คุณสมบัติของสุดยอดหัวหน้า กับวิธีรับมือมนุษย์ลูกน้องทุกประเภท (พัฒนาคนส่งผลถึงการพัฒนางาน)  73

คำสำคัญ : ข้อเสนอแนะ  พัฒนาคน  พัฒนางาน  

คุณสมบัติของสุดยอดหัวหน้า กับวิธีรับมือมนุษย์ลูกน้องทุกประเภท

*เคยสังเกตกันไหม ทำไม มนุษย์ออฟฟิศเกือบ 100% มักมีกรุ๊ปไลน์แยกที่ไม่รวมหัวหน้า

**จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่คนลาออกส่วนใหญ่มาจากหัวหน้า

  • หัวหน้าไม่ปลื้ม
  • หัวหน้าลำเอียง
  • หัวหน้าไม่ให้ความสำคัญ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเป็นหัวหน้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะหัวหน้ามือใหม่ที่ยังวางตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ขึ้นมาเป็นสุดยอดหัวหน้าที่ Super Productive

ดังนั้มาดูกันค้าว่าการเป็น "สุดยอดหัวหน้าที่ Super Productive" ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

5 คุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าที่ Super Productive

   (1) สร้างกฎกติกาชัดเจน ตอบทุกความสงสัยของลูกน้องได้

        พื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หัวหน้า’ และ ‘ลูกน้อง’ คือความเชื่อใจ โดยการสร้างความเชื่อใจ ต้องมาจากความหวังดีที่ทั้งสองฝ่ายมีให้แก่กัน ถ้าหัวหน้าปฏิบัติกับลูกน้องอย่างยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกันทุกคน แต่อยู่บนกฎกติกาที่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อไรที่ลูกน้องตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่หัวหน้าปฏิบัติ เช่น ทำไมให้เงินเดือนไม่เท่ากัน ทำไมโบนัสยังไม่ออก ทำไมเพื่อนร่วมงานได้ทำโปรเจกต์ที่น่าสนใจกว่า กฎเหล่านั้นต้องมีคำตอบที่ยุติธรรมให้พวกเขาได้เสมอ

    (2) งานหลักของหัวหน้าคือการอธิบาย

         การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องมีเวลาอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของตัวเขาเอง โดยมีหัวข้อหลัก 2 เรื่อง

  • อธิบายให้เข้าใจว่างานที่มอบหมายนั้นทำไปเพื่ออะไร
  • หัวหน้าคาดหวังอะไรจากเรื่องนี้

    (3) ระวังการเข้าไป Micro Management

         หัวหน้าแทบทุกคนต้องเคยหลุดเข้าไปในการบริหารจัดการในเรื่องยิบย่อย (Micro Management) ซึ่งการบอกละเอียดเกินไปอาจทำให้ลูกน้องอึดอัด ทั้งสองฝ่ายต่างหงุดหงิดใส่กัน เพราะไม่มีใครทำได้ดั่งใจ จนอาจเลยเถิดไปถึงการสั่งให้ลูกน้องทำงานปลอม หรืองานประเภทที่ทำแล้วไม่เกิดคุณค่า เช่น งานมีปัญหา หัวหน้าสั่งทำรีพอร์ต งานสะดุด หัวหน้าออกกฎระเบียบใหม่ แต่สุดท้ายไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

สิ่งที่หัวหน้าต้องบอกลูกน้องคือการบอกเขาว่าต้องทำอะไร (What) เพื่ออะไร (Why) แต่ไม่ควรบอกถึงขั้นว่าต้องทำอย่างไร (How)

เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ลูกน้องควรเรียนรู้ด้วยตัวเอง

แต่อีกด้านหนึ่ง หัวหน้าที่แทบไม่บริหารงาน ไม่เข้าออฟฟิศ ไม่ไกด์ลูกน้อง ก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะบางครั้งลูกน้องก็ต้องพึ่งพาหัวหน้า ดังนั้นการขอฟีดแบ็กความคิดเห็นจากลูกน้องให้มาก จึงเป็นทางพัฒนาตนเองที่ดีของคนเป็นหัวหน้า

     (4) หัวหน้าต้องใจกว้างพอที่จะไม่ตัดสินคนอื่นบนพื้นฐานความเชื่อของตนเอง

           มนุษย์ทุกคนมักมี ‘ความจริง’ ในแบบที่ตัวเองเชื่อ บางคนเชื่อว่าต้องทำงานหนักถึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นถ้าเจอคนที่ดูไม่ค่อยทำงาน ก็อาจตราหน้าตัดสินทันทีว่าคนคนนั้นจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย และหนทางไปสู่ความสำเร็จไม่ได้มีแค่ทางเดียว ดังนั้นการเป็นหัวหน้าจึงต้องใจกว้าง ไม่ตัดสินใจคนอื่น

     (5) ระวัง Set up to fail syndrome

          หัวหน้าบางคนมักแบ่งลูกน้องเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ชอบและกลุ่มที่ไม่ชอบ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไรที่กลุ่มแรกทำงานได้ดีก็จะได้รับคำชื่นชม ในขณะที่ถ้ากลุ่มที่ 2 ทำได้ดีก็คิดว่าเป็นเพราะดวง แต่ถ้าทำผิดก็มักถูกซ้ำเติม รวมถึงหัวหน้าจะเลือกปฏิบัติกับทั้ง 2 กลุ่มต่างกัน จนสุดท้ายทำให้กลุ่มที่ 2 รู้สึกไม่ดี และเกิดความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานได้ ฉะนั้นทางที่ดี หน้าที่ของหัวหน้าไม่ใช่การตัดสินว่าตัวเองจะชอบใคร แต่ควรจะฝึกฝนและดูแลลูกน้องทุกคนให้ทำงานได้ดีที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากจะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีคุณสมบันการเป็น "สุดยอดหัวหน้าที่ Super Productive" แล้ว ยังต้องเรียนรู้วิธีการรับมือลูกน้องในและประเภท เรามาดูกันค่ะว่าลูกน้อง/ทีมงานของเรา มีกี่ประเภท อะไรบ้าง และวิธีการรับมือต้องทำอย่างไร   

วิธีรับมือกับลูกน้องประเภทต่างๆ

  • ลูกน้องขยันแต่ไม่เก่ง ต้องคิดไว้ก่อนว่า ลูกน้องอาจทำอะไรบางอย่างที่ไม่ Productive จากนั้นหัวหน้าควรลงไปช่วยโดยการตั้งคำถามให้เขาเล่าว่ากำลังทำงานอะไรบ้าง อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน จากนั้นจึงค่อยๆ ถามต่อว่า ‘ทำไม’ ในแต่ละสิ่งที่เขาเล่า เพื่อให้เขาได้ลองคิดหาคำตอบในการแก้ปัญหางานที่ยังติดขัดหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถ
  • ลูกน้องขี้เกียจแต่เก่ง สำหรับคนประเภทนี้ เขาอาจทำงานได้ดีก็จริง แต่ถ้าเมื่อไรที่เริ่มมีบางเรื่องไปกระทบจิตใจเพื่อนร่วมงานคนอื่น เช่น ทำไมคนนี้มาสายได้ ทำไมคนนี้ไม่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย หัวหน้าควรเรียกคุยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี และขอความร่วมมือให้อยู่ในกฎเกณฑ์บ้าง เพื่อให้เขาเข้าใจและทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น
  • ลูกน้องขี้ประจบ ความอันตรายของลูกน้องประเภทนี้คือทุกคนรอบตัวมักดูออกว่าใครกำลังประจบ ยกเว้นคนเป็นหัวหน้า ลองขอฟีดแบ็กจากลูกน้องในทีมให้มาก อาจเห็นปัญหาที่ไม่เคยรู้มาก่อนและระวังตัวได้ดีมากขึ้น
  • ลูกน้องที่เต็มไปด้วยปัญหาส่วนตัวจนกระทบงาน บางครั้งหัวหน้าอาจต้องเข้าไปดูแลสภาพจิตใจของลูกน้องแม้เป็นเรื่องส่วนตัว พร้อมใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการให้คำแนะนำ หรือคำพูดที่ทำให้เขาช่วยคิดได้ และควรตักเตือนเมื่อปัญหาส่วนตัวของเขาเริ่มไปกระทบคนอื่นในทีมอีกด้วย
  • ลูกน้องอายุมากกว่า หัวหน้าต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำ ไม่ใช่แค่ ‘คำพูด’ หรือ ‘ตำแหน่ง’ โดยหาให้เจอว่าคุณสมบัติของหัวหน้าแบบไหนที่เขาต้องการ และพยายามปฏิบัติตนให้ตรงตามสิ่งนั้น
  • ลูกน้องที่มีปัญหาการเมืองในออฟฟิศ การเมืองในออฟฟิศต้องเริ่มแก้ปัญหาจากหัวหน้าระดับสูง เพราะหลายครั้งปัญหาเริ่มต้นที่คนใหญ่คนโต ดังนั้นถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ร่วมมือ การแก้ปัญหาให้หมดไปจึงเป็นเรื่องที่ทำได้จริงยากมาก แต่หากเริ่มแก้ได้แล้ว จุดสำคัญคือการทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน รวมใจทำงานเพื่อสิ่งนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง
  • ลูกน้องหมดไฟในการทำงาน ลูกน้องบางคนเก่งเกินไป หัวหน้ามอบหมายงานอะไรก็สามารถทำสำเร็จลุล่วง ผลที่ตามมา ลูกน้องคนนี้ไม่มีเวลาพัก งานหนัก พอมีโอกาสหลีกหนีความวุ่นวาย เขาจึงเลือกลาออกไปอย่างไม่ต้องเสียดายอะไร เรื่องนี้ควรแก้ที่หัวหน้า กลับกันยังมีสาเหตุอื่นๆ ทางกายภาพที่สะสมและทำให้คนทำงานรู้สึกยิ่งทำงานยิ่งเหนื่อยไปโดยไม่รู้ตัว เช่น นอนน้อย กินอาหารไม่ดี ไม่ดูแลสุขภาพ ฉะนั้นคนทำงานควรบาลานซ์ตัวเองให้ได้ ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
  • ลูกน้องไม่มีแพสชันในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สำหรับลูกน้องที่ทำงานมาถึงทางตัน หมดแพสชัน บางครั้งถ้ามันตันแล้วจริงๆ ก็อาจต้องเสนอทางเลือกให้เขาได้โยกย้ายไปทดลองทำสิ่งใหม่ๆ แต่สำหรับบางคน หัวหน้าอาจต้องเข้าไปช่วยสร้างความหมายใหม่ให้งานเดิม เพิ่มคุณค่าในจุดที่อาจมองไม่เห็น

 

ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะ "หัวหน้า" หรือ "ลูกน้อง" สิ่งที่ท่านจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ คือ

"หนึ่งในคนที่เราต้องเป็นหัวหน้าให้ได้คือตัวเอง เพราะไม่ว่าจะตำแหน่งสูงเท่าไร

แต่ถ้ายังนำตัวเองไม่ได้ ความล้มเหลวจะมาถึงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าคุณนำตัวเองได้ การนำคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก"

 

ที่มา : https://thestandard.co/podcast/superproductive10/

Credits

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

The Guest ภูมิชาย บุญสินสุข


เขียนโดย : อัญชลี  งอยผาลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : anchalee.anchalee@gmail.com

เป็นบทความที่ดี เราจะได้มองย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่า เราเป็นหัวหน้าแบบไหน  ขอบคุณที่เอามาแชร์กันจ้า 

เขียนโดย นางพงศ์ภรณ์  วิลเฮลมี

เป็นเรื่องที่สะท้อนในการทำงานได้จริงค่ะพี่ แล้วหนูนับถือในการแบ่งประเภทของลูกน้องในเรื่องนี้ค่ะพี่ ทั้งขำทั้งเห็นด้วยค่ะ 5555

 

 

 

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล