใส
  7. สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

คำนิยาม

“การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายถึงการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า หรือแลกเปลี่ยน

“พัสดุ” หมายถึง สินค้า งานบริการ งานจ้างที่ปรึกษา งานจ้างก่อสร้าง งานจ้างออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง

“สินค้า” หมายถึง วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมถึงงานบริการที่รวมอยู่ในสินค้านั้นด้วย

“งานบริการ” หมายถึง งานจ้างบริการ งานจ้างเหมาบริการ งานจ้างทำของ และการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“งานก่อสร้าง”หมายถึง งานก่อสร้างอาคาร สาธารณูปโภค และการปรับปรุงซ่อมแซม

“ราคากลาง”หมายถึง ราคาที่ใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริงตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  1. ราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการราคากลางกำหนด
  2. ราคาที่ได้มาจากฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุที่กรมบัญชีกลางจัดทำ
  3. ราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณหรือหน่วยงานกลางอื่นกำหนด
  4. ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด
  5. ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ
  6. ราคาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ

ในกรณีที่มีราคาตาม 1) ให้ใช้ราคาตาม 1) ก่อน แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้ราคาตาม 2) หรือ 3) และถ้าไม่มีราคาตาม 1) 2) และ 3) ให้ใช้ราคาตาม 4) 5) หรือ 6) โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ

บททั่วไป

หลักการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ ต้องสอดคล้องกับหลักการ ดังนี้

  1. คุ้มค่า- ต้องมีคุณภาพ และราคาเหมาะสม
  2. โปร่งใส- ต้องทำอย่างเปิดเผย เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีระยะเวลาเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ
  3. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล- ต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า มีการกำหนดเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินผล
  4. ตรวจสอบได้– ต้องมีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานของรัฐคำนึงถึงคุณภาพ เทคนิค และวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น และห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะของพัสดุให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่ง เว้นแต่มียี่ห้อเดียว หรือจำเป็นต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใด ก็ให้ระบุยี่ห้อนั้นได้

ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นเสนอราคาด้วยกัน

การจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุมี 3 วิธี ดังนี้

  1. วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป - ให้ผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
  2. วิธีคัดเลือก – เชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดซึ่งต้อง ไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดน้อยกว่า 3 ราย โดยสามารถทำได้เมื่อ


    - ประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก

    - พัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะ

    - มีความจำเป็นเร่งด่วน

    - มีข้อจำกัดทางเทคนิค

    - จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ

    - ใช้ในราชการลับ

    - งานจ้างซ่อมพัสดุที่ต้องตรวจสอบความเสียหายก่อน จึงจะประมาณค่าซ่อมได้

  3. วิธีเฉพาะเจาะจง- หน่วยงานภาครัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง สามารถทำได้เมื่อ


    - ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก

    - การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

    - มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว

    - มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุโดยฉุกเฉิน เนื่องจากภัยธรรมชาติ

    - เป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม

    - เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาด โดยหน่วยงานของรัฐ

    - ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง

    - กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

เกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอ

  1. โดยทั่วไปจะพิจารณาจากราคา
  2. ต้นทุนของพัสดุนั้นตลอดอายุการใช้งาน
  3. มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ
  4. บริการหลังการขาย
  5. ผลการประเมินผู้ประกอบการ
  6. เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือสนับสนุน
  7. ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น

งานจ้างที่ปรึกษา

งานจ้างที่ปรึกษา มี 3 วิธี ดังนี้

  1. วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป - ให้ที่ปรึกษาทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
  2. วิธีคัดเลือก - เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 รายให้ยื่นข้อเสนอ เว้นแต่มีที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่า 3 ราย
  3. วิธีเฉพาะเจาะจง - เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง ให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคาโดยตรง

หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอวิธีการจ้างที่ปรึกษาให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและวัตถุประสงค์ของงานจ้างที่ปรึกษาเป็นสำคัญโดยให้พิจารณาเกณฑ์ด้านคุณภาพ ดังต่อไปนี้

  1. ผลงานและประสบการณ์ของที่ปรึกษา
  2. วิธีการบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน
  3. จำนวนบุคลากรที่ร่วมงาน
  4. ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน
  5. ข้อเสนอทางด้านการเงิน
  6. เกณฑ์อื่นตามที่กาหนดในกฎกระทรวง

ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโดยวิธีวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือก นอกจากให้พิจารณาเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ให้เป็นไปตามเกณฑ์ในการพิจารณาและการให้น้ำหนัก ดังต่อไปนี้ด้วย

  1. กรณีงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานประจางานที่มีมาตรฐานเชิงคุณภาพตามหลักวิชาชีพอยู่แล้วหรืองานที่ไม่ซับซ้อน ให้หน่วยงานของรัฐคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณภาพแล้ว และให้คัดเลือกจากรายที่เสนอราคาต่ำสุด
  2. กรณีงานจ้างที่ปรึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานของหน่วยงานของรัฐหรืองานที่ซับซ้อนให้หน่วยงานของรัฐคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณภาพแล้วและให้คัดเลือกจากรายที่ได้คะแนนรวมด้านคุณภาพและด้านราคามากที่สุด
  3. กรณีงานจ้างที่ปรึกษาที่มีความซับซ้อนมาก ให้หน่วยงานของรัฐคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณภาพแล้วและให้คัดเลือกจากรายที่ได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด

การทำสัญญา

ต้องทำสัญญาตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุf หากมีความจำเป็นต้องทำแตกต่างจากที่กำหนด โดยไม่ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียเปรียบ สามารถทำได้ หากเห็นว่ามีปัญหาในทางเสียเปรียบ ให้ส่งร่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน

การร่างสัญญาขึ้นใหม่ให้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เว้นแต่ การทำสัญญาตามแบบที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยให้ความเห็นชอบมาแล้ว สามารถกระทำได้

- หากจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ทำเป็นภาษาอังกฤษ และต้องจัดทำข้อสรุปสาระสำคัญแห่งสัญญาเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด เว้นแต่ การทำสัญญาตามแบบสัญญาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

- หากไม่ได้ทำสัญญาตามแบบสัญญา หรือไม่ได้ส่งร่างสัญญา ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ให้ส่งสัญญานั้นให้สานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบในภายหลังได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว หรือแก้ไขสัญญาตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ให้ถือว่าสัญญานั้น มีผลสมบูรณ์

- หากไม่ได้ทำสัญญาตามแบบสัญญา หรือไม่แก้ไขสัญญาตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด หรือคู่สัญญา ไม่ตกลงหรือยินยอมให้แก้ไขสัญญาตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด หากข้อสัญญาที่แตกต่างจากแบบสัญญาหรือข้อสัญญา ที่ไม่แก้ไขตามความเห็นของสานักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือเป็นกรณีผิดพลาดอย่างร้ายแรง ให้ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

การจัดทำข้อตกลงเป็นหนังสือหน่วยงานรัฐอาจทำข้อตกลงเป็นหนังสือโดยไม่ทำตามแบบสัญญาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก หรือวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
  2. การจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานรัฐ
  3. กรณีที่คู่สัญญาสามารถส่งมอบพัสดุได้ครบถ้วนภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันทำข้อตกลง
  4. การเช่าที่ผู้เช่าไม่ต้องเสียเงินอื่นใดนอกจากค่าเช่า
  5. กรณีอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การแก้ไขสัญญาโดยปกติแล้ว สัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้วจะแก้ไขไม่ได้ เว้นแต่ ในกรณีดังต่อไปนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอานาจที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขได้

  1. กรณีไม่ได้ทำสัญญาตามแบบที่กำหนด หรือไม่ได้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน ให้ส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาภายหลังได้ เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว หรือให้แก้ไขสัญญา ถ้าแก้ไขให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ถือว่าสัญญานั้นมีผลสมบูรณ์
  2. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาหรือข้อตกลง หากการแก้ไขนั้นไม่ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียประโยชน์
  3. เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ
  4. กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การงดหรือลดค่าปรับ หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาต้องกระทำก่อนสิ้นสุดสัญญา และต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

  1. เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ
  2. เหตุสุดวิสัย
  3. เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย
  4. เหตุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานหรือทำงานให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงกับคู่สัญญา

ความเป็นโมฆะของสัญญาในกรณีที่สัญญาหรือข้อตกลงเกิดจากกรณีที่หน่วยงานรัฐมิได้ปฏิบัติตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในส่วนที่ไม่เป็นสาระสำคัญหรือผิดพลาดไม่ร้ายแรงไม่ทำให้สัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นโมฆะ

บทกำหนดโทษ

ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

สรุปข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพ การปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน ววน. ระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1
ในหัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ ห้องอบรม 320  ชั้น 3 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ

ทั้งนี้ ผู้อ่านโปรดศึกษากฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่กล่าวในบทความเพิ่มเติม
หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ค่ะ


เขียนโดย : น.ส.วรลักษณ์  เจริญพร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : som.woralak@gmail.com