Digital Transformation ในหน่วยงานราชการแบบฉบับ “โลกไม่สวย”  59

คำสำคัญ : การเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล  PDPA  ความมั่นคงทางไซเบอร์  

Digital Transformationในหน่วยงานราชการแบบฉบับ “โลกไม่สวย”

จากการประชุม กปว. ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.อรรถศิษฐ์ พัฒนะศิริ ได้บรรยายในหัวข้อDIGITALTRANSFORMATION,PDPA, &CYBERSECURITYและ ท่าน ผอ.กปว.ก็มีข้อสั่งการให้เขียน บล็อก ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการที่ฟังบรรยายในวันนั้น ผมเองก็มีคำถามในใจที่ยังไม่ได้ถามออกไป ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ล่วงเลยกำหนดการไปไกลมากแล้ว แต่คำถามนั้นก็ยังคงอยู่ในใจ “ความท้าทายและความยากของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีความเป็นราชการมากๆ ในการดำเนินการ Digital Transformation มันคืออะไร และแนวทางแก้ไข ที่อยู่นอกเหนือทฤษฎีมันจะเป็นอย่างไร” เนื่องจากไม่ได้ถามในวันนั้น เลยต้องมาศึกษาหาคำตอบเอาเอง และนี่คือคำตอบที่ลองไปหาอ่านๆมา สรุปสั้นๆแบบไม่ยาวมากละกันครับ

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล (Digital Transformation) ในหน่วยงานราชการไทยมีอุปสรรคและความท้าทายหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อให้กระบวนการนี้สำเร็จลุล่วงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะในการจัดการกับอุปสรรคต่าง ๆ และแนวทางแก้ไข:

อุปสรรคและความท้าทาย

1.     ความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง (Resistance to Change)

o   สาเหตุ: บุคลากรที่คุ้นเคยกับวิธีการทำงานแบบเดิมอาจไม่ยินดีรับการเปลี่ยนแปลง อย่างที่เห็นๆกันอยู่ แค่จะ paperless100% ยังลำบาก หรือแนวทางการ renovate ชั้น 6ให้เป็น co-working space แบบไม่มีโต๊ะประจำ คือตัวอย่างใกล้ตัว คนส่วนใหญ่มีโต๊ะประจำ พิจารณาจากข้าวของที่วางไว้ก็พอจะรู้ มีแค่คนกลุ่มน้อย และโต๊ะบางโต๊ะที่ไม่มีของวางไว้ จึงมีคนเข้าไปใช้แบบไม่ประจำอยู่บ้าง

o   แนวทางแก้ไข: การฝึกอบรมและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง…มันเป็นวิธีแบบโลกสวยที่ไปอ่านมา เอาเข้าจริงการฝึกอบรมแค่ทำให้คนคุ้นเคยมากขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอาศัยแค่การฝึกอบรมมันไม่ได้หรอก มันต้องการ Change Leader ผู้นำการเปลี่ยนแปลง มันต้องเป็นผู้มีอำนาจประกาศและบังคับใช้ แต่ต้องเผื่อทางลงให้กับผู้ต่อต้านได้มีที่พักเพื่อทำใจ การเปลี่ยนแปลงไม่ควรเปลี่ยน 100% ในครั้งเดียว แต่ค่อยๆปรับไปทีละส่วน เช่น 50% แล้วขยับไปเป็น 70% และ 100% ตามลำดับ

2.     ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Lack of Infrastructure)

o   สาเหตุ: การขาดการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงพอ ตอนผมอ่านเจอข้อนี้แล้วก็ต้องหัวเราะ หึหึ หัวเราะแรงมากไม่ได้ มันกระเทือนจิตใจ ขนาด internet ของ กระทรวงยังอืดอาด ชวนหงุดหงิด เราอยู่ในยุค AI แล้ว ไฟล์นำเสนอที่โหลดจาก Canva ขนาดมันใหญ่กว่า ppt. ทั่วไป ดาวโหลดแต่ละครั้งหลัก 100 MB ขึ้นไปทั้งนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า นี่แหละปัญหา

o   แนวทางแก้ไข: การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและการพัฒนาการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น ก็ทั้งๆที่เรามี Uninet เป็นหน่วยที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในด้านนี้ แต่ใน สป.เราใช้ประโยชน์จากมันสักแค่ไหน ไหนใครอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วใช้ wifi จาก Eduroam ยกมือขึ้น 1, 2, 3,….ไม่ถึง 10คน ในเมื่อมีของดี ก็เอาๆมาใช้กันหน่อยเถอะครับ กรข. ของเราก็ใส่ใจกับการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลของ สป.โดยการใช้ประโยชน์จาก Uninet ให้มากขึ้นหน่อย

3.     ข้อจำกัดทางงบประมาณ (Budget Constraints)

o   สาเหตุ: งบประมาณที่ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ เรื่องงบประมาณ จะทำ digital Transformation มันก็ต้องลงทุน และก็ไม่ใช่ถูกๆแน่นอน

o   แนวทางแก้ไข: การจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและการหาแหล่งทุนเสริมจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน งานนี้ DE ต้องทำงานครับ งบประมาณที่จะจัดสรรมาจากส่วนกลางต้องมีเพียงพอให้กับทุกกระทรวงในการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลให้กับภาครัฐ หรืออย่างข้อที่แล้วผมบอกให้เราใช้ประโยชน์จาก Uninet ให้มากๆ เพียงลดภาระงบประมาณภายใน สป.

4.     ความซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ (Complexity of Regulations)

o   สาเหตุ: กฎหมายและระเบียบที่มีข้อกำหนดที่ซับซ้อนอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงช้าลง ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่ทำให้ paperless ของ สป.เราไปไม่ถึง 100% คือเรื่องการเงิน กฎระเบียบด้านการเงินและพัสดุ หลายๆอย่างมันต้องมีหลักฐานที่ไม่สามารถสำแดงผ่านทางดิจิตอลได้ ถึงแม้จะมีความพยายามปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นรัฐบาลดิจิตอลมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติก็ยังทำไม่ได้ทั้ง 100%

o   แนวทางแก้ไข: การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แน่นอนละว่า จะตามมาด้วยคำถามและความกังวลว่า ไว้ใจได้ไหม ปลอดภัยรึเปล่า จงอย่าได้กังวลในเรื่องที่ไม่ใช่ของเราครับ การแปลงธุรกรรมเป็นดิจิตอล มีประโยชน์อย่างมากในการนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ต่อ แลกกับความปลอดภัยจากการโดนโจมตีทางไซเบอร์แล้ว เราควรคิดว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากข้อมูลดิจิตอลพวกนี้มากกว่าครับ

5.     การขาดทักษะทางดิจิทัล (Lack of Digital Skills)

o   สาเหตุ: บุคลากรที่ไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้เทคโนโลยีใหม่

o   แนวทางแก้ไข: การลงทุนในฝึกอบรมและพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากร และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ใช้งานจริง ชีวิตในยุคดิจิตอล คือการต้องเรียนรู้ตลอดเวลา การจะถูกเด็กรุ่นใหม่มองว่าโง่ ก็ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะเราจะเก่งไปหมดทุกเรื่องก็ไม่น่าจะไหว หรือใครไหวก็ไปก่อนเลยครับ ผมเองก็ต้องคอยศึกษาอะไรใหม่ๆอยู่ตลอด ไม่หวังให้เก่งแต่หวังว่าจะตามทันก็พอ

6.     การรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Data Security)

o   สาเหตุ: ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลที่เก็บรวบรวมและจัดเก็บ เป็นเหตุผลสำคัญเลยครับ ความไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของเทคโนโลยี มีมาตลอดเวลานั่นแหละ ช่วงหยุดยาวเราทิ้งบ้านไว้หลายวันถ้าโจรจะขึ้นบ้าน มันก็ทำได้อยู่ดี ในโลกดิจิตอลก็ไม่ต่างกัน ก็แค่แฮกยากกับแฮกง่ายเท่านั้น ที่เราทำได้คือทำให้แฮกยาก แฮกเกอร์จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแฮกของเรา ไปแฮกของชาวบ้านที่ง่ายกว่าแทน แฮ่!!

o   แนวทางแก้ไข: การพัฒนาและการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดและการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ การถูกบังคับให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดทุก 6 เดือน เป็นเพียงความยุ่งยากในช่วงแรกๆ หลังจากที่มีการใช้ Biometric ในอนาคตมันจะง่ายขึ้นมาก โดยไม่ต้องเปลี่ยนพาสเวิร์ดทุก 6 เดือนอีกแล้ว

ข้อเสนอแนะ

1.     การพัฒนาผู้นำดิจิทัล (Digital Leadership)

o   การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อเป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงาน

2.     การสร้างกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน (Clear Digital Strategy)

o   การพัฒนากลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและการตั้งเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้

3.     การส่งเสริมการทำงานร่วมกัน (Collaboration)

o   การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร

4.     การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)

o   การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการและขีดความสามารถของหน่วยงาน ล้ำเกินไปก็ตามไม่ทัน ล้าเกินไปก็สิ้นเปลืองเพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีตามยุคสมัย

5.     การประเมินผลและการปรับปรุง (Continuous Evaluation and Improvement)

o   การติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอและการปรับปรุงกลยุทธ์และกระบวนการตามผลลัพธ์ที่ได้

การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเหล่านี้ ถึงแม้จะไม่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในหน่วยงานราชการไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แต่ก็สะท้อนความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นได้มากขึ้น การสร้างพื้นฐานที่ดีและการสนับสนุนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนและประสบผลสำเร็จสักวันหนึ่ง


เขียนโดย : นายสมบัติ  สมศักดิ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sombat.s@most.go.th